เว็บเซอร์วิส
 
 
เว็บเซอร์วิส
 
              เว็บเซอร์วิส…เว็บเซอร์วิส ไปไหนมาไหนเวลานี้ ทำไมใครๆพูดแต่เรื่องเว็บเซอร์วิส เป็นเวลากว่าปีแล้วที่เว็บเซอร์วิสได้เริ่มแพร่หลายเข้าสู่ประเทศไทย แต่ก็ยังคงจำกัดกลุ่มผู้ใช้แค่เพียงกลุ่มนักพัฒนา และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในเทคโนโลยี .NET, PHP และ Java นับรายหัวแล้วมีเพียงหลักร้อยคน
ในช่วงที่ผ่านมา แม้จะมีกิจกรรมการสัมมนาหรือ การจัดอบรมเกี่ยวกับเว็บเซอร์วิสอยู่เนืองๆ แต่ก็เป็นกระแสเพียงวูบๆ แล้วก็หายไป ไม่ได้ถูกส่งเสริมและผลักดัน
ด้วยข้อจำกัดในด้านการอธิบายศัพท์เทคโนโลยี ทำให้อาจเข้าใจยาก และเป็นเรื่องที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหลายคนคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว อีกทั้งตัวอย่างที่จะทำให้เกิดความเข้าใจก็ยังไม่ชัดเจน วันนี้ เราจะมาทำความรู้จักกับ "เว็บเซอร์วิส" อีกครั้ง เพื่อสร้างความเข้าใจว่า "เว็บเซอร์วิส" อยู่ใกล้ชิดกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่าที่คิด
Web Services คือ แอพลิเคชัน หรือ โปรแกรมที่ทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งในลักษณะให้บริการ (Service) ที่จะถูกเรียกใช้งานจากแอพลิเคชันอื่นๆ ในรูปแบบ RPC (Remote Procedure Call) หรือระบบสั่งงานระยะไกล โดยการให้บริการจะมีเอกสาร ที่อธิบายคุณสมบัติของบริการกำกับไว้ มีภาษาที่ถูกใช้เป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนคือ XML ทำให้ผู้ใช้สามารถเรียกใช้ส่วนประกอบใดๆ ใน แพลตฟอร์ม ใด ๆ ก็ได้ บนโปรโตคอล HTTP สำหรับ World Wide Web อันเป็นช่องทางที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ในการติดต่อสื่อสารกันระหว่าง แอพลิเคชัน
จากที่เว็บไซต์ถูกแบ่งออกมาเป็น 3 ยุค ได้แก่ ยุคแรกคือ เว็บไซต์ Static Web เป็นการเขียนเว็บไซต์ธรรมดาสร้างจากภาษา HTML ล้วนๆ ต่อมาคือ ยุคที่2 เรียกว่า Dynamic Web ที่เริ่มมีแบบฟอร์มต่างๆให้ผู้เข้าชมกรอก และเกิดภาษาใหม่ๆเช่น .ASP, .JSP, Perl อยู่มานานกว่า 10 ปี แต่ก็เริ่มมีข้อจำกัดเมื่อบางบริษัท มีโปรแกรมเมอร์หลายคน ถนัดเทคโนโลยีที่แตกต่างกันไป เช่น .NET, Java และ PHP ทำอย่างไรจึงจะนำข้อมูลบนเทคโนโลยีที่แตกต่างกันนี้มาใช้บนภาษากลางได้ จึงเป็นที่มีของการเข้าสู่ยุคที่ 3 หรือยุคเว็บเซอร์วิส ที่เป็นบริการรูปแบบใหม่
นายอาณัติ รัตนถิรกุล โปรแกรมเมอร์ และนักพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านเว็บเซอร์วิส และโอเพนซอร์ส อธิบายว่า ผู้ใช้จะต้องเข้าใจความหมายของคำศัพท์เหล่านี้ก่อน ได้แก่ SOAP (Simple Object Access Protocol) เป็น XML-based โปรโตคอล (lightweight protocol) และใช้ HTTP เป็นโปรโตคอลร่วม ส่วนภาษาที่ใช้เขียนเว็บปกติ คือ HTML แต่เว็บเซอร์วิสเรียกว่า WSDL (Web Services Description Language) เป็นภาษาที่ใช้อธิบายคุณลักษณะการใช้บริการของเว็บเซอร์วิส และ UDDI (Universal Description, Discovery, and Integration) คือตัวแทนของผู้ให้บริการ (Service broker) ใช้สำหรับค้นหา Service ที่ต้องการเหมือนกับสมุดหน้าเหลือง เหมือนกับ กูเกิล ผู้เชี่ยวชาญด้านเว็บเซอร์วิส และโอเพนซอร์ส อธิบายเพิ่มเติมว่า การจะเป็นเว็บเซอร์วิสได้ต้องดึงข้อมูลออกมาจากเว็บที่ต้องการแต่ไม่ใช่การคัดลอก แต่เว็บเจ้าของเนื้อหาที่ให้บริการจะต้องเขียนข้อมูลเป็น WSDL ส่งมาเก็บที่ UDDI ที่ควรเป็นองค์กรกลางและไม่แสวงหากำไร หากเว็บไซต์ใดต้องการเรียกเซอร์วิส มาใช้ก็เอาสคริปต์ไปไว้ที่ผู้ให้บริการก็จะสามารถรับข้อมูล หรือ บริการนั้นได้ เช่น หากกรมประชาสัมพันธ์ ต้องการข้อมูลพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ถ้ากรมอุตุฯ เขียนข้อมูลไว้ในรูปแบบ XML เพียงกรมประชาสัมพันธ์นำสคริปต์ ไปแปะไว้ที่หน้าเว็บไซต์กรมอุตุฯ
นายอาณัติ แสดงความเห็นอีกว่า หากจะทำให้เว็บเซอร์วิสเกิดอย่างจริงจังต้องเพิ่มองค์ประกอบ 3 อย่างได้แก่ นักพัฒนา ต้องมีความเข้าใจเว็บเซอร์วิสให้ลึกซึ้งเพียงพอ และต้องไปศึกษาโครงสร้าง XML เพิ่ม เจ้าขององค์กร ต้องให้ความสนใจ เพราะเทรนด์มาแล้ว และต้องมีคนเริ่มทำเป็นตัวอย่าง และการผลักดันจากสื่อ ที่ในประเทศไทยมีน้อยมาก และมีแต่ภาษาต่างประเทศเป็นส่วนมาก เนื้อหาความรู้แบบภาษาไทยหายาก นอกจากนี้ ต้องทำให้เกิดบริการต่างๆบนอินเทอร์เน็ตมากขึ้น เพื่อที่จะใช้เป็นแหล่งสร้างรายได้แก่นักพัฒนา เพราะเว็บเซอร์วิสมีทั้งบริการฟรี
"เว็บเซอร์วิส เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากจนมองไม่เห็น แต่ที่ผ่านมา ขาดการสนับสนุนที่ต่อเนื่อง เหมือนกับน้ำมันที่รอเพียงคนจุดไฟ แต่ถ้าไม่มีคนจุดไฟอย่างต่อเนื่อง ไม่นานไฟก็จะมอดลง จริงๆแล้วน่าจะเอาเว็บเซอร์วิสไปเป็นหลักสูตรสอนนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย จะได้ปลูกฝังกันตั้งแต่เด็ก เพราะหลักสูตรเก่าที่เรียนกันล้าสมัยมากแล้ว " ผู้เชี่ยวชาญด้านเว็บเซอร์วิส และโอเพนซอร์ส กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน นายสงวน ธรรมโรจน์สกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดอทเน็ต จาก ไทยชาร์ป ดอทคอม ยกตัวอย่างเว็บเซอร์วิสที่อยู่ใกล้ตัวกับผู้ใช้มากที่สุดว่า ถ้าใช้งานโปรแกรม ออฟฟิศ 2003 ของไมโครซอฟท์ จะมีบริการที่เป็นเว็บเซอร์วิสอยู่ในส่วนที่เป็นพจนานุกรมอังกฤษ-ไทย เนื่องจากคำศัพท์มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่โปรแกรมนี้ สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลศัพท์ใหม่จากหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการบัญญัติศัพท์ได้ทันที หากหน่วยงานนั้นให้บริการเว็บเซอร์วิส ขณะนี้ เริ่มให้บริการอัพเดท
ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดอทเน็ต ของ ไทยชาร์ป ยกตัวอย่างว่า เว็บเซอร์วิสในด้านการค้า เช่น ทำเว็บไซต์สินค้าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ โอท็อป ก็จะมีเว็บไซต์ที่จังหวัดต่างๆทำไว้กว่า 70 เว็บ โดยถ้ามีเว็บกลางที่ใช้เก็บข้อมูลคือ เว็บไทยตำบล ข้อมูลจากเว็บต่างๆจะมีมาตรฐานเดียวกันหรือไม่ คำตอบคือไม่มี เพราะต่างคนต่างทำ และข้อมูลที่เว็บไทยตำบลนำเสนอจะอัพเดทหรือไม่ ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นผู้เก็บข้อมูลอย่างแท้จริง ทำให้ผู้เข้าชมสับสน เนื่องจากข้อมูลเว็บไซต์โอท็อปในจังหวัดนั้นๆไม่ตรงกัน

ที่มา เทคโนโลยีศื่อสารการศึกษา ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 ปีการศึกษา 2546
 

โดย : นางสาว สุภาภรณ์ เจริญศรีธงชัย, มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัภ์, วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2548