โรคหวัด
โรคหวัดเป็นโรคที่พบบ่อยมากที่สุดโรค โรคหวัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งมีหลายชนิดเชื้อไวรัสหวัดจะอยู่ในน้ำมูกและน้ำลายของผู้ป่วยและจะแพร่กระจายออกมาล่องลอยอยู่ในอากาศเมื่อผู้ป่วยไอหรือจามเมื่อเราหายใจเข้าไปเชื้อหวัดก็จะไปจับกับเยื่อบุทางเดินหายใจส่วนต้นซึ่งได้แก่เยื่อบุโพรงจมูกเพดานอ่อน และคอหอย
ตามปกติร่างกายจะมีแนวป้องกันคือสารภูมิคุ้มกันซึ่งอยู่ในน้ำคัดหลั่งที่เคลือบผิวเยื่อบุทางเดินหายใจเหล่านี้ ถ้าร่างกายจะสามารถต้านทานการรุกรานของเชื้อไวรัสหวัดได้ แต่ถ้าร่างกายไม่ค่อยแข็งแรงเช่น อดนอน ขาดอาหาร สูบบุหรี่จัด ถูกฝน อากาศเย็น ร่างกายจะไม่สามารถต่อต้านเชื้อหวัดได้ เชื้อจะรุกรานแทรกซึมเข้ามาในเนื้อเยื่อทำให้เกิดอาการของโรคหวัดขึ้น
ในช่วงแรกๆที่เป็นไข้หวัดธรรมดานั้นมักมีอาการ มีไข้ ปวดศีษระ ครั่นเนื้อครั่นตัว มีน้ำมูกใสๆ หรืออาจจะมีลักษณะเหนียวใสไม่มีสีก็ได้ ในระยะหลังๆอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ทำให้เห็นน้ำมุกขุ่นเป็นสีเหลืองหรือเขียวได้ ในรายที่เป็นมากหรือเป็นอยู่นานโดยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องโรคอาจลุกลามลงไปถึงกล่องเสียงทำให้เสียงแหบ ลงไปถึงปอดทำให้ปอดอักเสบมีอาการไอและหอบเหนื่อย หรือโรคอาจลามไปที่หูชั้นกลางทำให้ปวดหูและกลายเป็นหูน้ำหนวก และโรคอาจลุกลามเข้าไปในโพรงอากาศรอบๆจมูกเกิดโรคไซนัสอักเสบทำให้ปวดเรื้อรัง พูดเสียงอู้อี้ ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น และมีน้ำมูกไหลลงคออยู่เรื่อยๆ
โรคหวัดธรรมดาที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนและเกิดในคนที่มีสุขภาพดีมาก่อน จะหายเองได้ในเวลา 1-2 สัปดาห์ แต่การใช้ยาจะทำให้บรรเทาอาการไม่สบายตัวต่างๆและช่วยให้หายเร็วขึ้น โดยเฉพาะการใช้ยาตั้งแต่เนิ่นๆเมื่อเริ่มเป็นหวัด การรักษาโรคหวัดแต่เนิ่นๆ ในผู้ป่วยที่มีอาการไข้ปวดศีรษะ และมีน้ำมูกใสๆ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาบรรเทาหวัดที่มีส่วนผสมของพีพีเอ(ฟีนิลโพรพาโนลามีน)หรือยาแก้คัดจมูกอื่นๆการใช้ยาลดไข้และยาแก้หวัดธรรดาๆเช่นพาราเซตามอล 500 มิลลิกรัมและคลอเฟนนิรามีน 2 มิลลิกรัม ครั้งละ 1-2 เม็ดวันละ 3 ครั้ง ก็เพียงพอ
ปัจจุบันมียาแก้หวัดที่รวม 2 ตัวยาในหนึ่งเม็ด โดยปราศจากสารพีพีเอ ซึ่งสามารถใช้รักษาหวัดได้อย่างปลอดภัยแล้วยังเพิ่มความสะดวกให้แก่คนไข้อีกด้วย ในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนเช่นน้ำมูกขุ่นเป็นสีเขียวหรือสีเหลือง ไอมาก หอมเหนื่อย มีไข้สูง หรือรักษาเองเกิน 3 วันแล้วยังไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์
ข้อควรปฏิบัติที่จะช่วยให้หายจากโรคหวัดได้เร็วขึ้น
-ดื่มน้ำอุ่นมากๆ
-พักผ่อนให้เพียงพอ
-งดสูบบุหรี่
-หลีกเลี่ยงการถูกฝน
-อาบน้ำอุ่นในวันที่อากาศเย็น
-นอนห่มผ้า ไม่นอนตากลมหรือเปิดแอร์เย็นเกินไป
ข้อปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยในการป้องกันการแพร่เชื้อ
-ใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากปิดจมูกเวลาไอหรือจามทุกครั้ง
-ล้างมือเมื่อเปื้อนน้ำมูกหรือน้ำลาย
-อยู่ในห้องที่อากาศถ่ายเทได้ดี
-หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ที่ร่างกายอ่อนแอเช่นเด็ก คนแก่หรือคนที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง
|