เส้นทางการตลาดโทรศัพท์มือถือ


บทความไอที
เส้นทางการตลาดโทรศัพท์มือถือ


ในรอบปีที่ผ่านมา พ.ศ. 2544 เป็นปีทองของผู้ประกอบการธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ที่มียอดขายรวมกันทั้งประเทศ เกินกว่า 7 ล้านเครื่อง และเติบโตเพิ่มจากปีพ.ศ. 2543 ประมาณหนึ่งเท่าตัว หรือ 100 เปอร์เซ็นต์ ในปี พ.ศ. 2545 คาดว่าการเติบโตจะลดลงมาเหลือประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์

รวมทั้งคาดว่าจะมีการซื้อขายโทรศัพท์มือถือ ประมาณ 11.50 ล้านเครื่อง อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2545 จะเป็นปีที่มีการแข่งขันที่ดุเดือดมากกว่าในปีที่ผ่านมา เนื่องจากจะมีผู้ประกอบการายใหม่เข้ามาร่วมวงอีกสองราย รายแรกคือ ทีเอออเร้นจ์ หรือ ซีพีออเร้นจ์ และอีกรายเป็นเพียงการรวมแทนรายเดิมที่เปลี่ยนแปลงไป คือ ระบบ ซีดีเอ็มเอ (CDMA) ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย

ถ้าจะวิเคราะห์กันลงไปลึกๆ แล้ว จะพบว่า การเติบโตของโทรศัพท์มือถือมาจากการเติบโต ของระบบจ่ายล่วงหน้า (prepaid) ที่ในปีพ.ศ. 2544 มีจำนวนเครื่องที่จำหน่ายไปทั้งหมด ระบบในประเทศไทย ประมาณสองล้านเครื่องจากที่มีผู้ใช้ในปี พ.ศ. 2544 เพียงห้าแสนเครื่อง การเติบโตจะสูงถึงสี่เท่า และคาดว่าในปีพ.ศ. 2545 จะมีผู้ใช้ระบบจ่ายล่วงหน้าประมาณเกือบห้าล้านเครื่อง การเติบโตจะสูงกว่าเท่าตัว

ดังนั้น การเติบโตของระบบจดทะเบียน จะมีดังนี้ ในปีพ.ศ. 2544 มีการเติบโตประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนผู้จดทะเบียนในปี พ.ศ 2543 ประมาณ 3.1 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 5.3 ล้านเครื่องในปี พ.ศ. 2544 คาดว่า การเติบโตของโทรศัพท์มือถือในระบบจดทะเบียนจะลดลง เหลือประมาณร้อยละ 25 ถึง ร้อยละ 30

เส้นทาง หรือทิศทางการตลาดโทรศัพท์มือถือ จะไปในเส้นทางของระบบจ่ายล่วงหน้าเส้นทางดังกล่าว เกิดจากความต้องการของผู้บริโภค หรือพลังความต้องการของผู้บรโภค ที่เป็นผู้กำหนดทิศทาง ไม่ได้เกิดจาก พลังขับดันทางการตลาดของผู้ประกอบการเนื่องจาก ระบบจ่ายล่วงหน้ามีทั้งผลได้ ผลเสียต่อผู้ประกอบการ

พฤติกรรมผู้บริโภค คือผู้กำหนดทิศทางการประกอบธุรกิจบริหารโทรศัพท์มือถือ คำถาม "ทำไมผู้บริโภคจึงนิยมใช้ระบบจ่ายล่วงหน้า" คำตอบมีดังนี้

1. ไม่ต้องจดทะเบียนให้ยุ่งยาก

2. ไม่ต้องกังวลในการชำระรายเดือนที่ค่อนข้างยุ่งยาก ไม่สะดวก

3. ผู้ประกอบการให้ความสะดวกในการเติมเงินให้มากยิ่งขึ้น เช่น สามารถเติมเงินผ่านตู้เอทีเอ็มได้

4. สามารถจำกัด หรือ ควบคุมการใช้ให้อยู่ในงบประมาณได้

5. การควบคุมค่าใช้จ่ายได้ ทำให้พ่อแม่ซื้อให้ลูกในวัยรุ่น วัยเรียนไว้ใช้ในการติดต่อสื่อสารกันได้

6. เป็นการเริ่มต้นของผู้บริโภคที่ยังไม่เคยใช้โทรศัพท์มือถือมาก่อน

การที่ผู้บริโภคนิยมใช้ระบบจ่ายล่วงหน้า ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการดังนี้คือ

1. เป็นการเฉลี่ยต้นทุนตายตัว ทำให้เกิด economy of scale จากการลงทุนในเครือข่าย

2. เพิ่มเงินสดหมุนเวียน เพราะได้เงินสดเข้ามาก่อนให้บริการ

3. ลดค่าใช้จ่ายในการรับชำระค่าบริการ และการติดตามหนี้เสีย

4. ลดปัญหาข้อโต้แย้งกับลูกค้า เกี่ยวกับค่าบริการ

อย่างไรก็ตาม ระบบโทรศัพท์มือถือแบบจ่ายล่วงหน้า มีข้อเสียอยู่หลายประการ สำหรับผู้ประกอบการ คือ

1. การประเมินรายได้จะยากกว่า ระบบจดทะเบียนที่มีฐานลูกค้าแน่นอน ที่ต้องจ่ายค่าบำรุงรายเดือน เนื่องจากผู้ใช้ระบบจ่ายล่วงหน้าอาจหยุดใช้บริการชั่วคราว หรือถาวร เมื่อไรก็ได้ และจะกลับมาใช้อีกเมื่อไรก็ได้

2. การส่งเสริมการขายจะทำยาก เนื่องจากไม่รู้จักเจ้าของมือถือ เนื่องจากไม่มีการจดทะเบียน หรือมีการซื้อไปเพื่อให้ผู้อื่นใช้

3. การร่วมตรวจสอบของทางราชการจะทำได้ยาก ถ้าหากผู้ซื้อนำไปใช้ในทางที่ผิด

4. การนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือบริการใหม่ๆ ผู้ให้บริการไม่แน่ใจผู้ใช้ระบบจ่ายล่วงหน้าจะนิยมใช้เทคโนโลยีหรือบริการใหม่นั้นๆ หรือไม่ ทำให้เกิดความไม่แน่นอน และเพิ่มความเสี่ยงในการลงทุน

ในปี พ.ศ. 2545 จะยังคงเป็นปีทองของผู้ประกอบการทั้งที่มีอยู่เดิม และที่จะเข้ามาใหม่ อย่างไรก็ตาม "พลังผู้บริโภค" เป็นพลังขับดันธุรกิจตลอดจนเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ที่ผู้ประกอบการจะต้องศึกษาทำความรู้จักและเข้าใจอย่างต่อเนื่อง


10 ก.พ. 2545
แหล่งที่มาของข่าว : กรุงเทพไอที

เข้าถึงได้จาก : http://www.thaitelecom.com/News/Techfocus/Techfocus-Generate.pl?2545/02/10-07-47-0005


โดย : นางสาว Laddaporn ngamthura, klonglong, วันที่ 4 มีนาคม 2545