เขื่อนรัชชประภา

 

เขื่อนรัชชประภา มีชื่อเรียกดั้งเดิมว่าเขื่อนเชี่ยวหลาน เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ แห่งที่สองของภาคใต้อยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามให้ใหม่ว่าเขื่อนรัชชประภา มีความหมายว่า แสงสว่างแห่งรัชกาล ( Light of the Kingdom )

 ลักษณะของเขื่อนและโรงไฟฟ้า
เขื่อนรัชชประภาสร้างปิดกั้นลำน้ำคลองแสง ที่บ้านเชื่ยวหลานตำบลเขาพัง อำเภอบ้านตาขุนจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นเขื่อนหินถมแกนดินเหนียว สูง 95 เมตร ความยาวสันเขื่อน 761เมตร มีเขื่อนปิดกั้นช่องเขาอีก 6 แห่ง อยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำ 1แห่ง  และ ฝั่งขวาของแม่น้ำ 5 แห่ง
อ่างเก็บน้ำ มีความจุ 5,640 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่อ่างเก็บน้ำ 185 ตารางกิโลเมตร ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเฉลี่ยปีละ 3,057 ล้านลูกบาศก์เมตร
โรงไฟฟ้า ตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้า เครื่องละ 80,000 กิโลวัตต์ จำนวน 3 เครื่อง รวมกำลังผลิต 240,000 กิโลวัตต์ ให้พลังงานไฟฟ้า เฉลี่ยปีละประมาณ 554 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง
ลานไกไฟฟ้า ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำห่างจากโรงไฟฟ้าประมาณ 100 เมตร ทำหน้าที่ส่งพลังไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าด้วยสายส่งไฟฟ้า ขนาด 230 กิโลวัตต์วงจรคู่ไปยังสถานีไฟฟ้าแรงสูงสุราษฎร์ธานี ระยะทาง 50 กิโลเมตรและขนาด 115 กิโลวัตต์ วงจรคู่ไปยังสถานี ไฟฟ้าแรงสูงพังงา ระยะทาง 82 กิโลเมตร เขื่อนรัชชประภาเริ่มดำเนินการก่อสร้าง เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 แล้วเสร็จ ในเดือน กันยายน พ.ศ. 2530 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดเขื่อนรัชชประภาและโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เมื่อวันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2530
ประโยชน์
เขื่อนรัชชประภา จัดเป็นเขื่อนประเภทอเนกประสงค์ซึ่งมีความหมายตามพจนานุกรมฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530 ว่าใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ดังจะเห็นได้จากประโยชน์ดังนี้.-

 ด้านการชลประทาน เมื่อมีการปรับปรุงระบบชลประทานเสริมแล้วน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนรัชชประภา จะเป็นผลดีต่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งและทำนาปรังของราษฎรในอำเภอ บ้านตาขุนอำเภอคีรีรัฐนิคม และอำเภอพุนพิน ซึ่งอยู่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำด้านท้ายน้ำ
การบรรเทาอุทกภัย การกักเก็บน้ำของเขื่อนในฤดูฝนจะช่วยลดความรุนแรงของ ภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ตอนล่างได้เป็นอย่างดี
การเจือจางน้ำเสียและผลักดันน้ำเค็ม สภาพน้ำน้อยของลำน้ำตาปี - พุมดวงในหน้าแล้งทำให้เกิดภาวะน้ำเน่าเสียได้ง่าย ขณะเดียวกันที่ปากแม่น้ำ ก็จะมีน้ำเค็มรุกล้ำลึกเข้ามา ตามลำน้ำจากเขื่อนรัชชประภาจะถูกปล่อยออกไปเจือจางน้ำเสียและต้านทานการรุกล้ำของ น้ำเค็มที่ปากแม่น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การประมง อ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา เป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่สำคัญ ทำรายได้ให้กับราษฎรที่อยู่บริเวณโดยรอบอ่างเก็บน้ำ สามารถจับปลาได้เฉลี่ยวันละ 2 ตัน คิดเป็นมูลค่า ปีละประมาณ 5 ล้านบาท
การท่องเที่ยว ทัศนียภาพโดยรอบบริเวณเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ สวยสดงดงามและสงบร่มรื่นดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปเยี่ยมชมกันอยู่ตลอดเวลา ปีละหลายหมื่นคน
การผลิตไฟฟ้า น้ำที่ปล่อยผ่านเครื่องผลิตไฟฟ้าเพื่อส่งให้เกษตรกรท้ายน้ำ สามารถ ผลิตพลังไฟฟ้าได้ 240,000 กิโลวัตต์ ให้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 554 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงช่วยเสริมให้ระบบไฟฟ้าในภาคใต้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น


ที่มา : ข้อมูลจากแผนกประชาสัมพันธ์ เขื่อนรัชชประภา

โดย : นาย ชัยวัฒน์ ชีวนิชพันธ์, -, วันที่ 2 พฤศจิกายน 2545