คิดด้วยOne stay - Two stray


หลายครั้งที่ครูก่อนประถมศึกษาจะพบว่าลูกศิษย์แอบเล่นอย่างอื่น ซึ่งมิใช่สิ่งที่เพื่อนในกลุ่มกำลังทำงานกันอยู่...เราจะทำอย่างไรดีกับเด็กเหล่านี้...
เมื่อภาระหน้าที่ของงานที่ครูให้ไม่เหมาะสมกับจำนวนเด็กในกลุ่ม ทำให้เด็กไม่มีบทบาท ครูจึงควรสนใจกับจำนวนเด็กและสัดส่วนของงานในกลุ่ม การทดลองใช้ One stay - Two stray ในการทำกิจกรรมเรื่องขนมเค้กวันปีใหม่ โดยให้เด็กเลือกร่วมงานกับเพื่อนเพียง 3 - 4 คนต่อกลุ่ม ทำให้ครูสังเกตพบสิ่งต่อไปนี้
1. เด็กได้มีโอกาสพูดคุย แสดงความคิดเห็นกับเพื่อนอย่างสนุกสนาน
2. เด็กแบ่งงานกันทำอย่างทั่วถึง ตามแผนที่เด็กๆร่วมกันวางแนวทางไว้
3. เด็กที่อยู่ในตำแหน่งTwo stray ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนต่างกลุ่ม สามารถรวบรวมข้อมูลกลับมาพัฒนาต่อยอดชิ้นงานของกลุ่ม ทำให้เด็กเกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
4. เด็กๆเรียนรู้การเคารพความคิดของเพื่อน ไม่ลอกเลียนแบบตั้งแต่อายุน้อยๆ
5. เด็กๆมีความภาคภูมิใจในผลงาน ร่วมรับผิดชอบ รู้บทบาทหน้าที่ ไม่แยกตัวออกจากกลุ่ม เกิดความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง สร้างบุคลิกภาพของผู้มีความั่นใจในตนเอง เป็นผู้รับฟังความคิดเห็นของเพื่อน ร่วมกันแก้ปัญหา สนุกที่ได้เรียนรู้ด้วยตนเองและดีใจที่ทำงานสำเร็จ รายงานที่มาที่ไปของชิ้นงานได้เพราะลงมือทำด้วยตนเองและสามารถบอกเล่าบทบาทหน้าที่ของตนได้
6. เกิดบรรยากาศที่ดีในการเรียน ครูไม่ต้องกังวลว่าเด็กจะไปเล่นอย่างอื่นขณะทำกิจกรรม
7. เด็กเรียนรู้วิธีแก้ปัญหา ซึ่งเป็นวิธีพัฒนากระบวนการคิด
การสอนคิดนั้นไม่ยาก หากครูจัดกิจกรรมที่มีความหมายต่อผู้เรียน เปิดโอกาสให้เรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้สำรวจ พูดคุย ถามตอบ แสดงความคิดเห็น สิ่งที่คุณครูควรทดลองทำได้แก่การสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้เรียน ส่งเสริมข้อดี ร่วมพัฒนาสิ่งที่ควรปรับแก้โดยมิให้เด็กเกิดปมด้อย ใส่ใจในความรู้สึกของเด็กอย่างเท่าเทียมกัน เน้นกระบวนการทำงานและวิธีแสวงหาความรู้
ทดลองทำดู ...แล้วท่านจะพบว่าการจัดกลุ่มแบบOne stay - Two stray เป็นหนึ่งในการเรียนรู้ของCo-operative learning ที่น่าลองใช้สำหรับเด็กก่อนประถมศึกษาค่ะ



โดย : นาง วันชมพู บุญทวงษ์, ร.ร บ้านห้วยกุ่ม, วันที่ 7 เมษายน 2545