วันพืชมงคล


วันพืชมงคล
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีสิริมงคล เพื่อบำรุงขวัญเกษตกรไทยและเตือนให้เริ่มเพาะปลูกพืชผลโดยเฉพาะการทำนา ซึ่งเป็นธัญญาหารหลักสำคัญยิ่งของการดำรงชีวิตคนไทย
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญของไทย มีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย และสืบต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระราชพิธีนี้ในสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 เป็นพิธีพรามหณ์ไม่มีพิธีสงฆ์ประกอบ
ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงพระราชดำริโปรดให้มีพิธีสงฆ์ทางพระพุทธศาสนาร่วมประกอบในพิธีด้วย เพื่อเป็นสิริมงคลแก่พืชพันธุ์ธัญญาหารที่นำเข้ามาในมณฑลพิธี แล้วจึงนำไปไถหว่านในการแรกนาขวัญ เรียกพระราชพิธีในตอนนี้ว่า “พืชมงคล” เมื่อรวม 2 พิธีแล้วเรียกว่า “พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” เป็นราชประเพณีสืบมา โดยจัดเป็น 2 วัน วันแรกเป็นพระราชพิธีพืชมงคล ซึ่งเป็นพิธีสงฆ์ วันรุ่งขึ้น เป็นพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งเป็นพิธีพรามหณ์

พระยาแรกนา
ในสมัยก่อน พระมหากษัตริย์จะต้องประกอบพระราชกรณียกิจ เป็นผู้นำในการลงมือไถ หว่านพืชพันธุ์ธัญญาหารเป็นตัวอย่าง แต่ต่อมาได้มีพรามหณ์เป็นผู้แนะนำประกอบพิธีตามลัทธิไสยศาสตร์ พระมหากษัตริย์จึงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ให้ทำหน้าที่ไถ หว่านพืชพันธุ์ธัญญาหารแทนพระองค์ เรียกว่า “พระยาแรกนา” ส่วนพระมเหสีหรือชายาที่เคยร่วมการไถ่หว่าน เปลี่ยนเป็นท้าวนางในพระราชสำนักออกทำหน้าที่หาบกระบุงพันธุ์พืช ช่วยพระยาแรกนา เรียกว่า “เทพี”
ในปัจจุบัน พระยาแรกนา ได้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนเทพี คัดเลือกจากข้าราชการสตรีโสดในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

พระโค
เป็นโคที่ใช้ไถในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หลังจากที่เสร็จการไถหว่านแล้ว จะนำพระโคทั้งคู่มายืนตรงหน้าพลับพลาที่ประทับ พรามหณ์จะนำถาดกระทงบรรจุของเลี้ยงพระโค เพื่อเป็นการเสี่ยงทาย ถาดละ 7 สิ่ง คือ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำและหญ้า พระโคกินอะไร โหรหลวงจะเป็นผู้ทำนายว่าปีนี้ พืชพันธุ์ธัญญาหารใดจะอุดมสมบูรณ์ หรือไม่
*****


โดย : นาย ชวลิต พิมพ์จันทร์, โรงเรียนเทศบาลบูรพาอุบล, วันที่ 11 พฤษภาคม 2545