ประเพณีลอยกระทง

 
                       

          การลอยกระทงเป็นนักขัตฤกษ์รื่นเริงของคนทั่วไป เมื่อเป็นพิธีหลวง เรียก “ พระราชพิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคมส่งน้ำ” ต่อมาเรียก “ลอยพระประทีป” พิธีนี้มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยดัง ปรากฏหลักฐานอยู่ใน หนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ และได้กระทำต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตลอดจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พิธีลอยกระทงเดิมทำกันในวันเพ็ญเดือน11 และวันเพ็ญเดือน12 ปัจจุบันพิธีลอยกระทงเฉพาะวันเพ็ญเดือน 12

          พิธีลอยกระทง สันนิษฐานว่าได้มาจากอินเดีย ตามลักธิพราหมณ์เชื่อว่า ลอยกระทงเพื่อบูชาแม่น้ำคงคง อันศักค์สิทธิ์ของอินเดีย และลอยเพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้า คือ พระนารายณ์ ซึ่งบรรทมสินธุ์อยู่กลางเกษียรสมุทร อีกประการหนึ่ง ศาสนาพุทธเชื่อว่า การลอยกระทงเป็นการทำพิธีเพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้า ในวันเสด็จจากเทวโลกสู่โลกมนุษย์ ภายหลังจากทรงเทศนาโปรด พุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ บ้างก็เชื่อว่าเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ที่บรรจุไว้ในพระจุฬามณี พระเจดีย์บนสวรรค์ บางก็ว่าเพื่อบูชารอยพระพุทธบาทที่ทรงประทับไว้ ณ หาดทราย ริมฝั่งแม่น้ำนัมมหานทีในแคว้นทักขิณาบถ ของประเทศอินเดีย (ปัจจุบันเรียกว่าแม่น้ำเนรพุททา) บางท่านก็ว่า ลอยกระทงเพื่อขอบคุณพระแม่คงคาที่ให้เราได้อาศัยน้ำกินน้ำใช้ และขออภัยพระแม่คงคา ที่ทิ้งสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ลงในน้ำ

          เมื่อถึงวันเพ็ญ เดือน 12 ประชาชนจะจัดทำกระทงเป็นรูปต่าง ๆ ด้วยใบตอง หรือกาบใบต้นพลับพลึง หรือวัสดุอื่น ๆ ประดับตกแต่งกระทงให้สวยงามด้วยดอกไม้สดในกระทงจะปักธูปเทียน บางทีก็ใส่สตางค์ หรือหมากพลูลงไปด้วย สมัยก่อนในพิธีลอยกระทง มีการเล่นสักวา เล่นเพลงเรือ และมีแสดง มหรสพประกอบงานมีการประกวด นางนพมาศ ประกวด กระทงและร่วมกันลอยกระทง โดยจุดธูปเทียน กล่าวอธิษฐานตามที่ใจปรารถนาและปล่อยกระทงให้ลอยไปตามน้ำ


ที่มา : www.thaitrip.com

โดย : นางสาว รูสียะ แวดอเลาะ, สถาบันราชภัฎสงขลา, วันที่ 7 พฤศจิกายน 2545