จำนอง

บททั่วไป
1. สัญญาจำนอง หมายถึง สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งซึ่งเรียกว่า ผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตราไว้แก่อีกผู้หนึ่ง เรียกว่า ผู้รับจำนอง เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง
ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้สามัญแม้ว่าทรัพย์สินนั้นจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอก
แล้วก็ตาม โดยสิทธิจำนองโอนไปด้วยผู้รับจำนองสามารถบังคับจำนองเอากับผู้รับโอนได้
2. ทรัพย์ที่จำนองได้ ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ ส่วนสังหาริมทรัพย์ที่สามารถจำนองได้
ได้แก่ เรือกำปั่นหรือเรือมีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไป เรือกลไฟหรือเรือยนต์มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป
แพ สัตว์พาหนะ และสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ ซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้
3. ผู้จำนองต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ที่จำนอง
4. ข้อความในสัญญาต้องระบุจำนวนเงินและระบุทรัพย์สินที่จำนองและต้องจดทะเบียน
ต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่
5. ทรัพย์หลายสิ่งที่จำนองประกันหนี้รายเดียวนั้นอาจเป็นเจ้าของคนเดียวหรือหลายคนก็ได้
6. ทรัพย์สิ่งเดียวอาจนำไปจำนองประกันหนี้มากกว่า 1 รายก็ได้ ในทางปฏิบัติเรียกว่าจำนองซ้อน ซึ่งผู้รับจำนองก่อนมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์ก่อนผู้รับจำนองรายหลัง
7. ลูกหนี้สามัญจะชำระหนี้เป็นงวด ๆ ไม่ได้ เว้นแต่เจ้าหนี้ยินยอม แต่ผู้จำนองในฐานะลูกหนี้ชั้นที่ 2 มีความรับผิดชอบถ้าลูกหนี้ชั้นต้นไม่ชำระ อาจขอชำระเป็นงวด ๆ ได้เพื่อผ่อนคลายความรับผิดชอบของตนบางส่วนได้

การบังคับจำนอง
วิธีการบังคับจำนองทำได้ 2 วิธี คือ การบังคับจำนองเอาทรัพย์สินที่จำนองออกขาย
ทอดตลาด และการบังคับจำนองด้วยวิธีการเอาทรัพย์สินที่จำนองหลุดมาเป็นสิทธิ การบังคับจำนองเอาแก่ทรัพย์ที่จำนองซ้อนให้ถือลำดับผู้รับจำนองเรียงตามวันเวลาผู้รับจำนองก่อนจะได้รับใช้หนี้ก่อนผู้รับจำนองคนหลัง

เหตุทำให้จำนองระงับ
1. เมื่อหนี้ที่เป็นประกันระงับสิ้นไป
2. เมื่อปลดจำนองให้แก่ผู้จำนองด้วยหนังสือเป็นสำคัญ
3. เมื่อผู้จำนองหลุดพ้น
4. เมื่อถอนจำนอง
5. เมื่อขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองตามคำสั่งศาลอันเนื่องมาแต่การบังคับจำนองหรือถอนจำนอง
6. เมื่อเอาทรัพย์สินจำนองนั้นหลุด

แหล่งข้อมูล : ย่อหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ค้ำประกัน จำนอง จำนำ ผู้ช่วยศาตราจารย์สุดา
วัชรวัฒนากุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



โดย : นางสาว พรวิจิตร ชาติชำนาญ, คอนสารวิทยาคม, วันที่ 20 มีนาคม 2545