ทิศทางไอที 2548 จากหลากหลายมุม

           

                     ทิศทางไอที 2548 จากหลากหลายมุม

       ขึ้นปี 2548 วงการไอซีทีเมืองไทยก็เริ่มมีอะไรให้คนไอทีและประชาชนทั่วไปได้สนใจ และเริ่มจับตามองกันไปบ้างแล้ว อาทิ งานไทยแลนด์ แอนิเมชัน แอนด์ มัลติมีเดีย 2005 การประมูลโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ CDMA และ การเปิดตัวชิปเซ็ตโพรเซสเซอร์ สำหรับโน้ตบุ๊คตัวใหม่ของอินเทล เป็นต้น แต่สิ่งเหล่านี้ยังเป็นเพียงบางส่วนของอีกมากมาย ที่ยังไม่เกิดขึ้นเท่านั้น  ในการสัมมนาและประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2548 ของ ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอทีพีซี) เมื่อเร็วๆนี้ จึงหยิบเอาประเด็น "ทิศทางธุรกิจไอทีปี 2548" มาเป็นเรื่องพูดคุยเพื่อเป็นการโหมโรงให้คนในแวดวงไอที ได้ยืดเส้นยืดสายเพื่อเตรียมรับมือ งานใหญ่ๆ เรื่องร้อนๆ และประเด็นเด็ดๆ ที่จะเกิดขึ้นตลอดปีนี้ นายธวิช จารุวจนะ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เมโทรซิสเต็มส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการธุรกิจไอทีครบวงจร กล่าวถึงความเคลื่อนไหวในกลุ่มผู้ประกอบการด้านไอทีว่า เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว บริษัทฮิวเลตต์ - แพคการ์ด ได้ซื้อกิจการของคอมแพค ส่วน IBM ก็ขายธุรกิจ PC ให้ บริษัทลีโนโว ทำให้ผลประกอบการปี 2547 บริษัทเดลล์ เป็นที่ 1 ของโลก ในการจำหน่ายเครื่องพีซี โดยชิงตำแหน่งจากบริษัทฮิวเลตต์ - แพ็คการ์ด ไปแล้ว ทางด้านซอฟต์แวร์ บริษัทพีเพิลซอฟต์ ไปซื้อ เจดีเน็ตเวิร์ค แล้วบริษัท ออราเคิล ก็ได้ซื้อบริษัทพีเพิลซอฟต์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เมโทรฯ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เป็นเรื่องที่ทั้งผู้ประกอบการด้านไอที และผู้บริโภค จะต้องติดตาม เพราะไม่ทราบว่าเมื่อผู้ประกอบการรายนั้นซื้อไปแล้ว จะนำไปทำอะไรต่อ อาจมีความต้องการอยากให้บริษัทของตนมีขนาดใหญ่ขึ้น หรืออาจไม่อยากเสียเวลาในการพัฒนา เมื่อมีเงินก็สามารถซื้อได้ ทำให้ในอนาคตมีแนวโน้มว่า ในส่วนธุรกิจซอฟต์แวร์ดาต้าเบสจะเหลือเพียง ไมโครซอฟท์ เอสคิวแอล ออราเคิล และดีบีทูของไอบีเอ็ม
นายไตรรัตน์ ใจสำราญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จี เอเบิล จำกัด ผู้ประกอบการด้าน การวางระบบไอที ให้ความเห็นว่า การสลับคู่พาร์ตเนอร์ของผู้ประกอบการ ด้านไอทีจะมีมากขึ้นจนเป็นเรื่องปกติ เช่น เอชพี ไปร่วมกับ ไอบีเอ็ม และ ไอบีเอ็ม ไปร่วมกับ ซัน ด้านเน็ตเวิร์ค Wi-fi Wireless ในพื้นที่แคบๆ จะมี Hotspot มากขึ้น เนื่องจากในมหาวิทยาลัย และร้านกาแฟต่างๆ ยังไม่ห่วงเรื่องความปลอดภัย ส่วนในด้านเน็ตเวิร์กภายในองค์กร เชื่อว่าน่าจะใช้ Voice over IP ในการสื่อสารภายในองค์กรมากขึ้น"สำหรับฮาร์ดแวร์ สถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์แบบ 64 บิต เริ่มออกมามากขึ้น บริษัทอินเทล ต้องตามเทคโนโลยี CPU 64 บิต ที่สามารถรันแอพลิเคชัน 32 บิต และ 64 บิต ไปด้วยกัน ส่วนระบบปฏิบัติการ แม้ไมโครซอฟท์จะพัฒนาให้รองรับ Windows 64 บิตแล้ว แต่คงต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี จึงจะใช้งานแอพลิเคชัน 64 บิต ได้"กรรมการผู้จัดการ บริษัท จี เอเบิล แสดงความเห็นอีกว่า จะมีผู้ใช้โอเพนซอร์สมากขึ้น เช่น ระบบปฏิบัติการ ลีนุกซ์ ในองค์กรขนาดเล็กจะมีการใช้งานแพร่หลายมากขึ้น เพราะทราบแล้วว่าไม่อันตรายอย่างที่คิด ส่วน Server จากจำนวนหลายๆตัว จะรวมเป็นตัวใหญ่ตัวเดียว และ Rack Mouse Blade Server จะมีจำนวนการจำหน่ายมากขึ้นคล้ายกับเครื่องพีซี สำหรับความปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์ นอกจากบนพีซีแล้ว ปัญหาไวรัสที่เกิดกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์พกพาหรือพีดีเอ และโทรศัพท์มือถือจะมีบริษัทต่างๆ ให้ความสนใจมากขึ้น เพราะการแก้ปัญหาต้องใช้ทรัพยากรมาก และสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้ ด้าน ดร.ธัชพล โปษยานนท์ ผู้บริหารเว็บเซอร์วิส บริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเว็บเซอร์วิส ว่า ประเทศไทยน่าจะมีการปฏิวัติซอฟต์แวร์ เพราะมีการพัฒนาช้า และประเทศไทยจะเข้าสู่คลื่นลูกที่ 4 โดยรูปแบบของธุรกิจจะอยู่บนความเสมือน มี Economy of speed ที่มีความรวดเร็วสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยสามารถเชื่อมต่อกับลูกค้าพันธมิตรได้ ส่วนงบประมาณด้านไอทีของไทยจะลดลงเรื่อยๆ ประมาณ 21% ส่วนของทวีปเอเชียลดลง 51% ผู้บริหารเว็บเซอร์วิส บริษัทไมโครซอฟท์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีคนไทยใช้เครื่องพีซีประมาณ 5 ล้านเครื่อง คิดเป็น 7% ประเทศในทวีปยุโรป มีประมาณ 30% และสหรัฐอเมริกามีประมาณ 70% ส่วน การใช้คอมพิวเตอร์ในโรงเรียนของประเทศไทยจาก 38,000 โรงเรียน มีโรงเรียนที่มีเครื่องพีซีแล้ว 8,000 โรงเรียน แต่มีเพียง 3,200 โรงเรียนเท่านั้น ที่มีเครื่องพีซีต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ แต่โทรศัพท์มือถือกลับมีจำนวนผู้ใช้สูงถึง 23 ล้านคน ในภาพรวม การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยค่อนข้างดี แต่การใช้อินเทอร์เน็ตยังน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ  ดร.ธัชพล กล่าวอีกว่า จากการสำรวจผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมดร้อยละ 70 รู้ว่าเว็บเซอร์วิสมีความสำคัญ แต่จากผู้ที่รู้ว่าเว็บเซอร์วิสสำคัญ ยังไม่เข้าใจความหมายที่ถูกต้องของเว็บเซอร์วิสอยู่ 72% จึงต้องมีการทำความเข้าใจในเรื่องเว็บเซอร์วิสกับกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตให้มากขึ้น ว่าเว็บเซอร์วิส คือ การทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีแพลตฟอร์มต่างกัน สามารถคุยกันได้แบบอัตโนมัติ ลักษณะ Machine to Machine บนมาตรฐาน XML ที่เป็นการส่งผ่านข้อมูลแบบอัตโนมัติและเรียลไทม์
นายนาวี ศรีผดุง รองประธานอาวุโส ฝ่ายบิสิเนส โซลูชั่น บริษัทเค เอส ซี คอมเมอร์เชียล อินเทอร์เน็ต จำกัด ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต แสดงความเห็นว่า ขณะนี้ ผู้นำการสื่อสารด้านอินเทอร์เน็ต เป็นประเทศในแถบเอเชีย อาทิ เกาหลีใต้ จีน และญี่ปุ่น เมื่อเทียบในสัดส่วนปริมาณผู้ใช้บรอดแบนด์ในเกาหลีใต้ มีการเติบโตสูงกว่าสวีเดน ส่วนจีนมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่าประเทศสหรัฐอเมริกา นั่นเป็นเพราะปริมาณการดึงข้อมูลออกมากกว่าการนำข้อมูลเข้า อีกทั้ง เกาหลีใต้และญี่ปุ่นเป็นผู้ผลักดันเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตจาก IPV4 ไปสู่ IPV6 เนื่องจากต้องการแก้ปัญหาเรื่อง IP (Internet Protocol) เต็ม รองประธานอาวุโส ฝ่ายบิสิเนส โซลูชั่น บริษัทเค เอส ซี กล่าวต่อว่า ในปี 2548 คาดว่า การใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไร้สาย หรือ ไว-ไฟ และไว-แม็กซ์ เพื่ออำนวยความสะดวก จะเริ่มมีใช้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ระบบสื่อสารหลักจะยังคงใช้สายทองแดงกับเคเบิลใยแก้ว และอีกไม่นานข้อมูลน่าจะวิ่งไปตามสายไฟฟ้าได้ด้วย เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ก็เริ่มทดลองใช้งานแล้ว ส่วน Voice over IP และ VDO over IP จะมีมาตรฐานที่ดีขึ้นและใช้กันมากขึ้น นอกจากนี้ อุปกรณ์ไอที และเครื่องใช้ไฟฟ้าจะเริ่มมีที่ให้ใส่ IP Address ที่จะทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าสามารถต่อเชื่อมกับอินเทอร์เน็ตได้"ด้านนโยบายรัฐ จากที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช.กับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที แย่งกันดูแลผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือไอเอสพี แต่จากนี้ไป ภาพจะชัดเจนขึ้น เพราะ กทช.กำลังร่างแผนแม่บทในการจัดสรรและกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม คาดว่า ไอเอสพีก็น่าจะรวมกันเหลือประมาณ 5 ราย และหาก กทช.ออกใบอนุญาตง่ายขึ้น เชื่อว่าใครๆ ก็เป็นไอเอสพีได้ ทั้งไว-ไฟ และไว-แมกซ์ บวกกับการที่ใช้เทคโนโลยี MPLS ทำให้แบนด์วิธไม่ลด แต่ราคาจะถูกลง ทำให้จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตก็น่า จะโตตามผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ" รองประธานอาวุโส ฝ่ายบิสิเนส โซลูชั่น บริษัทเค เอส ซี กล่าว ส่วน นายนิรันดร ทนงศักดิ์มนตรี ผู้อำนวยการฝ่ายลูกค้ากลุ่มองค์กรธุรกิจ บริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ CDMA ฮัทช์ แสดงความเห็นว่า จากที่คาดว่า ปี 2548 จำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือจะเพิ่มอีก 4 ล้านราย เอไอเอส ประกาศว่าจะเพิ่มลูกค้าใหม่ 2 ล้านราย ทำให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือโอเปอเรเตอร์อีก 4 ราย ต้องปรับตัวไปแย่งกันในส่วน 2 ล้านรายที่เหลือ และ จากนี้ไปต้องจับตาดูการทำงานของ กทช.เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของ ประชาชนในการออก แผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมว่าจะถูกแทรกแซงจากรัฐบาลหรือไม่
ผู้อำนวยการฝ่ายลูกค้ากลุ่มองค์กรธุรกิจ ของฮัทช์ แสดงความเห็นอีกว่า สำหรับโอเปอเรเตอร์ ในปี 2548 เอไอเอสจะเป็นเจ้าตลาดอย่างแน่นอน และจะทำแผนการเพิ่มรายได้ธุรกิจ Non-Voice มากขึ้น ด้าน ดีแทค จากผลงานในปี 2547 มีการเปลี่ยนแปลงด้านบริการ เช่น แฮปปี้ ซึ่งมีบิลลิ่งที่ดีมาก แต่ต้องดูว่าหลังจากที่นายซิคเว่ เบรคแก้ ลาออกไปแล้ว ดีแทคจะเป็นอย่างไร ส่วน ออเร้นจ์ จะเลิกใช้แบรนด์ "ออเร้นจ์" เปลี่ยนมาเป็น"ทรู" ในปีนี้แน่นอน และจะทำให้ ทรูเป็นผู้ให้บริการที่รวมบริการครบวงจร สำหรับฮัทช์ใน 2 ปีที่ผ่านมา สร้างสีสันในตลาดไม่น้อย แต่หลังจากโครงการ CDMA ภูมิภาค จะทำให้ฮัทช์แข่งกับผู้ให้บริการรายอื่นได้ดียิ่งขึ้น

ที่มา  NECTEC  ปีที่13  ฉบับที่ 50 พฤศจิกายน - ธันวาคม


โดย : นางสาว สุภาภรณ์ เจริญศรีธงชัย, มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัภ์, วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2548