ความร่วมมือของกลุ่มประเทศยุโรป

1.ด้านเศรษฐกิจ

นอกจากการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติแล้วความเสียหายอันประมาณค่ามิได้ทางด้านต่างๆที่สืบเนื่องมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้นานาประเทศในยุโรปตะวันตกตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือบูรณะฟื้นฟูยุโรปและขจัดความขัดแย้งบาดหมางระหว่างประเทศให้หมดไป รัฐบุรุษของแต่ละประเทศมีความเห็นสอดคล้องกันว่าความร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จะทำให้ยุโรปฟื้นตัวได้และจะเป็นรากฐานของการสร้างเอกภาพทางการเมืองของยุโรป ความช่วยเหลือร่วมมือกันทางเศรษฐกิจจึงเป็นความเคลื่อนไหวระหว่างประเทศที่จะนำไปสู่การรวมตัวของยุโรปตะวันตกช่วงหลังสงคราม

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจของยุโรป

(The Organization for European Economic Cooperation-OEEC)

ก่อตั้งในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1947 โดยมีวัตถุประสงค์จะส่งเสริมและพัฒนาการค้าของยุโรปและให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่อกัน  สมาชิกเริ่มแรกมี 16 ประเทศ คือ

กรีซ ตุรกี เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบอร์ก สวิสเซอร์แลนด์ ออสเตรีย อิตาลี และโปรตุเกส

ในช่วง 6 ปีแรก OEEC ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานอย่างมาก เพราะการค้าระหว่างประเทศขยายตัวถึง 2 เท่า และผลผลิตด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้น ถึงร้อยละ 10 และ 35 ตามลำดับ ทำให้ประเทศยุโรปตะวันตกมีเสถียรภาพทางสังคมและเศรษฐกิจที่มั่นคงขึ้น และนำไปสู่การร่วมมือทางทหารในเวลาต่อมา

 


ที่มา : สังคมศึกษาสมบูรณ์แบบ

โดย : นาง งามจิต ขจรวงศ์สถิต, ภูเขียว, วันที่ 26 กรกฎาคม 2545