เทคโนโลยีการเกษตร

สถานภาพการเป็นเทคโนโลยีการเกษตรของควายจะเห็นได้ว่าจากการใช้พลังงานที่เรียกว่า "แรงควาย" ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับงานเกษตรกรรมด้านการทำนามากกว่าทำไร่ เพราะควายชอบน้ำมากกว่าชอบแดด และถนัดงานลุ่มมากกว่างานดอน ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีควายจึงเหมาะกับการทำนาปลูกข้าวในด้านของเทคนิคการไถ การคราด และการนวดข้าว เป็นต้น นอกจากการเป็นเทคโนโลยีในด้านพลังการผลิตดังกล่าว มูลควาย หรือ "ขี้ควาย" ยังเป็นเทคโนโลยีในด้านปุ๋ย การใช้ปุ๋ยขี้ควายนอกจากจะไม่เกิดอันตรายกับสภาพแวดล้อมในเรื่องของดินน้ำและคนแล้ว ยังช่วยให้เกิดสภาวะความสมดุลของธรรมชาติอีกด้วย
สำหรับบทบาทหน้าที่ในด้านการเป็นพาหนะใช้เดินทางและขนส่งนั้น ควาย คือ พาหนะชั้นยอดเยี่ยมที่ไม่อาจจะหาพาหนะใด ๆ มาเปรียบเทียบได้ แม้แต่ยานพาหนะสมัยใหม่ที่ใช้จักรกลก็ยังไม่มีสิ่งประดิษฐ์คิดค้นของตัวยานพาหนะใด ที่สามารถใช้งานได้อย่างรอบด้านทัดเทียมกับควาย ทั้งนี้เพราะควายเป็นสัตว์สะเทินน้ำ-สะเทินบก สามารถเดินทางข้ามห้วย ลำคลองและแม่น้ำได้โดยไม่ต้องใช้เรือบรรทุก
การรู้ธรรมชาติของสัตว์และเข้าใจในบทบาทหน้าที่ดังกล่าว ทำให้ตระหนักได้ว่า ควาย ไม่ใช่สัตว์ธรรมดาเหมือนกับสัตว์เลี้ยงทั่วไป หากมองในมิติของการรับใช้มนุษย์มาตลอดยุคสมัยของสังคมเกษตรกรรมยั่งยืน ทั้งกรณีการเป็นเทคโนโลยีที่ผลิตข้าวเลี้ยงคน และกรณีเป็นพาหนะทุกรูปแบบ ควายก็คือ "สัตว์พระคุณในประวัติศาสตร์" ที่คนเราควรสำนึกและให้เกียรติไม่ควรหยามเหยียดในกรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
หากมองในมิติของประวัติศาสตร์สังคมที่แบ่งออกเป็น 3 ยุค ดังกล่าว ควายก็คือ "สัตว์ผู้นำพาการพัฒนาสังคม" ฉุดลากสังคมให้หลุดพ้นจากยุควิถีล่าสัตว์-เก็บของป่าในยุคต้นแล้วนำพาเข้าสู่สังคมเกษตรกรรมแบบยั่งยืนในยุคกลาง และกำลังผ่านเข้าสู่ยุคพาณิชย์อุตสาหกรรมในวิถีแปลกแยกของสมัยปัจจุบันที่คนกับควายเริ่มไม่รู้จักกัน เหินห่างกันและไม่เข้าใจกัน ทั้งนี้เพราะควายเริ่มหมดบทบาทหน้าที่ กำลังถูกเทคโนโลยีจักรกลสมัยใหม่เข้ามาแทนที่ ทั้งในกรณีเทคโนโลยีด้านการเกษตรและเทคโนโลยีด้านการเดินทางขนส่งที่ควายเคยทำหน้าที่เหล่านี้มาเป็นเวลาพัน ๆ ปี

แหล่งที่มา :เทคโนโลยีการเกษตร.2545. [ออนไลน์].เข้าถึงได้จากhttp://www.thaitopic.com/swebboard/00049.html



โดย : นางสาว kloyjai chompraklap, student 4/3klongluang patumtani 1318, วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2545