กระบวนการสอนแบบบูรณาการคุณธรรม

กระบวนการสอนแบบบูรณาการคุณธรรม

การปฏิรูปการเรียนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช2542 ครูผู้สอนมีกระบวนการสอนหลายแบบ ในที่นี้ขอเสนอ กระบวนการสอนแบบ
“บูรณาการคุณธรรม” อันเป็นกระบวนการที่ผู้เขียนนำเสนอในโครงการครูต้นแบบ ปี 2544 มาแล้ว ขั้นตอนการดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการคุณธรรม มีดังนี้ คือ
ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน
เป็นขั้นที่ครูผู้สอนจะต้องกระตุ้นความสนใจของผู้เรียนให้เกิดความสนใจโดยการใช้สื่อการสอนต่าง ๆ เช่น แถบบันทึกเสียง วีดิทัศน์ การอภิปรายประเด็นคำถามต่าง ๆ ภาพข่าว ภาพการ์ตูน ภาพปริศนา การเล่นเกม ฯลฯ ที่สัมพันธ์หรือเชื่อมโยงกับหัวข้อเรื่องที่จะสอนหรือสาระในบทเรียนได้
ขั้นเตรียมกิจกรรมการเรียนรู้
เป็นขั้นที่ผู้เรียนและผู้สอนจะต้องสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับเรื่องที่เรียน โดยสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้ผู้เรียน หรือให้ผู้เรียนได้เรียนจากแหล่งเรียนรู้โดยตรง เช่น การจัดทัศนศึกษา การให้นักเรียนรับทราบจุดประสงค์การเรียนรู้ที่สอดคล้องกับคุณลักษณะทางคุณธรรมที่พึงประสงค์ เพื่อเตรียมการจัดกิจกรรมให้ผสมผสานกับคุณลักษณะทางคุณธรรม เช่น ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ การยอมรับมติของกลุ่ม ในขั้นนี้นักเรียนจะต้องแบ่งกลุ่มเพื่อเตรียมการจัดกิจกรรมโดยใช้กระบวนการกลุ่ม หรือ กระบวนการที่เหมาะสม มาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
ขั้นดำเนินกิจกรรม
เป็นขั้นที่นักเรียนนำเสนอกิจกรรมของตนเองโดยเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับวิชาต่าง ๆ โดยมีกิจกรรมที่พัฒนาความคิด ทักษะต่าง ๆ ตามศักยภาพของนักเรียนเป็นรายบุคคล และรายกลุ่มโดยให้นักเรียนมีกิจกรรมที่แสดงออกถึงคุณลักษณะทางคุณธรรมที่พึงประสงค์ ครูสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนเป็นรายบุคคล และสังเกตคุณลักษณะทางคุณธรรมที่พึงประสงค์ เช่นนักเรียนแสดงกิจกรรมการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน-ราษฎร ทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากกลุ่มหรือไม่ (การยอมรับมติของกลุ่ม ) ฯลฯ
ขั้นสรุปและวิเคราะห์
เป็นขั้นที่นักเรียนในชั้นช่วยกันสรุปผลงานหรือองค์ความรู้จากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
นักเรียนร่วมกันอภิปรายผลที่เกิดจากการกระทำกิจกรรมเรื่องที่นักเรียนได้ศึกษา สรุปสาระความรู้ และนักเรียนสามารถวิเคราะห์การทำกิจกรรมของนักเรียนที่แสดงถึงคุณลักษณะทางคุณธรรมด้านต่าง ๆ ที่สังเกตได้จากการกระทำกิจกรรมของนักเรียน ในขั้นนี้ครูให้ข้อมูลย้อนกลับเพื่อเป็นการวิเคราะห์ผลงาน และตรวจสอบความถูกต้องของผลงานนักเรียน



โดย : นาง วีรนุช สรารัตนกุล, โรงเรียนยานนาเวศวิทยาคม, วันที่ 5 เมษายน 2545