หุ่นยนต์กู้ระเบิด
 ทศพร นักศึกษาปริญญาโทจากศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือฟีโบ้ บอกถึงต้นกำเนิดหุ่นยนต์ดังกล่าวว่า มาจากหุ่นยนต์เคลื่อนที่ด้วยล้อ บังคับการทำงานแบบไร้สายและส่งผลการทำงานกลับมายังผู้ควบคุม เมื่อเกิดเหตุการณ์ลอบวางระเบิดห้างสรรพสินค้า ทางกลุ่มคิดว่าน่าจะสร้างหุ่นยนต์ที่มีความฉลาดสามารถทำงานเสี่ยงอันตรายแทนคนได้ จึงพัฒนาเพิ่มเติมเป็นหุ่นยนต์ตัวที่ 2 ขึ้นมาโดยเพิ่มขีดความสามารถเข้าไป และออกแบบให้ตรวจสอบพื้นที่อันตรายหรืองานกู้ระเบิดได้เหมือนมนุษย์ หุ่นยนต์ตัวที่ 2 นี้ที่ใช้เวลาพัฒนากว่า 3 เดือน สามารถเคลื่อนที่ได้ทุกทิศทาง มีความคล่องตัวสูง พร้อมติดตั้งปืนฉีดน้ำความดันสูง เครื่องฉายรังสีเอ็กซเรย์ และชุดรับภาพจากเครื่องฉายรังสี

วุฒิชัย วิศาลคุณา นักศึกษาปริญญาโทจากสถาบันเดียวกัน ผู้นำเอาซีเคียวริตี้โรบอทมาต่อยอดเสริมลูกเล่นให้มีความฉลาดมากขึ้น บอกว่าได้พัฒนาวิธีการควบคุมหุ่นยนต์โดยถุงมือรับข้อมูล เพื่อให้ง่ายต่อการบังคับทิศทาง และเป็นการควบคุมที่ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติก่อนส่งข้อมูลแบบไร้สายไปยังคอนโทรลเลอร์บังคับหุ่นยนต์ให้เคลื่อนที่ตามต้องการ นอกจากนั้น หุ่นยนต์ยังสามารถส่งภาพจากกล้องที่ติดตั้งอยู่ส่วนบนของหุ่นยนต์ มายังเจ้าหน้าที่ควบคุม เพื่อใช้ภาพและข้อมูลที่ได้ประกอบการตัดสินใจในการปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสม

วุฒิชัย บอกอีกว่า นอกจากถุงมือแล้ว ได้นำหมวก Head Mounted Display มาใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงานของหุ่นยนต์ด้วย ทั้งนี้เมื่อผู้บังคับสวมหมวกดังกล่าว จะให้ความรู้สึกเหมือนกำลังขับหุ่นยนต์ด้วยตนเอง ภาพที่เห็นก็เหมือนกับอยู่ในเหตุการณ์ ทั้ง ๆ ที่อยู่ห่างได้ถึง 60 เมตร


แหล่งอ้างอิง : www.technology.mweb.co.th

โดย : นาย พิพัฒน์ พังจันทร์ตา, สถาบันราชภัฏอุตรดิตถ์, วันที่ 22 สิงหาคม 2546