ดิจิตอลไลบรารี
เมื่อประมาณสามสิบปีที่แล้ว หากจะรวบรวมหนังสือวิชาการเฉพาะ เช่น วิชาเคมี ภายในห้องสมุดคงจะมีไม่เกินหนึ่งร้อยเล่ม และหากเข้าไปในห้องสมุดในยุคปัจจุบัน หนังสือที่ เกี่ยวกับวิชาเคมีมีมากมายหลายพันเล่ม
จำนวนหนังสือสิ่งพิมพ์มีการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก มีหนังสือวิชาการสาขาต่าง ๆ แตกแขนงย่อย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจนเชื่อแน่ว่า หากห้องสมุดยังคงเก็บหนังสือเช่นปัจจุบัน อีกไม่นานห้องสมุดจะพบปัญหาสถานที่เก็บคงต้องขยายอาคาร เพิ่มพื้นที่การจัดเก็บหนังสือ
มหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐอเมริกาประมาณสิบแห่ง ซึ่งได้แก่ มหาวิทยาลัยอิลลินอย สแตนฟอร์ด มิชิแกน เบอร์กเลย์ และคาร์เนกี้ เมลอน เป็นต้น ได้เข้าร่วมกับสถาบัน IEEE ของสหรัฐอเมริกาดำเนินโครงการ วิจัยและพัฒนาห้องสมุดดิจิตอล
ห้องสมุดดิจิตอลในความหมายนี้คือ เป็นแหล่งที่เก็บเอกสาร หนังสือ สิ่งพิมพ์ ต่าง ๆ ในรูปแบบดิจิตอล ที่สามารถเรียกดูหรือค้นหาได้ผ่านทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์
ความจริงลักษณะของการใช้งานสื่อสิ่งพิมพ์ผ่านทางเครือข่าย เราคงได้เห็นกันบ้างแล้ว เช่นการใช้ข้อมูลบนเครือข่ายเวิร์ลไวด์เว็บ บนอินเทอร์เน็ต มีการสร้างมาตรฐานไฮเปอร์เท็กซ์ เพื่อให้สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ เก็บไว้ในรูปแบบโฮมเพ็จเชื่อมโยงถึงกัน เพื่อการเรียกใช้ที่ง่าย
มีการพัฒนาโปรแกรมบราวเซอร์ให้เป็นโปรแกรมสำหรับนำทางเข้าไปหายังโฮมเพจต่าง ๆ เรียกค้นข้อมูลที่ต้องการ สิ่งที่เป็นจุดเด่นก็คือ สามารถแสดงผลได้ทั้งรูปภาพ เสียง ภาพเคลื่อนไหว หรือแม้แต่วิดิโอ สิ่งพิมพ์ที่ปรากฎบนจอภาพจึงมีชีวิตชีวา
โครงการห้องสมุดดิจิตอลนี้ เป็นโครงการทดสอบเพื่อหาความเป็นไปได้ รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อเป็นต้นแบบของการขยายผลในอนาคต มหาวิทยาลัยที่ร่วมโครงการ ได้สร้างห้องสมุดดิจิตอลที่เชื่อมโยงถึงกัน มีการนำเอกสารสิ่งพิมพ์ หนังสือต่าง ๆ แปรรูปเป็นข้อมูลดิจิตอลที่สามารถเรียกค้นได้บนเครือข่ายคอมพิวเตอร์จากที่อยู่ห่างไกล
องค์กร IEEE และ acm ได้จัดพิมพ์วารสารทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์กว่าร้อยหัวเรื่อง วารสารส่วนใหญ่ออกเป็นรายเดือน มีผู้เป็นสมาชิกหลายแสนคนจากทั่วโลก ล่าสุด IEEE และ acm ได้เสนอกับสมาชิกสำหรับการบอกรับวารสารในปีใหม่ที่จะมาถึงนี้ในรูปแบบดิจิตอล สมาชิกสามารถเลือกรับวารสารแบบดิจิตอล หรือแบบเป็นหนังสือ หากรับแบบ ดิจิตอลก็สามารถเข้าไปเปิดอ่านโดยเรียกผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยเริ่มให้ลองใช้โฮมเพ็จที่ www.computer.org, www.acm.org
ข้อเด่นที่เชิญชวนให้สมัครสมาชิกเพื่อรับวารสารแบบดิจิตอล คือ ผู้รับสามารถอ่านฉบับย้อนหลัง และมีระบบค้นหาข้อมูล ทำให้การค้นหาสิ่งที่ต้องการได้ง่ายและรวดเร็ว
การพัฒนาห้องสมุดดิจิตอลมีรูปธรรมที่เป็นจริงอยู่มาก ข้อมูลหนังสือสิ่งพิมพ์ทั้งหมดที่เก็บไว้ไม่แตกต่างจากที่หยิบอ่านจากหนังสือจริง หากสั่งพิมพ์ออกมาจากเครื่องคอมพิวเตอร์ เอกสารสิ่งพิมพ์ที่ได้นั้นเสมือนการถ่ายจากต้นฉบับทุกประการ ที่สำคัญคือผู้อ่านได้รับรวดเร็วกว่าการจัดส่งทางไปรษณีย์
ความสำเร็จขั้นต้นนี้เกิดจากการพัฒนาของบริษัท Adobe ซึ่งเชี่ยวชาญในเรื่องการจัดพิมพ์เอกสาร Adobe มีชื่อเสียงในเรื่องการคิดค้นเทคโนโลยีการพิมพ์ เป็นผู้พัฒนาระบบ โพสคริปต์ที่ใช้กับเครื่องพิมพ์เลเซอร์ รวมถึงการพัฒนาโปรแกรมที่มีชื่อเสียงทางด้านการพิมพ์ที่ชื่อ เพ็จเมกเกอร์
บริษัท Adobe ได้พัฒนาโปรแกรมที่ชื่อ Acrobat Reader เป็นโปรแกรมที่ผู้ใช้ อินเทอร์เน็ต สามารถดาวน์โหลดมาติดตั้งได้ฟรี โปรแกรมเมื่อประกอบรวมกับบราวเซอร์ ทำให้บราวเซอร์เปิดอ่านข้อมูลที่จัดเก็บในรูปสิ่งพิมพ์ดิจิตอลได้ทันที การจัดเก็บเอกสารไว้บนเซิร์ฟเวอร์เป็นแฟ้มประเภท .pdf
ลองจินตนาการดูว่า เทคโนโลยีการพิมพ์ในปัจจุบันใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เพียงไรู การพิมพ์ต้นฉบับเริ่มจากการใช้เวิร์ดโปรเซสเซอร์ ูการสแกนรูปภาพ ูการตกแต่งแยกสีเพื่อทำแม่พิมพ์ก็ใช้คอมพิวเตอร์ การจัดหน้าพิมพ์หรือการวางองค์ประกอบ ต้องใช้โปรแกรมประเภท เดสท๊อปพับบลิชิง (DTP - Desk Top Publishing) แม้กระทั่งการพิมพ์ก็ใช้เครื่องพิมพ์ประเภทเลเซอร์ หรือเทคนิคการพิมพ์ชั้นสูงอื่นที่มีคอมพิวเตอร์เป็นองค์ประกอบ
ขบวนการพิมพ์เอกสารสิ่งพิมพ์ล้วนแล้วแต่เข้าสู่ยุคอิเล็กทรอนิกส์แล้วทั้งสิ้น การเก็บข้อมูลสิ่งพิมพ์ในรูปสื่อดิจิตอลจึงไม่ใช่เรื่องยาก โดยเฉพาะหากต้องการลดพื้นที่การเก็บหนังสือจำนวนมากในห้องสมุด การใช้หนังสือแบบดิจิตอล และเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ให้บริการขนาดใหญ่มีฐานข้อมูลซีดีรอมจำนวนมาก การบริหารจะเป็นแบบอัตโนมัติ ขนาดของสถานที่จะลดลง
ลองนึกเลยต่อไปว่า หากต้องการค้นหาหนังสือเล่มใด ผู้ค้นไม่ต้องเดินทางไปห้องสมุด การเรียกค้นจากที่ใดก็ทำได้ และอยากค้นหาเมื่อไรก็ได้ เพราะห้องสมุดเปิดบริการตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ห้องสมุดดิจิตอลจึงเป็นขุมความรู้ของผู้ใช้
หากมองเลยต่อไปว่า บริษัทผู้พิมพ์หนังสือเก็บไว้ในรูปสิ่งพิมพ์ดิจิตอล โดยไม่ต้องพิมพ์ลงบนกระดาษ ผู้ใช้ต้องเสียค่าบริการหรือเป็นสมาชิกจึงจะมีสิทธิในการเปิดอ่านได้ การบอกรับหนังสือพิมพ์ก็เพียงแต่ได้รหัสผ่านสำหรับเปิดอ่าน ผู้ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์สามารถลดต้นทุนลงได้โดยไม่ต้องใช้กระดาษจริง ดังนั้นสมาชิกของ IEEE และ acm ที่บอกรับหนังสือดิจิตอลจึงเสียค่าบริการ ถูกกว่าวิธีการจัดส่งหนังสือจริงไปให้
กลุ่มมหาวิทยาลัยที่ร่วมกันศึกษาค้นคว้า และพัฒนาห้องสมุดดิจิตอล จะเป็นโมเดลตัวอย่าง จะทำให้ห้องสมุดเป็นเครือข่ายความรู้ การดำเนินการแบบช่วยกันจะทำให้ห้องสมุดเติบใหญ่และขยายบริการได้อีกมาก การแบ่งกันใช้ทรัพยากรเป็นหนทางของมวลมนุษยชาติที่จะดำรงชีวิตร่วมกัน พึ่งพาอาศัยกัน
การสานฝันของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทางด้านนี้ ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เชื่อมั่นว่าอีกไม่ช้าเราจะได้เห็นห้องสมุดดิจิตอลที่สมบูรณ์แบบ และสามารถบริการคนทั่วโลกที่อยู่ห่างไกลได้
โลกแห่งความจริงเสมือนของห้องสมุด (Virtual Library) กำลังใกล้เข้ามาแล้ว
โดย นายเอกลักษณ์ ลักษณะงาม ชั้น ม. 4/5 โรงเรียนนารีนุกูล จ. อุบลราชธานี
เสนอ อาจารย์ สมปอง ตรุวรรณ์ อาจารย์ประจำวิชา ช0252
ที่มา www.school.net.th/library/create-web
|