จิตวิทยาสังคม

ศิลปการผูกรัก,จริตวิทยา,พุทธศาสนากับการพัฒนาการทางสังคม
ภาพของสังคมโลกในอนาคตในสายตานักวิจัยของธนาคารกสิกรไทยได้คาดการไว้พอจะสรุปได้ต่อไปนี้
1. จะมีระบบเศรษฐกิจและการค้าแบบไร้พรมแดน
2. มีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและการสื่อสารเป็นอย่างมาก สังคมโลกแคบลง(ยุคโลกาภิวัฒน์)
3. มีการลื่นไหลระหว่างวัฒนธรรมมากขึ้น
4. การเมืองแบบเสรีประชาธิปไตยจะได้รับความนิยมและเป็นที่ยอมรับทั่วโลก
จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางสังคมดังกล่าวข้างต้นย่อมมีผลต่อสังคมไทยอย่างหลีก
เลี่ยงไม่ได้ เพราะสังคมไทยเป็นสังคมเปิด ผลกระทบก็ย่อมมีทั้งด้านบวกและด้านลบ
ในทางสังคมวิทยา การเปลี่ยนแปลงทางสังคมกับปัญหาทางสังคมจะอยู่คู่กันจนกว่าสมาชิกในสังคมจะปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง
ในทางพุทธศาสนาจะมองเห็นการเปลี่ยนแปลงเป็นสัจจะธรรม(ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือกฎของไตรลักษณ์) และมองการพัฒนาด้านวัตถุ(ที่ไม่ตอบสนองต่อความจำเป็นขั้นพื้นฐาน)เป็นเรื่องของกิเลสเป็นที่มาแห่งความทุกข์ ถ้าจะให้หลุดพ้นจากความทุกข์ต้องลดละการกระทำ(กรรม)สิ่งเหล่านี้ลง ในขณะเดียวกันพระพุทธศาสนาก็ไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนาทางด้านวัตถุของมนุษย์เพราะถือว่าเป็นไปตามกฎของไตรลักษณ์ และวัตถุก็มีความจำเป็นต่อการดำรงค์ชีพของมนุษย์ในด้านพื้นฐาน หลักธรรมของ
พระพุทธศาสนาจึงแตกต่างจากศาสนาอื่นที่สอนเฉพาะหลักของศีลธรรม แต่พระพุทธศาสนาได้แบ่งหลักธรรมให้มนุษย์ได้ศึกษาไว้ 2 ระดับ
1. ระดับ โลกียะธรรม คือ หลักธรรม สำหรับคนทั่วไป เน้นการสอนศีลธรรมเพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
2. ระดับ โลกุตระธรรม คือ หลักธรรม ที่ปฏิบัติให้หลุดพ้นจากทุกข์
เมื่อพระพุทธศาสนามองว่าทุกสรรพสิ่งเป็นไปตามกฎของกรรมซึ่งอยู่ภายใต้สภาวะ
ธรรม จึงมีหลักธรรมในระดับโลกียะให้ผู้นับถือได้นำไปปฏิบัติให้บังเกิดความสุขในระดับที่ควรจะเป็นใน
โลกีวิสัย
การแก้ปัญหาแบบพุทธนั้นเน้นเหตุและปัจจัย เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน ต้องรู้เท่าทันปัญหานั้น (หลักอริยสัจ4)ค้นหาสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง(สมุทัย)โดยนำหลักธรรมที่มีอยู่มากมายของพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้
ปัญหาสังคมไทยในปัจจุบันและอนาคตเป็นปัญหาที่ซับซ้อน สาเหตุของปัญหาก็ซับซ้อนเช่นกัน การแก้ไขปัญหาจึงต้องอาศัยเหตุและปัจจัยที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อนแก้ปัญหาเช่นกัน
อย่างที่กล่าวมาข้างแล้วว่าการแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริงนั้น ต้องรู้สาเหตุของปัญหาอย่างแท้จริงหรือรู้เท่าทันปัญหา(ปัญญาในการแก้ปัญหา) สูตรสำเร็จทุกประเทศที่ต้องการให้สังคมพัฒนาก็คือการให้การศึกษาเพราะการศึกษาเป็นเครื่องมือของการรู้เท่าทันปัญหา ศาสตร์หรือวิชาการที่มนุษย์เราศึกษาอยู่นั้นมีอยู่มากมายหลายสาขา พระพุทธศาสนาก็ถือว่าเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งเช่นกัน
กระบวนการศึกษาศาสนาพุทธนั้นเรียกว่า “ไตรสิกขา” หรือเรียกกันทั่วไปว่า ศีล สมาธิ ปัญญา กระบวนการศึกษาของพุทธศาสนานั้น เป็นกระบวนการพัฒนาตนเอง และพัฒนาสังคม ตั้งแต่ขั้นต่ำจนถึงขั้นสูงสุด คืออริยบุคคลหรือสู่อิสรภาพให้ปลอดภัยจากกิเลสตัณหาต่างๆ
หลักธรรมของพระพุทธศาสนามีอยู่มากมาย ปัญหามีอยู่ว่าจะนำหลักธรรมมาประยุกต์ใช้ให้ตรงกับสถานการณ์การเปลี่ยแปลงทางสังคมอย่างรวดเร็ว ให้มีความสุขตามระดับกระบวนการพัฒนาตนเองได้อย่างไร จะทำอย่างไรที่หลักธรรมส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรมเพื่อให้พุทธศาสนิกชนทั่วไปเข้าใจและนำไปใช้อย่างเป็นระบบ
ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างการประยุกต์ใช้ตามหลักจิตวิทยา, จริตวิทยา ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ในการพัฒนาการในด้านสังคม เพื่อลดปัญหาสังคมในปัจจุบันและอนาคต
“จิตวิทยา… หมายถึงวิชาว่าด้วยจิต เป็นวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งว่าด้วยปรากฎการณ์ พฤติกรรม และกระบวนการของจิต
จริต…หมายถึง ความประพฤติ กิริยาอาการ จริตในหลักพระพุทธศาสนาหมายถึงพื้นเพของจิต มี 6 ประการ คือ
1. ราคจริต…รักสวยรักงาน 2 โทสจริต….ใจร้อนหงุดหงิด
3. โมหจริต…โง่เขางมงาย 4. สัทธาจริต…ซาบซึ้งเลื่อมใสศรัทธา
5. พุทธิจริต…มีความคิดพิจารณา 6. วิตกจริต…ความคิดฟุ้งซ่าน จับจด
ในแนวคิดดังกล่าวจึงมองภาพจิตวิทยาเป็นความรู้ทางศาสตร์ส่วนจริตวิทยาเป็นความรู้ทางด้านศิลป ซึ่งถ้าหากศึกษาร่วมกันก็จะเป็นศิลปศาสตร์ที่สมบูรณ์น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง”
(จริตวิทยา เส้นทางสู่ความเป็นเลิศของนักบริหาร ,ศิลปะการถ่ายทอด: ยุทธ์ พยัฆวิเชียร)
คำว่า “ดัดจริต”หลายคนคิดว่าเป็นสิ่งไม่ดี แต่ถ้าพิจารณาพื้นเพของจริตตามหลักของพุทธศาสนา
ทั้ง 6 ประการ จะเป็นบทสรุปถึงนิสัย ความประพฤติที่เคยชินของคน มีทั้งดีและไม่ดีปนกันอยู่ เมื่อจริตเป็นอย่างที่กล่าวมา ทุกคนจึงมีความจำเป็นต้องดัดจริตในสิ่งที่ดีงาม เพราะในแต่ละสังคมจะมีวัฒนธรรมประเพณีที่แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะวิวัฒนาการใหม่ ๆ ที่แทรกซ้อนเข้ามาอย่างรวดเร็ว จึงทำให้เราต้องดัดจริต ตัดสรีระให้อยู่ในสังคมนั้นได้เป็นอย่างดี ตามสิทธิหน้าที่ หากเราปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติความต้องการความเคยชินส่วนตนแล้ว คงจะตกยุคตกสมัย เข้ากับใครไม่ค่อยได้ ตัวอย่างการดัดจริตในสิ่งที่ดีงามเช่น มารยาทการรับประทานอาหาร,มารยาทการต้อนรับ เป็นต้น
เทคนิคในการเสริมสร้างพัฒนาการด้านสังคม
วิธีการสร้างมนุษย์สัมพันธ์ เพื่อสร้างความประทับใจแก่บุคคลรอบข้าง
1. ยิ้มแย้มแจ่มใส
2. ศึกษาจุดดีจุดด้อยของตนเองและผู้ที่เราติดต่อด้วยว่าเป็นอย่างไรเพื่อที่จะปรับตัวกับเขาได้ง่ายขึ้นและหลีกเลี่ยงการพูดจาไม่ให้กระทบปมด้อยของเขาและเลือกแต่ปมเด่นของเขามาพูด
3. รู้จักฟังมากกว่าพูด ทำให้เขารู้สึกว่าเป็นคนสำคัญ
4. ให้ความสำคัญแก่ผู้อื่น ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- พูดให้คนอื่นรู้ว่าเขาเก่ง ดี มีเกียรติ
- แสดงกิริยาสุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตนต่อเขา
- ปฏิบัติต่อเขาเยี่ยงบุคคลพิเศษ เช่นให้เขาได้สิ่งที่ดีที่สุดก่อนเรา
5. ไม่ทำตัวเด่น หรือเป็นผู้รอบรู้กว่าผู้อื่น
6. ไม่ควรแสดงความมั่นใจเกินไป จนไม่ยอมแพ้ใครและดูว่าเป็นคนก้าวร้าว
7. วางตัวให้ถูกกาละเทศะและบุคคลเช่นรู้ว่าควรวางตัวกับเพื่อนหรือผู้ใหญ่ในสถานการณ์ต่างกันอย่างไร
8. รู้จักสร้างความประทับในการพูด เช่นพูดจาอ่อนหวาน ไม่พูดยกตนข่มท่าน มีอารมณ์ขัน ไม่พูดเรื่องตัวเอง
มากเกินไป
9. มีความจริงใจต่อผู้อื่น เป็นกันเองและเปิดเผยในเรื่องที่เหมาะสม
10. รู้จักอดกลั้น ควบคุมอารมณ์
11. รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
12. รู้จักขอโทษเมื่อทำผิด
13. รู้จักการให้ เช่นให้อภัย
14. ไม่เห็นแก่ตัว
15. มีน้ำใจ มีความกระตือรือร้นที่จะให้ความช่วยเหลือผู้อื่น
วิธีการสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจ พอใจและเชื่อถือ
1. ใช้ภาษาที่ง่ายเหมาะสมกับวัยและบุคคล
2. พูดเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ และเป็นประโยชน์
3. พูดให้น้อย ฟังอย่างใส่ใจให้มาก
4. พูดจาสุภาพอ่อนโยน
5. ให้เหตุผลในการพูดมากกว่าอารมณ์
6. หยิบแต่ส่วนดี ๆ ของผู้อื่นมาพูด
7. รู้จักชมเชยผู้อื่นและวิจารณ์เชิงสร้างสรรค์
8. ใช้มุขตลกแบบสุภาพ
9. มองโลกในแง่ดี
10. สื่อสารอย่างจริงใจ โดยไม่ตำหนิผู้อื่นได้แก่สื่อถึงความรู้สึกของตนเองต่อสถานการณ์นั้นๆ ที่ทำให้ตรู้สึก
ไม่สบายใจ ก่อนที่จะบอกถึงความปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นเปลี่ยนแปลงเช่น "เราอึดอัดนะที่เธอไม่ค่อยให้ความ
สำคัญกับการทำงานกลุ่มอยากให้เธอช่วยทำเรื่อง........หน่อยได้ไหม" การสื่อความรู้สึกจะช่วยให้อีกฝ่ายไม่
รู้ว่าตนเองถูกตำหนิ และพร้อมที่จะปรับปรุงตนเองมากกว่า
11. รู้จักปฏิเสธอย่างเหมาะสมดังนี้
การปฏิเสธเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่ทุกคนควรเคารพซึ่งกันและกันในความต้องการซึ่งแตกต่างกันการปฏิเสธที่ใช้ได้ผลมักเป็นการปฏิเสธในสิ่งที่ปฏิบัติแล้วไม่เกิดประโยชน์ หรือเกิดผลกระทบในแง่ลบตามมา และเป็นการชักชวนในหมู่เพื่อน

การปฏิเสธที่ดี จะต้องปฏิเสธจริงจังทั้งท่าทางคำพูดและน้ำเสียงเพื่อแสดงความตั้งใจอย่างชัดเจนที่จะขอปฏิเสธ
ขั้นตอนการปฏิเสธ
1. ใช้ความรู้สึกเป็นข้ออ้างประกอบเหตุผล เพราะการให้เหตุผลอย่างเดียว มักถูกโต้แย้งด้วยเหตุผลอื่น การ
อ้างความรู้สึกจะทำให้โต้แย้งได้ยากขึ้น
2. การขอปฏิเสธ เป็นการบอกปฏิเสธอย่างชัดเจนด้วยคำพูด
3. การขอความเห็นชอบ โดยการถามความเห็นของผู้ชวน เพื่อรักษาน้ำใจของผู้ชวนและกล่าวขอบคุณเมื่อผู้
ชวนยอมรับ
เมื่อถูกเซ้าซี้หรือสบประมาท
เมื่อถูกเซ้าซี้ต่อหรือสบประมาทไม่ควรหวั่นไหวไปกับคำพูดเหล่านั้นเพราะจะทำให้ขาดสมาธิในการหาทางออก ควรยืนยันการปฏิเสธและหาทางออกโดยเลือกวิธีการต่อไปนี้
1. ปฏิเสธซ้ำโดยไม่ต้องใช้ข้ออ้าง พร้อมทั้งบอกลา หาทางเลี่ยงจากเหตุการณ์ไป
2. การต่อรอง โดยการชวนไปทำกิจกรรมอื่นที่ดีกว่ามาทดแทน
3. การผัดผ่อน โดยการขอยึดระยะเวลาออกไปเพื่อให้ผู้ชวนเปลี่ยนความตั้งใจ
*************************

บรรณานุกรม
1. กรมสุขภาพจิต 2541. คู่มือส่งเสริมสุขภาพจิต นักเรียนระดับมัธยมศึกษา สำหรับครู.กรุงเทพฯ.กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
2.โสภา (ชูพิกุลชัย) ชปีลมันน์ 2542.พัฒนาตนเอง ทางเลือกที่คุ้มค่าในยุคสังคมวิกฤต.กรุงเทพฯ.มูลมิธิโสภาธารน้ำใจเพื่อพัฒนาสังคมไทย
3. สมหวัง พิธิยานุวัฒน์2541.วิธีวิทยาการประเมินทางการศึกษา.กรุงเทพฯ.สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4. ยุทธ์(นพพร)พยัฆวิเชียร 2542.จริตวิทยาวิทยาเส้นทางสู่ความเป็นเลิศของนักบริหารศิลปะการถ่ายทอด.กรุงเทพฯ.สำนักพิมพ์มติชน










โดย : นาย สุธีร์ วิชาพร, โรงเรียนคลองขลุงราษฎร์รังสรรค์, วันที่ 11 เมษายน 2545