สงครามสีเขียว


โดยปกติแล้วเรามักใช้คำว่า “เขียว” เป็นคำคุณศัพท์ขยายคำอะไรก็ได้ที่ต้องการสื่อให้เห็นถึงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คือ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั่นเอง
ขึ้นชื่อว่า “สงคราม” ไม่น่าที่เข้ากันได้กับคำว่า “สีเขียว” เลย แต่ลองมาดูความพยายามของคนเยอรมันที่ยังอุตส่าห์ห่วงถึงสภาะแวดล้อมในภาวะสงครามเช่นนี้ อาวุธที่ใช้ในการสงครามในปัจจุบันอย่างเช่น ระเบิด จรวด หรือแม้กระทั่งขีปนาวุธ จะมีส่วนประกอบของสารประกอบเหล็กและฮาโลเจนในรูปแบบต่าง ๆ ที่มักจะทิ้งสารตกค้างที่เป็นอันตรายไว้ในปริมาณสูง และก่อให้เกิดอันตรายกับสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์หรือแม้กระทั่งมนุษย์ จากผลการศึกษาในสัตว์ สารตกค้างเหล่านี้จะไปทำลายตับและระบบประสาทส่วนกลางที่ได้รับเข้าไปโดยการกินหรือการสัมผัสผ่านทางผิวหนัง



นอกจากสารตกค้างจากการระเบิดแล้ว จรวดและขีปนาวุธส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดยังประกอบไปด้วยอะลูมิเนียมที่เมื่อได้รับความร้อนแล้วสามารถก่อให้เกิดกรดไฮโดรคลอริก (Hydrochloric acid) ที่เป็นตัวการของฝนกรดที่เรารู้จักกันดีนั่นเอง ทั้งยังสร้างความเสียหายให้กับชั้นของโอโซน รวมไปถึงออกไซด์ของอะลูมิเนียมที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชอีกด้วย



จากผลการค้นคว้าวิจัย ในอนาคตอันใกล้นี้อาวุธต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้วจะถูกสร้างขึ้นด้วยส่วนประกอบของ ไฮโดรเจน คาร์บอน ไนโตรเจน และออกซิเจนเป็นหลัก ที่สำคัญก็คือ ประสิทธิภาพของมันไม่ได้ด้อยไปกว่าอาวุธแบบเดิม ๆ เลย แต่มีอานุภาพมากกว่าอาวุธแบบเดิมถึง 25 เปอร์เซ็นต์ และในการระเบิดแต่ละครั้งสิ่งที่เหลืออยู่ก็เป็นเพียงก๊าซไนโตรเจนเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตแต่อย่างใด เพราะในอากาศปกติที่เราหายใจเข้าไปนั้นประกอบด้วยไนโตรเจนเกือบสามในสี่ส่วนอยู่แล้ว
ข้อเสียเพียงประการเดียวของอาวุธที่ได้รับการพัฒนาขึ้นใหม่นี้ก็คือ ราคาที่แพงเกือบสองเท่าของอาวุธแบบเดิมนั่นเองที่ดูเหมือนจะเป็นข้อจำกัดสำหรับประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนาทั้งหลายที่ชอบซื้ออาวุธไปสะสมกัน



โดย : นาย ธนนท์ สุทธิกุล, ร.ร.ภูเก็ตวิทยาลัย, วันที่ 21 พฤศจิกายน 2544