กินยาก่อนหลังอาหารนั้นสำคัญไฉน

การที่จะทราบว่าการกินยาก่อนอาหาร หรือหลังอาหารสำคัญอย่างไรนั้นเราต้องทราบก่อนว่าขั้นตอนที่ยาจะไปออกฤทธิ์นั้นเป็นอย่างไร เวลาเรากินยาเข้าไป ถ้าเป็นยาเม็ดหรือแคปซูล ยานั้นจะแตกออกเป็นส่วนเล็ก ๆ ก่อน แล้วละลายในน้ำ ซึ่งอยู่ในกระเพาะและทางเดินอาหาร หลังจากนั้นก็จะถูกดูดซึมเข้าผนังทางเดินอาหาร เข้าสู่กระแสเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายต่อไป แต่ถ้าเป็นยาน้ำขบวนการนี้ก็จะเร็วขึ้น
ยาจะออกฤทธิ์เมื่อได้เข้าไปอยู่ในกระแสเลือดแล้ว และต้องมีปริมาณสูงพอด้วย อาหารบางอย่างมีผลต่อการดูดซึมของยา ยาบางตัวก็มีผลต่อกระเพาะอาหาร เช่น ทำให้เกิดการระคายเคือง ดังนั้น การกินยาก่อนหรือหลังอาหาร จึงมีความสำคัญขึ้นกับว่าต้องการผลการของยาในแง่ใด ปกติเมื่อกระเพาะมีอาหารอยู่เต็ม ยาจะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้น้อยกว่า และใช้เวลามากกว่าเมื่อกระเพาะว่าง
จากที่กล่าวมาแล้ว ถ้าเรากินยาก่อนอาหารทันที, หลังอาหารทันที หรือกินยาพร้อมอาหาร จะมีความหมายแทบจะไม่แตกต่างกัน ซึ่งถือว่ากินยาในห้วงเวลาที่กระเพาะอาหารไม่ว่างเหมือนกัน ดังนั้นเราจะกำหนดเวลาไปด้วยว่ากินก่อนอาหารหรือหลังอาหารนานเท่าใด จึงจะได้ผลตามที่ต้องการ จะขอแบ่งวิธีการกินยา ประกอบเหตุผล พอเป็นสังเขปดังนี้ กินก่อนอาหาร 1 ชั่วโมงเพราะเราต้องการให้ได้รับยาขณะที่ท้องว่าง เพื่อให้ยาดูดซึมได้ดีที่สุด ยาพวกที่ต้องกินแบบนี้ได้แก่ เพนนิซิลลิน, แอมพิซิลิน, ไรแฟมพิซิล เป็นต้น บางทีเราก็ต้องการให้ยาออกฤทธิ์ก่อนอาหารตกถึงกระเพาะ (จะกินก่อนอาหารนานเท่าใดขึ้นกับเวลาตั้งแต่เริ่มกินจนถึงเวลาที่ยาออกฤทธิ์ ซึ่งยาแต่ละตัวจะแตกต่างกันบ้าง) เช่น ยาที่ลดการเกร็ง หรือบีบตัวของกระเพาะและทางเดินอาหารคนที่เป็นโรคกระเพาะนั้นมักจะปวดท้อง เมื่ออาหารตกไปถึงกระเพาะ เพราะอาหารเป็นตัวกระตุ้นให้กระเพาะลำไส้บีบตัวมากขึ้น จึงต้องให้ยาออกฤทธิ์ ลดการบีบตัวของกระเพาะลำไส้ โดยกินยาก่อนอาหารประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อให้ยาออกฤทธิ์พอดีเวลาอาหาร ซึ่งจะบรรเทาอาการปวดท้องได้ ยังมียาที่กระตุ้นให้เกิดการอยากอาหาร ก็ต้องกินก่อนอาหารประมาณ 1/2 ชั่วโมง พอยาออกฤทธิ์ จะกินอาหารได้มากขึ้น กินหลังอาหารทันที = กินก่อนอาหารทันที = กินพร้อมอาหาร ยาบางตัวหากกินตอนท้องว่างจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารมาก ทำให้คลื่นไส้อาเจียน แต่ถ้ากินพร้อมอาหารจะช่วยลดการระคายเคืองได้ ยาพวกนี้ได้แก่ ยาแก้ปวดชนิดต่าง ๆ เช่น แอสไพริน, ยาแก้ปวดข้อ เช่น เพนนิลบิวทาโซน, ไอบูโปรเฟน, อินโดเมดทาซิน เป็นต้น นอกจากกินพร้อมอาหารแล้วยาที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น แอสไพริน การกินน้ำตามมาก ๆ เพื่อไปเจือจาง หรือลดความเป็นกรดให้น้อยลง ก็ช่วยลดการระคายเคืองได้ กินยาหลังอาหาร 1 ชั่วโมง ยาบางชนิดจะออกฤทธิ์นาน เมื่อกินหลังอาหาร เช่น ยาลดกรดซึ่งมีผู้ทดลองได้ผลว่า ถ้าให้ยาในขณะที่ท้องว่าง ยาจะออกฤทธิ์นานประมาณ 30 นาที แต่ถ้าให้ยาหลังอาหาร 1 ชั่วโมง ยาจะออกฤทธิ์นาน 4 ชั่วโมง ดังนั้นจึงกำหนดให้กินหลังอาหาร 1 ชั่วโมงไหน ๆ ก็พูดถึงยาก่อนอาหาร, หลังอาหาร, พร้อมอาหารมาแล้ว ขอพูดถึงยากินก่อนนอนสักเล็กน้อย ยาบางชนิดกินแล้วทำให้ง่วงมึนงง เช่น ยาคลายกังวล, ยาแก้แพ้ซึ่งเป็นส่วนผสมของยาแก้หวัด ลดน้ำมูก จึงควรกินก่อนนอน ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ปลอดภัยในขณะทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร หรือขับรถในเวลากลางวันแล้ว ยังทำให้หลับได้อย่างสบายในเวลากลางคืนอีกด้วยจึงขอสรุปได้ว่า จะกินยาก่อนอาหาร หรือหลังอาหารขึ้นกับวัตถุประสงค์ในการให้ยานั้น ๆ ออกฤทธิ์ให้ได้ผลมากที่สุด มีผลข้างเคียงน้อยที่สุด ส่วนจะก่อน - หลังนานเท่าใดนั้น ขึ้นกับเวลาตั้งแต่เริ่มกินยาจนถึงเวลาที่ยาถูกดูดซึมเข้าผนังทางเดินอาหารหมด หรืออาจเลยไปถึงเวลาที่ยาออกฤทธิ์แล้วแต่ว่าเราต้องการผลอันไหน คงจะเห็นแล้วว่า เวลากินยาก่อนหรือหลังอาหารมีความสำคัญเพียงใด ดังนั้นเพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด ผู้ป่วยควรกินยาตามเวลาที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ผลดีก็จะตกอยู่กับตัวของผู้ป่วยเอง

กินยาก่อนหลังอาหารนั้นสำคัญไฉน.2545.[Online]. เข้าถึงได้จาก
http://www.ku.ac.th/~muntana/saranaroo/chap3a.htm



โดย : นางสาว vassana pramprasong, ripw คลองหลวง ปทุมธานี 13180, วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2545