ประสบการณ์เชิงจิตวิทยา

ประสบการณ์ในเชิงจิตวิทยาจากการปฏิบัติงาน
เนื่องจากข้าพเจ้ามีอาชีพเป็นครู เป็นข้าราชการ ฉะนั้นประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้จิตวิทยาก็มักจะเกี่ยวข้องกับนักเรียน หรือเรื่องเกี่ยวกับการเรียนการสอน หรือเกี่ยวกับบุคคลที่อยู่ในแวดวงเดียวกันเช่นเพื่อนครู หรือผู้บริหาร ข้าพเจ้าขอนำเสนอเป็นเรื่อง ๆไปดังนี้
1. ห้องเรียนที่ไม่มีใครต้องการ ปีการศึกษา 2537 ข้าพเจ้าได้รับการแต่งตั้งจากโรงเรียนให้เป็นรองผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายปกครอง ช่วยดูแลนักเรียนเกี่ยวกับความประพฤติของนักเรียนจำนวน พันกว่าคน โดยความร่วมมือของอาจารย์ที่ปรึกษา ปรากฎว่าส่วนใหญ่ทุกห้องเรียนก็ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยเป็นระเบียบตามกฏเกณฑ์ของโรงเรียน แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดาซึ่งมีอยู่ห้องเรียนหนึ่งคือห้อง ม. 4/4 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน ความประพฤติ เป็นที่ระอาของครูอาจารย์ของครูที่สอนในชั้น มีเสียงบ่นฝากมาเรื่อยๆ เช่นหนีเรียน ไม่เคยมาเข้าแถวเชิญธงชาติทันเวลา นักเรียนห้องนี้มี 44 คน มาเข้าแถว ทันเวลาประมาณ 4- 5 คนเท่านั้นที่ปรึกษาก็หมดกำลังใจ ผมในฐานะรองผุ้ช่วยฝ่ายปกครองจึงเข้าไปช่วย โดยเข้าไปสัมผัสใกล้เพื่อหาสาเหตุ ซึ่งก็พอสรุปได้ดังนี้
สาเหตุเชิงจิตวิทยา
1. นักเรียนทั้งห้องส่วนใหญ่เรียนไม่ดี มีความรู้สึกว่าตัวเองมีปมด้อย
2. นักเรียนมักจะถูกตอกย้ำจากครูอาจารย์เสมอในเรื่องของการเรียนและอื่น ๆไม่เคยได้รับคำชม
3. นักเรียนไม่เคยได้รับแรงเสริมใดๆจากทางโรงเรียนในเรื่องของการทำดีแม้ว่าจะมีศักยภาพที่สามารถปฎิบัติได้
4. นักเรียนถูกทอดทิ้งขาดการเอาใจใส่ในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
5. นักเรียนขาดความรัก ความเมตตา จากอาจารย์ที่ปรึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้อง
6. นักเรียนขาดความใกล้ชิดระหว่างกันและกันกับที่ปรึกษา
7. นักเรียนยังต้องการความเข้าใจ ความเป็นกันเองกับที่ปรึกษา และอาจารย์อื่น
หลังจากได้สรุปปัญหาและพยายามแก้ตามสาเหตุ ก็พยายามเสริมแรงทั้งทางตรงทางอ้อม โดยร่วมมือร่วมใจกันกับอาจารย์ที่ปรึกษาส่งแรงให้นักเรียน อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องดังนี้
1. กระตุ้นให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น
2. ส่งเสริมให้รู้จักค้นหาความสามารถของตนเองเพื่อจะได้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง
3. ให้ความรักความเมตตา ให้เวลาใกล้ชิด ให้ความสำคัญ สร้างความเข้าใจ
4. ส่งเสริมยกย่อง ให้คำชม ในกรณีทำดี หรือพัฒนาตัวดีขึ้นเป็นลำดับ
ปรากฏว่าภายในเวลา 1 เดือน นักเรียนที่มาทันเข้าแถวตอนเช้า มากขึ้น เกือบเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์
ผลที่เกิดขึ้นจาการเปลี่ยนพฤติกรรมของนักเรียนไปในทางที่ต้องการน่าจะมาจากสาเหตุทางจิตวิทยาหลายประการดังต่อไปนี้
1. การให้แรงกระตุ้นภายนอกเช่นคำชม ให้ความอบอุ่นให้ความรัก ให้ความใกล้ชิด
2. การเกิดความเชื่อมั่นในตนเองเป็นผลมาจากการค้นพบว่าตนเองมีความสามารถพิเศษในด้านใดบ้าง การประสบผลสำเร็จในงานที่ปฎิบัติ จะมีผลทำให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้นทำให้ความเชื่อมั่นที่จะปฎิบัติตนให้เป็นไปตาม จารีต กฎเกณฑ์ที่สังคมวางไว้ ไม่มีพฤติกรรมโต้แย้ง

นอกจากประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับนักเรียนแล้วขอนำประสบการณ์ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนใน
การปฎิบัติงานสำนักงานจากเพื่อน ๆผู้บังคับบัญชานำเสนอให้ทราบดังนี้

ข้อคิดเบ็ดเตล็ดเชิงจิตวิทยาของข้าราชการ
1. ข้าราชการบุรุษนั้น ย่อมไม่ยินดีเป็นลูกน้องข้าราชการสตรีโดยสมัครใจเลยนอกจากจำใจ เว้นแต่บุรุษผู้หวังจะมุดกระโปรงสตรี
2. ข้าราชการแก่อายุ เพราะเหตุรับราชการมานานนั้น ย่อมไม่เต็มใจเป็นลูกน้องข้าราชการหนุ่มสมองใส
3. ข้าราชการที่เคยเป็นมือรองของหัวหน้างานมาก่อน เมื่อมีโอกาสขึ้นเป็นแทนนายเก่ามักจะไม่มีผลงานที่ก้าวหน้ากว่าเดิมแม้แต่คนเดียว เพราะความเคยชินอย่างหนึ่ง เพราะถูกครอบงำความคิดนานอย่างหนึ่ง
4. ข้าราชการที่สามรถสร้างงานให้ก้าวหน้าได้จริง ๆ นั้น มักจะไม่ใช่คนเก่าในหน่วยงานเก่า แต่จะเป็นลูกป่าที่มาจากหน่วยงานอื่นเสียโดยมาก
5. ข้าราชการทำงานมานานจนอายุ 50 ปีนั้น ถึงแม้จะไม่ใช่คนดีมาความสามารถสูง หรือคนวิเศษวิโส อะไร ก็ย่อมจะเป็นคนดีพอตัว มิฉะนั้นเขาจะไม่มีอายุยืนในทางราชการมาได้ถึงเช่นนั้น
6. ข้าราชการที่ทำงานเช้าชามเย็นชาม นั้น ก็คงมีอยู่ทุกวงการทุกยุคทุกสมัยอย่าได้แปลกใจเลย เพราะถ้าหากข้าราชการทุกคนดีเหมือนกันเก่งเหมือนกันหมด เขาก็คงเป็นอธิบดีเหมือนกันหมดทุกคน
7. ข้าราชการที่กินเหล้าเมาหัวราน้ำนั้น ก็จะมีอยู่บ้างเป็นธรรมดาโลก บางที่หากเราเป็นเขา เราก็อาจจะเมาเหมือนเขาก็ได้
8. ข้าราชการที่ทุจริตคอรัปชั่นนั้น ก็คงมีอยู่คู่โลกของข้าราชการ เพราะมันเกิดมาจากความโลภของมนุษย์ตราบใดที่มนุษย์ยังมีความโลภ ก็ต้องมีข้าราชการโลภ เมื่อมีข้าราชการโลภก็ต้องมีข้าราชการคอรัปชั่นฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นธรรมดา การแก้คอรัปชั่นไม่ใช่แก้ที่ระเบียบ กฎหมาย ไล่ออก หรือเอาเข้าคุกเท่านั้น แต่แก้ได้ด้วยระบบ เช่น ข้าราชการทุกคนต้องแจ้งทรัพย์สินของตนตั้งแต่แรกเข้า แจ้งทุกปีจนกระทั่งออก
9. อย่าแปลกใจเลย ที่มีข้าราชการที่ทำงานอย่างเกียจคร้าน และบางทีก็มีปัญญาอันโง่เขลาอยู่บ้าง เพราะอันที่จริงนั้น ข้าราชการไม่มีคนเก่งจริง คนเก่งจริงไม่เป็นข้าราชการ คนเก่งจริงจะประกอบธุระกิจของเขาเอง เป็นพ่อค้า นายธนาคาร และนักอุตสาหกรรมร่ำรวย นับรอยล้านพันล้าน
10. ข้าราชการที่มีอายุ ตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป เขาจะเริ่มหยุดคิด มองดูชีวิตการงานที่ผ่านมา มองดูชีวิตราชการที่เหลือน้อย เขาจะเริ่มถอย เริ่มหยุด ไม่บุกงาน ไม่ริเริ่มสร้างงานใหม่อีกแล้ว
11. ข้าราชการที่ใกล้เกษียรอายุ ถ้าหากไม่มีหลักฐานบ้านเรือน หรือหมดห่วงกังวลในเรื่องภาระทางครอบครัว ก็จะเริ่มลังเลว่าควรจะทำดีต่อไปหรือว่าควรแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตัวเสียก่อนพ้นตำแหน่งหน้าที่ เหตุนี้แหละข้าราชการบางคนจึงมีอาการ “เรื่อล้มเมื่อจอดตาบอดเมื่อแก่”
12. การรับราชการนั้น เหมือนเดินหลงอยู่ในดงฝ้ายสีกากี หาทางออกไม่เจอเผลอ ๆ ไปนั่งอยู่ริมธารน้ำใส เห็นรูปหน้าตาตัวเอง หัวงอกขาวโพลน เสียแล้ว ก็ยังไม่ได้ไปถึงไหน
13. สังคมข้าราชการนั้นเป็นสังคมประหลาด เป็นโลกอีกโลกหนึ่งต่างหากจากโลกของชาวบ้าน การเลี้ยงรับเลี้ยงส่งเป็นของธรรมดา อวยพรวันเกิด ปีใหม่ เป็นของสำคัญ ของขวัญนั้นเรียกว่า คนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ เจ้านายนั้นบางทีก็สำคัญเหนือกว่าพ่อแม่ ลูกเมียเสียอีก ข้าราชการสตรีบางคนนั้น นอนกับนายมากกว่านอนกับผัวก็ยังมี ข้าราชการชายบางคนนอนกับลูกน้องมากกว่านอนกับเมียก็มี
14. ความดีความชอบของข้าราชการนั้น ไม่ใช่ความดีในราชการ หรือความชอบในราชการอย่างแท้จริง เป็นความดีส่วนตัวและความชอบส่วนตัวเสียตั้งครึ่งค่อน ถึงจะราชการดี มีความชอบ แต่ถ้านายไม่เห็นดีและนายไม่ชอบข้าราชการผู้นั้นก็จะได้ดีโดยไฉน
15. คนเราจะเป็นอะไรเองไม่ได้เลยสักอย่างเดียว จะเป็น “ลูก” ได้ก็ต้องมีพ่อแม่ จะเป็นผัวได้ก็ต้องมีเมีย จะเป็นเมียได้ก็ต้องมีผัว จะเป็นข้าราชการชั้นใด ๆ ก็ต้องมีเจ้านายสั่งแต่งตั้ง โยกย้ายเลื่อนตำแหน่งให้ แต่งตั้งเสมียนถึงปลัดกระทรวง เราเพราะฉะนั้นการเป็นข้าราชการนี้ จะดีวิเศษอย่างไร ถ้าไม่มีคนสั่งแต่งตั้ง ก็เป็นอะไรไม่ได้เลย คนที่เป็นข้าราชการจึงอวดดีกับนายไม่ได้ ขืนอวดดีก็จะอดดีและไม่ได้ดี
16. ข้าราชการที่ซื่อสัตย์สุจริตนั้น ไม่ใช่จะดีเสมอไปดอก ตรงกันข้ามข้าราชการที่ซื่อสัตย์สุจริตนั้น ชีวิตราชการอับเฉาเสียโดยมาก เพราะความซื่อสัตย์สุจริตไม่เหมาะกับอาชีพราชการเท่าใดนัก เหมาะกับการบวชเป็นพระเสียมากกว่า
17. ข้าราชการที่มีทัศนคติว่า เป็นข้าราชการต้องทุจริต ต้องฉ้อราษฎร์บังหลวงนั้น มักจักอยู่ในราชการไม่นาน มักถูกไล่ออกก่อนที่จะได้ดีมีตำแหน่งหน้าที่สูงพอที่จะทุจริตได้มาก ๆ เพราะวงราชการไม่ใช่ของคนทุจริตชั่วร้าย
18. คนทุจริตคนโกง รีดไถ เบียดเบียน ฉ้อราษฎร์บังหลวงนั้น ไม่เคยมีใครมีชื่อเสียงโด่งดังในวงราชการ จนปลดเกษียณอายุเลยแม้แต่คนเดียว เพราะสังคมข้าราชการนั้น จะคัดเลือกคนดีพอสมควรไว้เสมอเหมือนมีตะแกรงที่ร่อนทรายหยาบและทราบละเอียดออกไปเหลือแต่เม็ดทรายที่ต้องการไว้เท่านั้น
19. อันที่จริงการรับราชการนั้น ก็เป็นอาชีพหนึ่ง เมื่อแรกเข้ารับราชการนั้นก็หวังเพียงจะมีเงินเดือนเลี้ยงชีพ ส่วนยศศักดิ์ ลาภทานนั้นเป็นสิ่งตามมาภายหลัง อำนาจก็ติดตามมาตามตำแหน่งหน้าที่ แต่บางทีคนก็ลืมตนไปว่า การเป็นข้าราชการนี้จะต้องมีอำนาจยศศักดิ์ และมีลาภทาน สักการะ มีลาภผล รายได้พิเศษความคิดนี้ คือความคิดของคนที่ลืมตัวเท่านั้น
20. ข้าราชการบางคนบ่นว่าเบื่องานเต็มที อยากจะลาออก เมื่อประสบกับสิ่งที่เป็นอุปสรรถขวากหนามในหน้าที่การงาน เจ้านายไม่ชอบไม่เลื่อนขั้นเงินเดือนไม่ได้สองขั้นเหมือนใจคิด ไม่มีมิตร มีแต่ศตรู ลูกน้องไม่รัก อะไรสาระพัดจะพูดบ่น หรือถ้อถอย แต่เขาลืมไปว่า ไม่ว่าอาชีพการงานอะไรในโลกนี้ ย่อมจะลำบากยากเหนื่อยทั้งนั้นไม่เหนื่อยกายก็เหนื่อยใจ ข้าราชการงานสาย ใครทนไม่ได้ ก็อย่าไปทำอะไรกินอีกเลยนอนเล่นดีกว่า
21. ข้าราชการบางคนบ่นจะลาออกวันละร้อยหน แต่ขอให้ลองถามตัวเองดูว่าถ้าลาออกไปวันนี้แล้ว ความรู้ความสามารถขนาดนี้ ถ้ามีใครเขาจ้าง เขาจะจ้าง เราเท่าเงินเดือนที่เราได้รับอยู่ขณะนี้ หรือไม่ ถ้ามีใครเขาจ้างเราก็ลาออกไปเถิด แต่ถ้าหากลาออกไปคว้าง ๆอยู่ก็คิดหน้าคิดหลังให้จงดีและเมื่อคิดได้ดังนี้ ก็จงขยันทำงานให้มากขึ้นกว่าเดิม
22. ข้าราชการบางคน โลภจริตแรงกล้า คิดแต่จะรวยทางลัด รวยเร็ว จึงคิดหาทางทุกท่าทีจะหาเงินเข้ากระเป๋า แรกก็เอาเล็กเอาน้อย หนักเข้าก็เอามาก คนจำพวกนี้มีคติสองอย่างคือ รวยเร็วทันตาเห็น รวยกว่าคนที่มีตำแหน่งหน้าที่เท่ากัน แต่ไม่เจริญก้าวหน้ามากนัก อีกอย่างหนึ่งก็เจริญก้าวหน้าในที่ที่ดีด้วย เพราะเอาเงินช่วยเป็นแรงผลักดันแต่แรงผลักดันอันผิดปกติธรรมดา นี้ ทำให้เขาไปหักลงกลางคัน ไม่ทันปลดเกษียรอายุ
23. แรงผลักดันที่ทำให้ข้าราชการเจริญก้าวหน้านั้น มีอยู่หลายประการกล่าวคือ 1. ความรู้ 2. ความสามารถ 3. ความฉลาด 4. ความขยัน 5. ความอดทน 6. ความประหยัด 7. ความซื่อสัตย์ 8. ความกตัญญู 9. ความรู้จักตน 10. ความรู้จักเหตุ 11. ความรู้จักผล 12. ความรู้จักประมาณ 13. ความรู้จักกาล 14. ความรู้จักท่าน 15. ความรู้จักสังคม ดังนี้เป็นต้น
24. บุญวาสนานั้นเห็นได้ชัดในวงราชการ คือ คนที่จะได้ดี มีอำนาจหน้าที่สูงเด่นเป็นหัวหน้าคนมากนั้น จะต้องประกอบด้วยบุคลิกลักษณะ คือ รูปกายภายนอกดีเด่นอย่างหนึ่ง สติปัญญาความสามารถสูงอย่างหนึ่ง สุขภาพแข็งแรงดีไม่มีโรคภัยเบียดเบียนบั่นทอนอย่างหนึ่งใครขาดสิ่งเหล่านี้คือขาดบุญวาสนาไม่อาจดำรงตำแหน่งสูงได้ เพราะฉะนั้นใครเขาได้ดี ก็จงอย่าคิดริษยาเลย จงพินิจพิจารณาดูว่าเขามีดีอะไรอยู่ในตัวซึ่งเราไม่มี
25. ชาติตระกูล เจ้านาย หรือขุนนางเก่านั้น ก็ช่วยได้เพียงสองอย่างคือทำให้ผู้นั้นภูมิฐานทางจิตใจ มีความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่หวั่นไหวแลทำให้ผู้อื่นเชื่อถือ แต่ถ้าขาดคุณสมบัติที่สำคัญอย่างอื่นประกอบเช่นความรู้ความสามารถและคุณธรรมในใจเสียแล้ว ก็ไม่ช่วยให้ผู้นั้นมีตำแหน่งหน้าที่ยศศักดิ์สูงได้เลย
26. สิ่งที่ส่งเสริมเป็นกำลังหนุนข้าราชการอีกประการหนึ่งที่สำคัญก็คือ คู่คิดได้แก่สามีหรือภรรยา เป็นคู่ส่งเสริบารมีให้ข้าราชการผู้นั้นเจริญก้าวหน้าได้มากเท่า ๆ กับตังของผู้นั้นเอง ถ้าหากได้คู่ครองที่ดี แต่ก็เป็นแรวถ่วงให้จมดินจมโคลนและตกนรกหมกไหม้ได้ง่ายมากถ้าหากได้คู่ครองที่ต่ำทราม เป็นคู่เวรคู่กรรมหรือคู่ล้างผลาญ
27. การเป็นข้าราชการนี้ จะว่าเป็นบุญวาสนาก็ได้เพราะว่ามีคนอื่นอีกมากมาย อยากเป็นแต่มิได้เป็น เพราะฉะนั้นเมื่อเราได้เป็นข้าราชการทั้งทีในชาตินี้ ก็จงเป็นข้าราชการที่ดีที่สุดเท้าที่จะดีได้อย่าให้ต้องเสียใจภายหลัง เมื่อออกจากราชการไปแล้ว
28. การเป็นข้าราชการนี้ จะต้องถามตัวเองดูให้ดีเสียก่อน แล้วตอบคำถามตัวเองให้ได้โดยแน่ชัดว่า เราจะเอา ดี จะเอา เด่น จะเอาโด่ง หรือจะเอา ดัง ในทางราชการ ถ้าจะเอาโด่ง ไม่นานก็จะเด็ง ถ้าจะเอาเด่น ไม่นานก็จะด้อย ถ้าจะเอาดัง ไม่นาน ก็ดับ แต่ถ้าจะเอาดี หมั่นทำความดี ไม่นานก็จะได้ดีตามลำดับ
29. ถึงจะคิดเอาดีทางราชการ ก็ต้องถามตัวเองดูเสียด้วยนะว่า ใครเล่าจะช่วยให้เราดี ลูกน้องใช่ไหม มิตรสหายใช่ไหม เจ้านายใช่ไหม หรือว่าประชาชน หรือสื่อมวลชน ถูกแล้ว คนเหล่านี้ล้วนแต่เป็นกำลังสำคัญส่งเสริมให้เราได้ดีทั้งสิ้น ถ้าเรามีมนุษย์สัมพันธ์กับคนเหล่านี้ด้วยดี แต่คน แต่คนเหล่านี้หนุนเราให้ได้ดีไม่เท่ากันหรอก สมมุติว่าเรากำลังพยายามจะขึ้นภูเขาใหญ่ ซึ่งขึ้นยากหนักหนา ก็ต้องมีคนรอบข้างช่วยดึงเชือก ดึงมือขึ้นไป คนข้าง ๆช่วยประคองให้มั่นคงคนอื่นก็คอยเอาใจช่วยส่งเสียงเชียร์ให้กำลังใจอยู่ คนที่จะดึงเราขึ้นไปบนภูเขาได้แรงที่สุด คือคนที่นั่งชัดรอกเราอยู่ข้างบนนั่นแหละ คนผู้นั้นคือใครเล่าถ้าไม่ผู้ใหญ่หรือเจ้านายเรา
30. ข้าราชการบางคนหลงผิด คิดว่าข้าราชการไดดีเพราะทำงานดีอย่างเดียว คนพวกนี้ก้มหน้าทำงานงุดไปเหมือนโคกินหญ้า ไม่มองหน้าใคร ไม่คบเพื่อนฝูง ไม่เข้าสังคมไม่ขึ้นแก่เจ้านายคนไหน แต่เมื่อเขาทำงานไปได้สักระยะหนึ่งเงยหน้าขึ้นดูเพื่อนฝูง เขาก็ล้วนแต่ก้าวหน้า ได้เลื่อนเงินเดือนเลื่อนตำแหน่งไปไกลกว่าตน ทั้ง ๆ ที่เขาก็ไม่ใช่คนขยันขันแข็งนัก ข้าราชการประเภทนี้ก็มีความรู้สึกงงงันมาก ว่าข้าราชการได้ดีเพราะอะไร ไม่ใช่ได้ดีเพราะขยันทำงานแน่นอน เพราะเราขยันแต่ไม่ได้ดี แต่เขาหาได้รู้สึกตัวไม่ว่าเขาเป็นข้าราชการที่ไม่เอาเพื่อน ไม่เอานาย ไม่เอาไหน เขาจะได้ดีโดยไฉนข้าราชการประเภทนี้ ต้องมีสุภาษิตตัวโต ๆ เขียนไว้บนโต๊ะทำงานว่า “ก้มหน้าทำงานเต่าล้านปี ไม่มีใครได้ดีในราชการ ”
31. ข้าราชการบางคนนั้นก็เป็นคนดีเกินไปในวงราชการ คือ ไม่มีอบายมุขเลย สโมสรไม่เข้า เหล้าไม่กิน บุหรีไม่สูบ ร้านกาแฟไม่นั่ง บาร์ไม่เข้า ไนท์คลับไม่รู้จัก ร้านอาหารหรูๆ ไม่เคยเห็น โรงหนังไม่เคยย่างกรายเข้าไปดู การพนันไม่เคยเล่น เช้าไปทำงานเย็นกลับบ้าน เดินทางเส้นตรง ไม่เคยแวะเวียนที่ไหน นับเดือนนับปี เดินทางเส้นเดียวระหว่างบ้านกับที่ทำงาน ข้าราชการประเภทนี้ มักจะจำเจอยู่ในตำแหน่งเดิมนานเต็มที จนในที่สุดก็เซ็งในชีวิต เหมือนเครื่องยนต์ที่แบตเตอรี่หมดกำลัง บางคนถึงแก่เป็นโรคประสาทอ่อน ๆ เบา ๆ หวิว ไป ไม่เข้าใจโลกและชีวิตมากขึ้นทุกที ข้าราชการประเภทนี้มักจะดักดานอยู่ในตำแหน่งเดิมนานเกินควร เพราะเขาเป็นคนดีเกินไปในวงราชการ
32. ธรรมชาติของคนมีตาไวสำหรับมองดูผู้อื่น จนลืมมองดูตนเองคนส่วนมากเกือบ 100 % จึงรู้จักผู้อื่นยิ่งกว่าตัวเอง การจะรู้จักตัวเองได้ก็ต้องฟังเสียงติชมของคนอื่น แต่เสียงของคนอื่นนั้น เสียงของมิตรสหาย เสียงของคนรัก ย่อมฟังไพเราะเสนาะโสตเสมอ เสียงของศัตรูหรือเสียงคนอื่นที่เขาไม่ชอบเรา มักเป็นเสียงที่ไม่เพราะหู เหมือนท่านว่า “ หวานเป็นลมขมเป็นยา” เสียงของมิตรนั้นบางทีกินมาก ๆ ก็จะเป็นลม แต่เสียงของศัตรูนั้นเหมือนเหมือนกับบอระเพ็ดขม แต่ก็เป็นยาแก้โรคโมหะจริต โลภะจริต และโทสะจริตของเราได้อย่างดี
33. ปากคนยาวกว่าปากกา นั้นเป็นคำพังเพยของไทยที่แสดงถึงความจริงอย่างหนึ่ง คือปากของนกกา สีดำ ๆ ที่มันร้อง กาๆ นั้น เขาว่ามันร้องบอกข่าวคน จึงมีคำพูดว่า “กาบอกข่าว” แต่ว่าปากของคนนั้นยาวยิ่งกว่าปากของกาหลายเท่านัก เล่ากันว่า คน ๆหนึ่ง ไปนั่งส้วมแบบโบราณพอเบ่งถ่ายอุจาระพรวดออกไป มีนกตัวหนึ่งบินปรื่ออกไปจากส้วมนั้น ชายคนนั้นก็เป็นคนโง่เขลาจึงสงสัยว่า แกปวดท้องมานาน เจ้านกตัวนี้เองคงจะอยู่ในท้องแก เพราะคนกระทำย่ำยีทางคุณไสย แกก็เอามาเล่าให้เมียฟัง ว่านกบินออกจากตูดแก่ตัวหนึ่ง เมียก็เอาไปเล่าให้เพื่อนบ้านฟังว่า เมื่อวานมีนกบินออกจากตูดพี่ 3 สาม เพื่อที่จะคุยโอ่ว่าใครอย่ามากระทำย่ำยีพีเขานะ เขามีดี เพื่อนบ้านก็ตาลุกตาพองเล่าต่อ ๆไป จนสุดท้ายมีคนมาพูดกันว่า นกกระจอกบินออกจากตูดตาคนนั้นตั้งฝูง เลื่องลือกันไปใหญ่ขาราชการก็เหมือนกัน ข่าวลือของคนนี้ ถ้ามีใครกุขึ้นมาเพื่อใส่ร้ายป้ายสีเข้าแล้ว ข่าวนั้นต้องลุกลามไปเหมือนไฟไหม้ป่า ถ้าหากว่าข้าราชการคนนั้นยิ่งเป็นคนใหญ่คนโตมีอำนาจวาสนามาก ข่าวทำลายก็ย่อมมีมากเป็นทวีคูณ เพราะฉะนั้นใครที่โดนเข้าก็ต้องทำใจให้มั่นคงต่อข่าวลือที่ใส่ร้ายป้ายสีตนให้จงดี ทางที่ดีอย่าเดือดร้อน อย่าแก้ข่าวอะไรเลย อย่าว่าแต่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ผู้น้อยอย่างเราเลย ถึงแม้ว่านายกรัฐมนตรี ก็เคยมีข่าวร้ายทำลายกันในทางการเมืองมาแล้ว เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ก็หาพ้นข่าวลือใส่ร้ายทำนองเดียวกันนี้ไม่ ใครไม่เคยได้ยินข่าวลือ ก็ไม่ใช่คนไทยตื่นข่าว คนลาวตื่นผีนั่นเอง
34. ความลำเอียงนั้น ใครอย่าปฎิเสธว่าตนไม่มีความลำเอียงเพราะความลำเอียงเป็นธรรมชาติของพืชสัตว์และมนุษย์ในโลกนี้ แม้แต่ต้นไม้ไม่มีจิตใจยังเอียงลำต้นเข้าหาแสงแดด คนเรานี้ก็มีความลำเอียงอยู่ในใจทุกคนลำเอียงเข้าหาตัวเอง เข้าข้างลูกพี่ เข้าข้างลูกน้อง เข้าข้างเมีย เข้าข้างผัว เข้าข้างญาติ เข้าข้างมิตร เข้าข้างนักเรียนร่วมรุ่น ร่วมโรงเรียน เข้าข้างคนจังหวัดเดียวกัน เข้าข้างคนพวกเดียวกัน ไม่ว่าใครไม่ว่าชาติไหนทั้งนั้น สมมุติว่าเราได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี เราจะเลือกเอาใครมาร่วมรัฐบาล ก็ต้องเหมือนกับนายกรัฐมนตรีทุกคน ที่เป็นมาแล้ว เลือกเพื่อนร่วมโรงเรียน ร่วมรุ่น ร่วมพรรค ร่วมภาค เลือกคนที่รักใคร่ไว้วางใจ เลือกเอามิตร ไม่เลือกศัตรู เลือกเอาคนของเราทั้งนั้น เพราะเหตุนั้น จึงอย่าได้โวยวายไปเลยว่าเขาลำเอียง นายลำเอียง มันก็ต้องเป็นอย่างนั้นแหละเพื่อนเอ๋ย ไม่ว่าเขาหรือเรา ตกตาเราเราก็อาจจะลำเอียงยิ่งกว่านั้นก็ได้ ข้าราชการเราก็ต้องเข้าใจธรรมชาติของคนในข้อนี้ให้ดี จะปลงใจได้และมีความสุข แล้วหาทางเหนี่ยวใจนายให้ “เอียง” มาหาเราบ้าง
35. คำว่า “รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม นั้นจะแปลว่าอะไรก็ช่าง แต่สำหรับข้าราชการต้องหมายความว่า การเรียนรู้เรื่องนายไว้นั้น ไม่ใช่สิ่งหนักหนาอะไรการที่จะเข้ากับนายด้วยดีนั้น จำเป็นต้องเรียนรู้ประวัติของนายอุปนิสัยใจคอของนาย รานิยมของนาย ท่านชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เราจะได้ทำตัวให้เข้ากับนายได้ นายจะได้รักใคร่ชอบพอเรา ถูชะตาถูกนิสัยใจตอนาย นายจะได้ส่งเสริมเรา เพราะตามธรรมดาคนที่ชอบกันก็จะรักใคร่สงเสริมกันแต่การเรียนรู้ของนายมิใช่เอาไว้สำหรับเอาไว้นินทานาย มิใช่เอาไว้สำหรับเป็นอาวุธทิ่มแงนาย คนประเภทหลังนี้ ไม่เคยเห็นมีใครได้ดีมีความสุข ความเจริญ และไม่เห็นใครเป็นคนดีสักคนเดียว
36. “ถ้าเราไม่ก้าวไปข้างหน้า เราก็จะอยู่ล้าหลังเขา เพราะคนอื่นเขาก้าวไปข้างหน้าทุกเวลานาที” คำกล่าวเช่นนี้เป็นสัจจธรรมที่ว่าได้โดยเฉพาะในวงราชการ ถ้าหากเราไม่ก้าวไปข้างหน้า ก็เท่ากับเราอยู่กับที่แต่เพื่อนกันเขาก้าวไปข้างหน้าเสมอ ไม่ช้าเราก็จะกลายเป็นคนอยู่ล้าหลังเงินเดือนเท่า ๆกัน ถ้าเพื่อนเขาได้เลื่อน 1 ขั้น 2 ขั้น เราก็เริ่มตามไม่ทันเพื่อนแล้วถ้าเพื่อนได้เลื่อนขั้นเลื่อนระดับ เราไม่ได้เลื่อน เราก็จะล้าหลังเขาอีกในระดับหนึ่ง ถ้าเพื่อนได้เลื่อนตำแหน่งไป เราไม่ได้เลื่อน เราก็จะล้าหลังเขา เพราะฉะนั้นผู้ที่เริ่มทำงานมาพร้อม ๆกันได้รับเงินเดือนเท่ากันในตำแหน่งเสมอกัน 25 ปีให้หลัง คนหนึ่งได้เป็นอธิบดี แต่อีกคนหนึ่งได้เป็นแค่หัวหน้าแผนก หัวหน้ากอง ก็มีอยู่ถมไป
37. ข้าราชการที่เป็นนักบริหารที่เป็นนักเขียน เขียนตำราการบริหารออกมาเล่มโต ๆ นั้นอย่าได้หลงเชื่อว่าเขาเป็นนักบริหารที่ดี มีความสามารถในการบริหารงาน ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงอะไรเลย บางทีเขาก็บริหารล้มเหลว หรือเป็นนักบริหารที่ไม่ประสบความสำเร็จ หรืออาจถึงขั้นเป็นนักบริหารชั้นเลวก็ได้ เพราะความสามารถในการบริหารกับความคิดเห็นในการบริหารนั้นไม่เกี่ยวกันเลย อยู่คนละส่วนเหมือนน้ำกับน้ำมัน ไม่ปะปนกันเลย เพราะความคิดในทางบริหารนั้นเป็นทฤษฎีที่ยังไม่ได้รับการประยุกต์ให้เหมาะกับากละเทศะ บุคคล และสังคม ส่วนความสามารถในการบริหารนั้นเป็นศิลปที่ได้รับการประยุกต์เอามาใช้ให้เหมาะกับกาละเทศะ บุคคลและสังคมวัฒนธรรม เป็นอย่างดี พอเหมาะ พอเจาะ จนได้รับความสำเร็จ และมีชื่อเสียงเป็นที่นิยมว่าเป็นนักบริหารชั้นดี
สรุปข้อคิดทั้ง 37 ประการนี้จัดว่าเป็นความคิดเห็นเชิงจิตวิทยาที่จะมีส่วนกระตุ้นผลักดัน เสริมแรงหรือทำให้เกิดการใคร่ควรตริตรองในการปฎิบัติงาน หรือแสดงพฤติกรรมต่าง ๆในองค์กรใหญ่ๆที่เรียกว่างานราชการได้ดีและถูกต้องตามกาล.
****************************
บรรณานุกรม
1. เทพสุนทร ศารทูล. ปรัชญา ข้าราชการ.กรุงเทพฯ.สำนักพิมพ์พระนาราย
2. กมล สุดประเสริฐ ,สุนทร สนันท์ชัย.2541.วิสัยทัศน์ทางการศึกษา.กรุงเทพฯ.กองทุนสนับสนุนการวิจัย
3. กริช สืบสนท์ง2521.สูตรสำเร็จนักบริหาร.กรุงเทพฯ.ซีเอ็ด ยูเคชั่น


หมายเหตุ*******บทความนี้เป็น ของ นายวิทยา มาตรสิงห์ อาจารย์ 2 หมวดวิชาสังคมศึกษา
โรงเรียนคลองขลุงราษฎร์รังสรรค์ อ.คลองขลุง จ. กำแพงเพชร








โดย : นาย สุธีร์ วิชาพร, โรงเรียนคลองขลุงราษฎร์รังสรรค์, วันที่ 12 เมษายน 2545