สิ่งแปลกปลอมในอาหาร

สิ่งแปลกปลอมที่มีผลต่ออาหาร และความปลอดภัยของผู้บริโภคทางอ้อม สามารถจะปนเปื้อนอาหารในช่วงต่าง ๆ ของกระบวนการผลิต ตั้งแต่ช่วงวัตถุดิบ การแปรรูป การบรรจุ การขนส่ง การเก็บรักษา ตลอดจนในขณะจัดจำหน่าย โดยสิ่งปนเปื้อนจะทำให้ภาพลักษณ์ของอาหารดูไม่ดี น่ารังเกียจ บางชนิดจะเป็นตัวนำเชื้อโรคที่เป็นอันตรายเข้าสู่ร่างกายของคนเรา เช่น พวกหนูและแมลงบางพวก และบางชนิดก็อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้โดยตรง สิ่งแปลกปลอมในกลุ่มนี้ก็ได้แก่
ตัวแมลงและชิ้นส่วนของแมลง จัดเป็นสิ่งแปลกปลอมในอาหารที่พบมากที่สุด เนื่องจากโรงงานผลิตอาหารและบริเวณรอบ ๆ มักจะมีแหล่งอาหารของแมลงมาก ทำให้เป็นที่สนใจของแมลงชนิดต่าง ๆ ที่สำคัญก็พวกมด แมลงวัน แมลงหวี่ แมลงสาบ และยุง ส่วนใหญ่จะพบในรูปชิ้นส่วนของแมลง ซึ่งนอกจากจะทำให้อาหารบางชนิดดูไม่ดีแล้วยังนำเชื้อโรคได้ด้วย
เส้นขนและสิ่งขับถ่ายจากสัตว์ต่าง ๆ ที่เป็นปัญหามากก็ได้แก่ เส้นขน และสิ่งขับถ่ายของพวกหนู นก จิ้งจก แมว และสุนัข ซึ่งอาจจะปนเปื้อนมากับวัตถุดิบก่อนเข้าโรงงาน หรือปนเปื้อนขณะทำการผลิตก็ได้ ซึ่งโดยมากมักเกิดจากโรงงานที่มีสภาพแวดล้อมไม่ดี รกรุงรัง ตัวอาคารเก่า ประตูปิดไม่มิดชิด ท่อน้ำทิ้งชำรุด การทำความสะอาดเครื่องมือ อุปกรณ์ ภาชนะหลังเลิกงานไม่ดีพอ ทำให้มีเศษอาหารที่จะชักจูงให้หนูเข้าไปในตัวอาคารผลิต
เส้นขนและผมของคนงานรวมทั้งผู้ที่สัมผัสกับอาหาร มักเกิดจากการรักษาความสะอาดที่ไม่ดีพอ หรือไม่ใช้อุปกรณ์ป้องกัน เช่น หมวกคลุมผม ถุงมือ ผ้าปิดปาก และจมูก ทำให้มีการหลุดร่วงของเส้นขน และผมลงในอาหาร
เศษสิ่งปนเปื้อนที่ติดมากับวัตถุดิบ อาจเป็นพวกเศษดิน หิน ทราย เศษไม้ หญ้า ฟาง เมล็ดพืชอื่น เนื่องจากระบบการทำความสะอาดเครื่องจักรบกพร่อง หรือชิ้นส่วนเครื่องมืออุปกรณ์ชำรุดแตกหลุดปนลงในอาหาร หรือใช้ภาชนะบรรจุที่ทำด้วยไม้หรือพลาสติกที่หมดอายุ หรือภาชนะโลหะที่เป็นสนิม ก็จะมีสิ่งปนเปื้อนหลุดปนลงในอาหารได้
สิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ นอกจากจะทำให้ผู้คนที่พบเห็นมีความรู้สึกที่ไม่ดีแล้ว ยังสามารถบ่งบอกถึงมาตรฐานและสุขลักษณะของกระบวนการผลิตของโรงงานนั้น ๆ ทำให้ผู้ซื้อขาดความเชื่อมั่นในคุณภาพของอาหาร


ที่มา : ชมรมเทคโนโลยีทางอาหารและชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หนังสือพิมพ์เดลินิวส์, วันที่ 20 มกราคม 2542, หน้า 10



โดย : นางสาว ปวีณา มีธง, -, วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2545