การใช้ปุ๋ยทางใบ

ปุ๋ย หมายถึง วัสดุ หรือสารที่ใส่ลงไปในดินเพื่อเพิ่มธาตุอาหารให้แก่พืชเป็นส่วนใหญ่ ส่วนปุ๋ยทางใบได้เริ่มมีการพัฒนาสู่เกษตรกรมาเรื่อยๆ ปัจจุบันการใช้ปุ๋ยทางใบแพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะการปลูกผักและผลไม้ ความจำเป็นต่อการใช้ปุ๋ยทางใบนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้เป็นครั้งคราว เป็นการเสริมการใช้ปุ๋ยทางดิน
หลักเกณฑ์การพิจารณา ในการใช้ปุ๋ยทางใบ
1. เมื่อสภาพดินมีปัญหา เช่น ดินเป็นกรดจัดมีความเป็นด่างสูง ดินมีสภาพของน้ำเค็มที่ท่วมมาถึงในบางเวลา เมื่อใช้ปุ๋ยทางดินเกิดปัญหาการตรึงธาตุอาหาร ทำให้ได้ประโยชน์จากปุ๋ยไม่เต็มที่
2. การใช้ปุ๋ยทางดิน มักมีผลต่อการตกค้างทำให้เสียโอกาสบางอย่างไป เช่น ในระยะการออกดอกให้ผล หากมีปุ๋ยไนโตรเจนตกค้างสูงพืชจะแตกใบอ่อนแทน
3. บางช่วงพืชอยู่ในวิกฤตขาดธาตุอาหาร พืชแสดงอาการขาดให้เห็น การฉีดพ่นปุ๋ยทางใบจะช่วยแก้ไขอาการขาดของธาตุอาหารได้
4. ในบางกรณีเมื่อระบบรากพืชถูกทำลาย อาจเนื่องจากโรคแมลง ไส้เดือนฝอย หรือความชื้นในดิน ทำให้การใช้ประโยชน์จากธาตุอาหารพืชในดินมีข้อจำกัด
5. ธาตุอาหารเสริม หรือจุลธาตุนั้น โดยส่วนใหญ่แล้ว หากใส่ทางดินจะมีประสิทธิภาพต่ำกว่าการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบและพืชต้องการธาตุอาหารดังกล่าวในปริมาณไม่มาก จึงนิยมพ่นทางใบ
6. พืชบางชนิดตอบสนองกับปุ๋ยทางใบไม่เท่าเทียมกัน พืชใบเลี้ยงคู่ หรือพืชใบกว้างจะดูดปุ๋ยเข้าทางใบได้ดีกว่า และมากกว่าพืชใบเลี้ยงเดียวหรือใบแคบ เพราะมีพื้นที่ใบมากกว่า
ข้อควรปฏิบัติในการใช้ปุ๋ยทางใบ
1. การใช้ปุ๋ยทางใบต้องฉีดพ่นบ่อย ยิ่งละเอียดมากเท่าใด จะมีโอกาสเข้าสู่ต้นพืชได้ดีมากขึ้นควรผสมสารเสริมประสิทธิภาพ หรือสารเปียกใบ สารจับใบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูดเกาะปุ๋ยที่ใบพืชมากยิ่งขึ้น
2. น้ำที่นำมาใช้เป็นตัวละลายปุ๋ย ต้องสะอาดพอควรไม่ควรมีตะกอน สภาพน้ำเป็นกลางหรือกรดอ่อน และต้องเป็นปุ๋ยละลายน้ำได้ดี
3. อัตราส่วนในการผสมของปริมาณปุ๋ยและน้ำต้องไม่เข้มข้นจนเกินไป อาจจำเป็นต้องทดลองหาอัตราความเข็มข้นที่พอเหมาะในแต่ละพืชและหากอากาศร้อน หรือฤดูแล้งควรใช้ปุ๋ยในอัตราต่ำกว่าปกติ
4. เวลาการฉีดพ่นควรฉีดพ่นในเวลาเย็น เนื่องจากฉีดพ่นในเวลาเช้า แสงแดดจะทำให้น้ำหรือสารละลายระเหยเร็วกว่าปกติ
รูปของปุ๋ยทางใบแบ่งออกได้ 2 กลุ่ม คือ
1. ปุ๋ยเกล็ด เป็นเกล็ดของแข็งที่ละลายน้ำได้ง่าย
2. ปุ๋ยน้ำ เป็นสารละลายของปุ๋ยที่เข้มข้น

นารี สุทธปรีดา. การใช้ปุ๋ยทางใบ. สกายไลน์ ยูนิตี้ จำกัด. 29 ( ตุลาคม 2541 ) : 40-41.



โดย : นาง กุหลาบ กล่อมศรี, klongkuang, วันที่ 1 มีนาคม 2545