มหัศจรรย์ของดินในถิ่นบ้านหนู
เมื่อเด็กเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง จึงเป็นโอกาสดีของครูที่จะพาลูกศิษย์ออกนอกห้องเรียน การเตรียมตัวของครูเพื่อจัดกิจกรรมการเรียนจึงเป็นสิ่งท้าทายให้ครูได้ใช้วิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมาร่วมสร้างพัฒนาการด้านการคิด สร้างมือน้อยๆให้มีความแข็งแรง สร้างสายตาให้มองกว้าง สร้างความรู้สึกให้เด็กรักถิ่นฐานบ้านเกิด เพื่อให้เด็กๆรู้ว่าแผ่นดินที่เขาเหยียบย่ำทุกวันคือแผ่นดินไทยที่พวกเขาจะต้องรัก หวงแหน คุณครูจะช่วยให้เด็กรักบ้านเกิดได้มากที่สุด เพราะเด็กรักและเชื่อฟังครู กิจกรรมที่ครูควรเตรียมในขั้นแรกได้แก่ การใช้คำถามปลายเปิด เพื่อกระตุ้นความคิดเกี่ยวกับสิ่งต่างๆบนดินใกล้ตัวเด็ก
กิจกรรมผจญภัยเกิดขึ้นในบริเวณโรงเรียน เด็กๆเลือกกลุ่มเพื่อนเองและสำรวจเนื้อดินในบริเวณต่างๆของโรงเรียน ครูได้กระตุ้นให้เด็กๆใช้ทรายสร้างถ้วยชาม เด็กๆสร้างเสร็จ ครูบอกให้เอาน้ำแกงมาใส่ชาม เด็กๆได้พบว่าชามที่สร้างจากทรายจะพังทันทีเมื่อถูกน้ำ ครูจึงชักชวนให้เด็กๆลองสร้างชามแกงใบใหม่จากดินในบริเวณต่างๆของโรงเรียน เด็กๆได้พบว่า ดินใต้ถุนอาคารไม้ ไม่เหมือนทราย เอามาปั้นเป็นชามใส่น้ำแกงได้ เด็กๆดีใจมาก เขาได้พบว่า บางที่เป็นดินทราย บางที่เป็นดินเหนียว บางที่เป็นดินที่ขุดได้ง่าย มีไส้เดือนเยอะแยะ เด็กๆเก็บตัวอย่างดิน สัตว์ที่พบบนดิน ซากใบไม้ เศษไม้ มาจัดนิทรรศการในตู้ใบจิ๋ว บันทึกสิ่งที่เห็นเป็นรายงานรูปภาพส่งครู วางแผนว่าพรุ่งนี้ บางกลุ่มจะสร้างคอกเลี้ยงหมู จะปลูกผัก และจะดูหน้าตาของไส้เดือนกันใกล้ๆในวันพรุ่งนี้ กิจกรรมเสรีและกลางแจ้งวันนี้ จึงเป็นการพาเด็กมาปั้นดินและเปิดโอกาสให้เด็กสัมผัสดิน เด็กๆได้ใช้ความคิด การสื่อสาร มีพัฒนาการทางภาษา เรียนรู้ผ่านการทดลอง เมื่อครูชักชวนให้สังเกตธรรมชาติของสิ่งต่างๆบนดิน เด็กๆได้เรียนรู้เรื่องความงาม ซึมซับถ่ายทอดเป็นงานสร้างสรรค์ที่ตนภูมิใจ เอาไปอวดพ่อแม่ดู สนุกกันทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน ที่สำคัญ เด็กๆได้เรียนรู้คุณค่าของผืนแผ่นดินบ้านเกิดของเขาอย่างมีความสุขค่ะ

โดย : นาง วันชมพู บุญทวงษ์, โรงเรียนบ้านห้วยกุ่ม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชลบุรี เขต 3, วันที่ 4 พฤษภาคม 2545