การศึกษาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์


    

   การศึกษาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์  เพื่อสร้างโอกาสแห่งการเรียนรู้

 

          เมื่อ 30 ปีที่แล้ว นักเรียนบ้านนอกคอกนาจะตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่งเมื่อครูบอกว่า วันนี้เราจะเรียนหนังสือทางวิทยุ เป็นสิ่งแปลกประหลาดมากที่มีเสียงคุณครูพูดจาไพเราะไม่เหมือนครูในห้องเรียน และนักเรียนก็นั่งล้อมวงแหงนหน้าฟังเสียงอย่างตั้งใจฟังบทเรียนจากวิทยุที่บางครั้งฟังชัด บางครั้งฟังไม่ชัดเพราะมีคลื่นรบกวน แต่ปัจจุบันจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้มี เครื่องคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดกระแสการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการเรียนรู้จากห้องเรียนเดิมๆ มากลายเป็นที่ไหน เวลาไหนก็ได้ (Anywhere Anytime) และผลจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีข่าวสาร ทำให้แวดวงการศึกษาเปลี่ยนจากเดิม มีการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาการศึกษาของประเทศให้โอกาสทางการศึกษากับประชาชนทุกคนทุกระดับการศึกษา มีทั้งการศึกษาในระบบการศึกษา นอกระบบและการศึกษาตลอดชีวิต วิธีการเรียนแบบเดิมก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปมีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้ในการศึกษามากขึ้น เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า E-Learning 
          คำว่า E-Learning ยังไมมีการกำหนดความหมายไว้แน่ชัด แต่ได้มีนักวิชาการ เช่น ผศ.ดร.ถนอมพร เลาหจรัสแสง รองผู้อำนวยการสำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้คำนิยาม E-Learning หรือ Electronic Learning วา หมายถึง การเรียนผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ใช้ในการนำเสนอเนื้อหาทางคอมพิวเตอร์ในรูปของสื่อมัลติมีเดีย ได้แก่ ข้อความทางอิเล็กทรอนิกส์ ภาพนิ่ง ภาพกราฟิก วีดีโอ ภาพเคลื่อนไหว ภาพสามมิติ ฯลฯ ส่วนนักวิชาท่านหนึ่ง คือ ธิดาทิพย์ จันคนา นักวิชาการศึกษาสำนักบริการคอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ให้ความหมายว่า การศึกษาที่เรียนรู้ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เนต โดยผู้เรียนจะเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้จะเป็นไปตามปัจจัยภายใต้ทฤษฎีแห่งการเรียนรู้สองประการ คือ เรียนตามความรู้ความสามารถของผู้เรียนเอง การตอบสนองในความแตกต่างระหว่างบุคคล และเวลาที่แต่ละบุคคลใช้ในการเรียนรู้ การเรียนจะผ่านเครือข่ายอินเตอร์เนต โดยที่ผู้สอนจะนำเสนอข้อมูลความรู้ให้ผู้เรียนได้ทำการศึกษาผ่านบริการ World Wide Web หรือเวปไซต์ โดยอาจให้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เช่น ผ่านการสนทนาโต้ตอบ ส่งข่าวสาร มี 3 รูปแบบ คือ ผู้สอนกับผู้เรียน ผู้เรียนกับผู้เรียนอีกคนหนึ่ง หรือผู้สอนกับกลุ่มของผู้เรียน ปฏิสัมพันธ์นี้สามารถกระทำผ่านเครื่องมือสองลักษณะ คือ 
1. แบบ Real Time ไดแก่ การสนทนาในลักษณะของการพิมพ์ข้อความแลกเปลี่ยนข่าวสารกันหรือส่งในลักษณะของเสียงจากบริการของ Chat room 
2. แบบ Non Real Time ไดแก่ การส่งข้อความถึงกันผ่านทางบริการอิเล็กทรอนิกส์เมล์ Web Board News Group เป็นต้น
          จากความหมายที่กล่าวข้างต้น พอจะสรุปได้ว่า E-Learning หมายถึง การศึกษาที่ผ่านการเรียนการสอนโดยอาศัยระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ท โดยผู้เรียนจะเรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่มีข้อจำกัดด้านสถานที่และเวลา (Any where Any time) การเรียนการสอนจะอาศัยบริการ World Wide Web และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสาร (Communication Technology : CT) ทำให้มีการปฏิสัมพันธ์ (Interactive) ระหว่างผู้สอนและผู้เรียนคนเดียว หรือเป็นกลุ่ม สามารถสนทนาโต้ตอบส่งข่าวสารระหว่างกันได้ ทำให้สามารถทราบผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้
             หมายเหตุ ในอนาคตอันใกล้การเขียน E-Learning ก็คงนิยมเขียนเป็น elearning
              รูปแบบของ E-Learning การเรียนโดยอาศัยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ มีรูปแบบต่างๆและอาศัยเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ ดังนี้
              ก. Distance Learning เมื่อระบบการสื่อสารได้มีการพัฒนาที่ดีขึ้น ที่การสื่อสารที่มีความเร็วสูง ทำให้มีการพัฒนาระบบการประชุมทางไกล ซึ่งเรียกว่า Video Conference โดยระบบดังกล่าวจะอาศัยกล้องโทรทัศน์ถ่ายทอดสัญญาณภาพและเสียงจากครูที่อยู่ในห้องส่งไปยังห้องเรียน และจากห้องเรียนไปยังห้องส่งได้เช่นเดียวกัน ทำให้การสื่อสารดำเนินการไปได้เหมือนอยู่ในห้องเรียนเดียวกัน คุณภาพของภาพขึ้นอยู่กับความเร็วของการสื่อสารข้อมูล ซึ่งปกตอความเร็วต่ำสุดควรจะเป็นที่ 64 Kbps (Kilo bit per second) และคุณภาพของภาพจะดีขึ้นทำความเร็วของการสื่อสารข้อมูลสูงขึ้นเป็น 128 256 384 Kbps ไปจนถึง 2 Mbps (Mega bit per second) ตามลำดับ
               การใช้ระบบ Video Conference มาใช้ในการเรียนการสอนเรียกว่า Distance Learning คือผู้สอนอยู่ที่หนึ่งและผู้เรียนอยู่อีกที่หนึ่ง อาจจะเป็นคนละอำเภอคนละจังหวัด หรือแม้แต่คนละประเทศ ขึ้นอยู่กับระบบการสื่อสารไปถึงหรือไม่ มีหลายมหาวิทยาลัยใช้ระบบนี้อยู่ในประเทศไทย โดยทบวงมหาวิทยาลัยได้นำระบบดังกล่าวมาติดตั้งในมหาวิทยาลัยของรัฐ เพื่อขยายวิทยาเขตออกไป เรียนว่าวิทยาเขตสารสนเทศ
               การประยุกต์ใช้ระบบดังกล่าวจะมีคำถามต่างๆมากมายที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพการเรียนการสอนว่ามีประสิทธิภาพเทียบเท่าการสอนแบบปกติหรือไม่ เช่น ฝั่งของผู้เรียนควรจะมีจำนวนนักเรียนได้สูงสุดกี่คนจะต้องมีอาจารย์ผู้ช่วยสอนหรือไม่ อาจารย์ผู้ช่วยสอนควรมีความรู้เกี่ยวกับวิชาที่สอนอะไรบ้าง นักเรียนมีคำถามจำนวนมากๆ จะมีวิธีการจัดการอย่างไร การประเมินการสอน การสอนทำอย่างไร นักเรียนไม่ตั้งใจเรียนจะทำอย่างไร หรือถ้าระบบการสื่อสารเสียจะแก้ปัญหานี้อย่างไร
                ข. Computer Based Training (CBT) เมื่อเครื่องคอมพิวเตอร์ถูกพัฒนาให้มีความสามารถสูงขึ้นสามารถนำเสนอได้ทั้งภาพและเสียง (Multimedia) มีการประมวลผลเร็วขึ้น ราคาถูกลง เกิดการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนลงบนแผ่น CD-ROM ให้ผู้เรียนเปิดเรียนจากแผ่น CD-ROM ได้เอง คล้ายกับดูหนังจากวิดีโอเทป แต่ที่ดีกว่าคือสามารถควบคุมการเรียนได้เองว่าจะเริ่มจากตรงไหน มีภาพนิ่ง เสียงภาพเคลื่อนไหวและอาจจะมีแบบทดสอบความเข้าใจด้วยก็ได้ ซึ่งข้อดีของ CBT ก็คือผู้เรียนอยากเรียนเมื่อไรก็ได้ ที่ไหนก็ได้ที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่จุดอ่อนคือผู้เรียนไม่สามารถโต้ตอบกับผู้สอนได้โดยตรง เนื้อหาบทเรียนจะถูกต้องดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตสื่อ และการประเมินผลไม่สามารถวัดได้ชัดเจน คำถามไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้และผู้เรียนอาจจะโกงหรือไม่ก็ได้
                 ค. Web Based Training (WBT) เมื่อระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นราคาถูกลง มีการติดตั้งระบบเครือข่ายมากขึ้น CD-ROM ที่เป็น CBT ติดตั้งที่เครื่องทำหน้าที่เป็น Server เพื่อให้ลูกข่ายแต่ละคนสามารถเรียกดูได้ตามความต้องการ การเรียนแบบนี้เรียกว่าเป็นแบบ Asynchronous Learning คือผู้เรียนไม่จำเป็นรอครูผู้สอน อยากเรียนเมื่อไรก็มาเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ต่อเข้าเครือข่าย สามารถเรียนได้ตามความต้องการ การเรียนในลักษณะนี้ต้องมีเครือข่ายที่มีความเร็วในการสื่อสารข้อมูลสูงพอสมควรถึงจะได้ผล เช่น กรณีที่เป็นข้อมูลภาพเคลื่อนไหว ถ้าต้องการส่งภาพเคลื่อนไหวขนาด 320 x 200 เป็นเวลา 1 วินาที ต้องส่งข้อมูลด้วยความเร็วถึง 1,600,000 x 8 บิทต่อวินาที
                  ง. Internet Based Learning เมื่อ Internet ได้รับการพัฒนาดีขึ้นเรื่อยๆมีการใช้งานอย่างแพร่หลายก็มีการนำ WBT ไปไว้บน Internet ทำให้บุคคลทั่วไปที่ได้รับอนุญาต (เช่นลงทะเบียน มี Password) สามารถเข้าไปเรียนรู้ได้โดยอาศัย Internet ความเร็วสูง (กรณีใช้ Modem ความเร็ว 56 Kbps อาจจะทำให้คุณภาพของภาพไม่ดี ควรใช้ 512 Kbps) 


ที่มา : เฉลิมพร อภิชนาพงศ์.\"การศึกษาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อสร้างโอกาสแห่งการเรียนรู้\"สุทธิปริทัศน์. 17,51 (มกราคม - เมษายน 2546),62-66

โดย : นางสาว จุฑามาศ เกษมสุขสถาพร, ราชภัฏวไลยอลงรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2547