จรรยาบรรณครู

ครู
คำว่าครูมีความหมายสุดที่จะพรรณาได้
ผมในฐานะครูคนหนึ่ง ผมได้เข้าไปศึกษาในอินเตอร์เน็ต และไปเจอบทความสที่น่าสนใจมาก สำหรับคุณครูทุกท่าน ผมจึงได้คัดลอกบทความมาลงในที่นี้ แต่ก็ต้องขออภัยท่านเจ้าของบทความเป็นอย่างสูง เพราะผมลืมจดชื่อ เว็บฯ ของท่านไว้ ผมขอขอบพระคุณแทนครูทุกท่าน เพราะเป็นบทความที่มีความหมายมากน่าสนใจมากผมขอตั้งชื่อว่า " ครูคู่คุณธรรม " ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
จรรยาบรรณข้อที่ 1
ครูต้องรักและเมตตาศิษย์ โดยให้ความเอาใจใส่ช่วยเหลือ ส่งเสริม ให้กำลังใจในการศึกษาเล่าเรียนแก่ศิษย์โดยเสมอหน้า
หลักการ
การแสดงออกของบุคคลในทางที่ดี เป็นผลมาจากสภาวะจิตใจที่ดีงามและความเชื่อถือที่ถูกต้องของบุคคล บุคลที่มีความรักและเมตตาย่อมแสดงออก ด้วยความปรารถนาในอันที่จะก่อให้เกิดผลดีต่อบุคคลอื่น มีความสุภาพ ไตร่ตรองถึงผลแล้วจึงแสดงออกอย่างจริงใจ ครูจึงต้องมีความรักและเมตตาต่อศิษย์อยู่เสมอ ซึ่งจะเป็นผลให้พฤติกรรมของครูที่แสดงออกต่อศิษย์ เป็นไปในทางสุภาพ เอื้ออาทรส่งผลดีต่อศิษย์ในทุกๆด้าน
คำอธิบาย
ครูต้องรักและเมตตาศิษย์ โดยให้ความเอาใจใส่ช่วยเหลือ ส่งเสริมให้กำลังใจในการศึกษาเล่าเรียนแก่ศิษย์โดยเสมอหน้า หมายถึงการตอบสนองต่อความต้องการ ความถนัด ความสนใจของศิษย์อย่างจริงใจ สอดคล้องกับความเคารพ การยอมรับ การเห็นอกเห็นใจ ต่อสิทธิพื้นฐานของศิษย์จนเป็นที่ไว้วางใจเชื่อถือและชื่นชมได้ รวมทั้งเป็นผลไปสู่การพัฒนารอบด้านอย่างเท่าเทียมกัน
พฤติกรรมที่สำคัญ
* สร้างความรู้สึกเป็นมิตร เป็นที่พึ่งพาและวางใจได้ของศิษย์แต่ละคนและทุกคนตัวอย่างเช่น
* ให้ความเป็นกันเองกับศิษย์
* รับฟังปัญหาของศิษย์และให้ความช่วยเหลือศิษย์
* ร่วมทำกิจกรรมกับศิษย์เป็นครั้งคราวตามความเหมาะสม
* สนทนาไต่ถามทุกข์สุขของศิษย์
ฯลฯ
2 . ตอบสนองข้อเสนอและการกระทำของศิษย์ในทางสร้างสรรค์ตามสภาพปัญหา ความต้องการและศักยภาพของศิษย์แต่ละคนและทุกคน ตัวอย่างเช่น
* สนใจคำถามและคำตอบของศิษย์ทุกคน
* ให้โอกาสศิษย์แต่ละคนได้แสดงออกตามความสามารถ ความถนัด และความสนใจ
* ช่วยแก้ไขข้อบกพร่องของศิษย์
* รับการนัดหมายของศิษย์เกี่ยวกับการเรียนรู้ก่อนงานอื่น ๆ
ฯลฯ
3. เสนอและแนะแนวทางการพัฒนาของศิษย์แต่ละคน และทุกคนตามความถนัด ความสนใจและ ศักยภาพของศิษย์ ตัวอย่างเช่น
* มอบหมายงานตามความถนัด
* จัดกิจกรรมหลากหลายตามสภาพความแตกต่างของศิษย์ เพื่อให้แต่ละคน ประสบความสำเร็จเป็นระยะอยู่เสมอ
* แนะแนวทางที่ถูกให้แก่ศิษย์
* ปรึกษาหารือกับครู ผู้ปกครอง เพื่อนนักเรียน เพื่อหาสาเหตุ และวิธีแก้ปัญหาของศิษย์
ฯลฯ
4. แสดงผลงานที่ภูมิใจของศิษย์แต่ละคนและทุกคนทั้งในและนอกสถานศึกษา ตัวอย่างเช่น
* ตรวจผลงานของศิษย์อย่างสม่ำเสมอ
* แสดงผลงานของศิษย์ในห้องเรียน(ห้องปฏิบัติการ)
* ประกาศหรือเผยแพร่ผลงานของศิษย์ที่ประสบผลสำเร็จ
ฯลฯ
จรรยาบรรณข้อที่ 2
ครูต้องอบรม สั่งสอน ฝึกฝน สร้างเสริมความรู้ ทักษะ และนิสัยที่ถูกต้องดีงามให้ แก่ศิษย์อย่างเต็มความสามารถด้วยความบริสุทธิ์ใจ
หลักการ
ครูที่ดี ต้องมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาศิษย์ให้เจริญได้ อย่างเต็มศักยภาพ และถือว่าความรับผิดชอบของตนจะสมบูรณ์ต่อเมื่อศิษย์ได้แสดงออกซึ่งผลแห่งการพัฒนานั้นแล้ว ครูจึงต้องเรียนรู้เกี่ยวกับศักยภาพของศิษย์แต่ละคนและทุกคน เลือกกิจกรรมการเรียนที่หลากหลาย เหมาะสมสอดคล้องกับการพัฒนาตามศักยภาพนั้น ดำเนินการให้ศิษย์ได้ลงมือทำกิจกรรมการเรียน จนเกิดผลอย่างชัดแจ้ง และยังกระตุ้นยั่วยุให้ศิษย์ทุกคนได้ทำกิจกรรมต่อเนื่อง เพื่อความเจริญงอกงามอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
คำอธิบาย
ครูต้องอบรม สั่งสอนฝึกฝนสร้างเสริมความรู้ ทักษะ และนิสัยที่ถูกต้องดีงามให้เกิดแก่ศิษย์อย่างเต็มความสามารถด้วยความบริสุทธิ์ใจ หมายถึง การดำเนินงานตั้งแต่การเลือกกำหนดกิจกรรมการเรียนที่มุ่งผลต่อการพัฒนาในตัวศิษย์อย่างแท้จริง การจัดให้ศิษย์มีความรับผิดชอบ และเป็นเจ้าของการเรียนรู้ตลอดจนการประเมินร่วมกับศิษย์ในผลของการเรียนและการเพิ่มพูนการเรียนรู้ภายหลังบทเรียนต่าง ๆ ด้วยความปรารถนาที่จะให้ศิษย์แต่ละคนและทุกคนพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ
พฤติกรรมสำคัญ
1.อบรม สั่งสอน ฝึกฝนและจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาศิษย์อย่างมุ่ง มั่น และตั้งใจ ตัวอย่างเช่น
** สอนเต็มเวลา ไม่เบียดบังเวลาของศิษย์ไปหาผลประโยชน์ส่วนตน
* เอาใจใส่ อบรม สั่งสอนศิษย์จนเกิดทักษะในการปฏิบัติงาน
* อุทิศเวลาเพื่อพัฒนาศิษย์ตามความจำเป็นและเหมาะสม
* ไม่ละทิ้งชั้นเรียนหรือขาดการสอน
ฯลฯ
2. อบรมสั่งสอน ฝึกฝนและจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาศิษย์ อย่างเต็มศักยภาพ ตัวอย่างเช่น
* เลือกใช้วิธีการที่หลากหลายในการสอนให้เหมาะสมกับสภาพของศิษย์
* ให้ความรู้โดยไม่ปิดบัง
* สอนเต็มความสามารถ
* เปิดโอกาสให้ศิษย์ได้ฝึกปฏิบัติอย่างเต็มความสามารถ
* สอนเต็มความสามารถและด้วยความเต็มใจ
* กำหนดเป้าหมายที่ท้าทาย พัฒนาขึ้น
* ลงมือจัด เลือกกิจกรรมที่นำสู่ผลจริง ๆ
* ประเมิน ปรับปรุง ให้ได้ผลจริง
* ภูมิใจเมื่อศิษย์พัฒนา
ฯลฯ
3.อบรม สั่งสอน ฝึกฝนและจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาศิษย์ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ตัวอย่างเช่น
* สั่งสอนศิษย์โดยไม่บิดเบือนหรืออำพราง
* อบรมสั่งสอนศิษย์โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง
* มอบหมายงานและตรวจผลงานด้วยความยุติธรรม
ฯลฯ
จรรยาบรรณข้อที่ 3
ครูต้องประพฤติ ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ทั้ง ทางกายวาจา ใจ
หลักการ
การเรียนรู้ในด้านค่านิยมและจริยธรรม จำเป็นต้องมีตัวแบบที่ดี เพื่อให้ผู้เรียนยึดถือและนำไปปฏิบัติตาม ครูที่ดีจึงถ่ายทอดค่านิยมและจริยธรรมด้วยการแสดงตนเป็นตัวอย่างเสมอ การแสดงตนเป็นตัวอย่างนี้ถือว่าครูเป็นผู้นำในการพัฒนาศิษย์อย่างแท้จริง คำอธิบาย
การประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี หมายถึง การแสดงออกอย่างสม่ำเสมอของครูที่ศิษย์สามารถสังเกตรับรู้ได้เอง และเป็นการแสดงที่เป็นไปตามมาตรฐานแห่งพฤติกรรมระดับสูง ตามค่านิยม คุณธรรม และวัฒนธรรมอันดีงาม
พฤติกรรมที่สำคัญ
1.ตระหนักว่าพฤติกรรมการแสดงออกของครูมีผลต่อการพัฒนาพฤติกรรม ของศิษย์อยู่เสมอ ตัวอย่างเช่น
* ระมัดระวังในการกระทำ และการพูดของตนอยู่เสมอ
* ไม่โกรธง่ายหรือแสดงอารมณ์ฉุนเฉียวต่อหน้าศิษย์
* มองโลกในแง่ดี
ฯลฯ
2.พูดจาสุภาพและสร้างสรรค์โดยคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับศิษย์และสังคม ตัวอย่างเช่น
* ไม่พูดคำหยาบหรือก้าวร้าว
* ไม่นินทาหรือพูดจาส่อเสียด
ฯลฯ
3 .กระทำตนเป็นแบบอย่างที่ดีสอดคล้องกับคำสอนของตนและวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ตัวอย่างเช่น
* ปฏิบัติตนให้มีสุขภาพ และบุคลิกภาพที่ดีอยู่เสมอ
* แต่งกายสะอาดสุภาพเรียบร้อยเหมาะสมกับกาลเทศะ
* แสดงกิริยามารยาทสุภาพเรียบร้อยอยู่เสมอ
* ตรงต่อเวลา
* แสดงออกซึ่งนิสัยที่ดีในการประหยัด ซื่อสัตย์ อดทน สามัคคีมีวินัย * รักษาสาธารณะสมบัติและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
จรรยาบรรณข้อที่4
ครูต้องไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์ และสังคมของศิษย์
หลักการ
การแสดงออกของครูใดๆ ก็ตามย่อมมีผลในทางบวกหรือลบ ต่อความเจริญเติบโตของศิษย์ เมื่อครูเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงต่อการพัฒนาทุก ๆ ด้านของศิษย์ จึงต้องพิจารณาเลือกแสดงแต่เฉพาะการแสดงออกที่มีผลทางบวก พึงระงับและละเว้นการแสดงใดๆ ที่นำไปสู่การชะลอหรือขัดขวางความก้าวหน้าของศิษย์ทุกๆด้าน
คำอธิบาย
การไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญ ทางกาย สติปัญญา จิตใจอารมณ์ และสังคมของศิษย์ หมายถึง การตอบสนองต่อศิษย์ในการลงโทษ หรือให้รางวัลหรือการกระทำอื่นใด ที่นำไปสู่การลดพฤติกรรมที่พึงปรารถนาหรือเพิ่มพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนา
1. ละเว้นการกระทำให้ศิษย์เกิดความกระทบกระเทือนต่อจิตใจ สติปัญญา อารมณ์และสังคมของศิษย์ ตัวอย่างเช่น
* ไม่นำปมด้อยของศิษย์มาล้อเลียน
* ไม่ประจานศิษย์
* ไม่พูดจาหรือกระทำการใดๆ ที่เป็นการซ้ำเติมปัญหาหรือข้อบกพร่องของศิษย์
* ไม่นำความเครียดมาระบายต่อศิษย์ ไม่ว่าด้วยคำพูด หรือสีหน้าท่าทาง
* ไม่เปรียบเทียบฐานะความเป็นอยู่ของศิษย์
* ไม่ลงโทษศิษย์เกินกว่าเหตุ
ฯลฯ
2. ละเว้นการกระทำที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและร่างกายของศิษย์ ตัวอย่างเช่น
* ไม่ทำร้ายร่างกายศิษย์
* ไม่ลงโทษศิษย์เกินกว่าระเบียบกำหนด
* ไม่จัดหรือปล่อยปละละเลยให้สภาพแวดล้อมเป็นอันตรายต่อศิษย์
* ไม่ใช้ศิษย์เกินกว่าเหตุ
ฯลฯ
3. ละเว้นการกระทำที่สกัดกั้นพัฒนาการทาง สติปัญญา อารมณ์ จิตใจ และสังคมของศิษย์ ตัวอย่างเช่น
* ไม่ตัดสินคำตอบถูกผิดโดยยึดคำตอบของครู
* ไม่ดุด่าซ้ำเติมศิษย์ที่เรียนช้า
* ไม่ขัดขวางโอกาสให้ศิษย์ได้แสดงออกทางสร้างสรรค์
* ไม่ตั้งฉายาในทางลบให้ศิษย์
ฯลฯ
จรรยาบรรณข้อที่ 5
ครูต้องไม่แสวงหาประโยชน์อันเป็นอามิสสินจ้างจากศิษย์ ในการ ปฏิบัติหน้าที่
ตามปกติ และไม่ให้ศิษย์กระทำการใดๆ อันเป็นการหาประโยชน์ให้แก่ตนโดยมิชอบ
หลักการ
การใช้ตำแหน่งหน้าที่ในวิชาชีพแสวงหาประโยชน์ตนโดยมิชอบ ย่อมทำให้เกิดความ ลำเอียงในการปฏิบัติหน้าที่ สร้างความไม่เสมอภาค นำไปสู่ความเสื่อมศรัทธาในบุคคลและวิชาชีพ ดังนั้น ครูจึงไม่แสวงหาประโยชน์อันมิควรได้จากศิษย์ หรือใช้ศิษย์ไปแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนโดยมิชอบ
คำอธิบาย
การไม่แสวงหาประโยชน์อันเป็นอามิสสินจ้างจากศิษย์ ในการปฏิบัติหน้าที่ปกติ และไม่ใช้ศิษย์กระทำการใดๆ อันเป็นการหาประโยชน์ให้แก่ตนโดยมิชอบ หมายถึง การไม่กระทำการใดๆ ที่จะได้มาซึ่งผลตอบแทนเกินสิทธิที่พึงมีพึงได้จากการปฏิบัติหน้าที่
ในความรับผิดชอบตามปกติ
พฤติกรรมที่สำคัญ
1.ไม่รับหรือแสวงหาอามิสสินจ้างหรือผลประโยชน์อันมิควรจากศิษย์
ตัวอย่างเช่น
* ไม่หารายได้จากการนำสินค้ามาขายให้ศิษย์
* ไม่ตัดสินผลงานหรือผลการเรียน โดยมีสิ่งแลกเปลี่ยน
* ไม่บังคับหรือสร้างเงื่อนไขให้ศิษย์มาเรียนพิเศษ เพื่อหารายได้
* ฯลฯ
2.ไม่ใช้ศิษย์เป็นเครื่องมือหาประโยชน์ให้กับตนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ขนบธรรม เนียม ประเพณีหรือความรู้สึกของสังคม ตัวอย่างเช่น
* ไม่นำผลงานของศิษย์ไปแสวงหากำไรส่วนตน
* ไม่ใช้แรงงานศิษย์เพื่อประโยชน์ส่วนตน
* ไม่ใช้หรือจ้างวานศิษย์ไปทำสิ่งผิดกฎหมาย
ฯลฯ
จรรยาบรรณข้อที่ 6
ครูย่อมพัฒนาตนทั้งในด้านวิชาชีพ ด้านบุคลิกภาพ แ ละวิสัยทัศน์ให้ทันต่อพัฒนาการทางวิทยาการ เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองอยู่เสมอ
หลักการ
สังคมและวิทยาการมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ดังนั้นครูในฐานะผู้พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จึงต้องพัฒนาตนเองให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงและ แนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงในอนาคต
คำอธิบาย
การพัฒนาตนเองทั้งในด้านวิชาชีพ ด้านบุคลิกภาพ และวิสัยทัศน์ ให้ทันต่อการ
พัฒนาทางวิทยาการ เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองอยู่เสมอหมายถึงการใฝ่รู้ ศึกษาค้นคว้า
ริเริ่มสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ให้ทันสมัย ทันเหตุการณ์ และทันต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งด้าน
เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเทคโนโลยี สามารถพัฒนาบุคลิกภาพและวิสัยทัศน์
1.ใส่ใจศึกษาค้นคว้า ริเริ่มสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ที่เกี่ยวกับวิชาชีพอยู่เสมออย่างเช่น ตัว
* หาความรู้จากเอกสาร ตำรา และสื่อต่างๆตามโอกาส
* จัดทำและเผยแพร่ความรู้ต่างๆผ่านสื่อตามโอกาส
* เข้าร่วมประชุม อบรม สัมมนา หรือฟังคำบรรยายหรืออภิปรายทางวิชาการ
ฯลฯ
2 .มีความรอบรู้ ทันสมัย ทันเหตุการณ์ สามารถนำมาวิเคราะห์ กำหนดเป้าหมายแนวทางพัฒนาตนเองและวิชาชีพ ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง อาชีพ และเทคโนโลยี ตัวอย่างเช่น
* นำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ประกอบการเรียนการสอน
* ติดตามข่าวสารเหตุการณ์บ้านเมือง เศรษฐกิจ สังคม การเมือง อยู่เสมอ
* วางแผนพัฒนาตนเองและพัฒนางาน
3. แสดงออกทาง ร่างกาย กิริยา วาจา อย่างสง่างาม เหมาะสมกับกาลเทศะ ตัวอย่างเช่น
* รักษาสุขภาพและปรับปรุงบุคลิกภาพอยู่เสมอ
* มีความเชื่อมั่นในตนเอง
* แต่งกายสะอาดเหมาะสมกับกาลเทศะและทันสมัย
* มีความกระตือรือร้น ไวต่อความรู้สึกของสังคม
ฯลฯ
จรรยาบรรณข้อที่ 7
ครูย่อมรักและศรัทธาในวิชาชีพครุ และเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กรวิชาชีพครู
หลักการ
ความรักและเชื่อมั่นในอาชีพของตน ย่อมทำให้ทำงานอย่างมีความสุขและมุ่งมั่น อันจะส่งผลให้อาชีพนั้นเจริญรุ่งเรืองและมั่นคง ดังนั้นครูย่อมรักและศรัทธาในอาชีพครู และเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กรวิชาชีพครูด้วยความเต็มใจ
คำอธิบาย
ความรักและศรัทธาในวิชาชีพครู และเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กรวิชาชีพครูหมายถึงการแสดงออกด้วยความชื่นชมและเชื่อมั่นในอาชีพครูด้วยตระหนักว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีความสำคัญและจำเป็นต่อสังคม ครูพึงปฏิบัติงานด้วยความเต็มใจและภูมิใจ รวมทั้งปกป้องเกียรติภูมิของอาชีพครู เข้าร่วมกิจกรรมและสนับสนุนองค์กรวิชาชีพครู
พฤติกรรมที่สำคัญ
1.เชื่อมั่น ชื่นชม ภูมิใจในความเป็นครุและองค์กรวิชาชีพ ว่ามีความสำคัญและจำเป็นต่อสังคม ตัวอย่างเช่น
* ชื่นชมในเกียรติและรางวัลที่ได้รับและรักษาไว้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย
* ยกย่องชื่นชมเพื่อนครูที่ประสบผลสำเร็จเกี่ยวกับการสอน
* เผยแพร่ผลสำเร็จของตนเองและเพื่อนครู
* แสดงตนว่าเป็นครูอย่างภาคภูมิ
ฯลฯ
2.เป็นสมาชิกองค์กรวิชาชีพครูและสนับสนุนหรือเข้าร่วม หรือเป็นผู้นำใน
กิจกรรมพัฒนาวิชาชีพครู ตัวอย่างเช่น
* ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อกำหนดขององค์กร
* ร่วมกิจกรรมที่องค์กรจัดขึ้น
* เป็นกรรมการหรือคณะทำงานขององค์กร
ฯลฯ
3. ปกป้องเกียรติภูมิของครูและองค์กรวิชาชีพครูตัวอย่างเช่น
* เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ผลงานของครูและองค์กรวิชาชีพ
* เมื่อมีผู้เข้าใจผิดเกี่ยวกับวงการวิชาชีพครู ก็ชี้แจงและทำความเข้าใจให้ถูกต้อง
ฯลฯ
จรรยาบรรณข้อที่ 8
ครูพึงช่วยเหลือเกื้อกูลครูและชุมชนในทางสร้างสรรค์
หลักการ
สมาชิกของสังคมใดพึงผนึกกำลังกัน พัฒนาสังคมนั้นและเกื้อกูลสังคมรอบข้างในวงวิชาชีพครู ผู้ประกอบอาชีพครูพึงร่วมมือและช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้วยความเต็มใจอันจะยังผลให้เกิดพลังและศักยภาพในการพัฒนาวิชาชีพครูและการพัฒนาสังคม
คำอธิบาย
การช่วยเหลือเกื้อกูลครุและชุมชนในทางสร้างสรรค์ หมายถึงการให้ความร่วมมือ แนะนำปรึกษาช่วยเหลือแก่เพื่อนครู ทั้งเรื่องส่วนตัว ครอบครัว และการงานตามโอกาสอย่างเหมาะสม รวมทั้งเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชน โดยการให้คำปรึกษาแนะนำแนวทางปฏิบัติตนปฏิบัติงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน
พฤติกรรมที่สำคัญ
1.ให้ความร่วมมือแนะนำ แก่เพื่อนครูตามโอกาสและความเหมาะสม
ตัวอย่างเช่น
* ให้คำปรึกษาการจัดทำผลงานทางวิชาการ
* ให้คำแนะนำการผลิตสื่อการเรียนการสอน
ฯลฯ
2. ให้ความช่วยเหลือด้านทุนทรัพย์ สิ่งของแก่เพื่อนครูตามโอกาส และความเหมาะสม ตัวอย่างเช่น
* ร่วมงานกุศล
* ช่วยทรัพย์เมื่อครูเดือดร้อน
* จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ฯลฯ
3. เข้าร่วมกิจกรรมของชุมชนรวมทั้งให้คำปรึกษาแนะนำแนวทางปฏิบัติตน
* ปฏิบัติงาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ตัวอย่างเช่น
* แนะแนวทางป้องกัน และกำจัดมลพิษ
ฯลฯ
จรรยาบรรณข้อที่ 9
ครูพึงประพฤติ ปฏิบัติตน เป็นผู้นำในการอนุรักษ์ และพัฒนาภูมิปัญญา และ
วัฒนธรรมไทย
หลักการ
หน้าที่สำคัญประการหนึ่งของการศึกษา คือการพัฒนาคนให้มีภูมิปัญญาและรู้จักเลือกวิธีการดำเนินชีวิตที่ดีงาม ในฐานะที่ครู เป็นบุคลากรที่สำคัญทางการศึกษา ครูจึงควรเป็นผู้นำในการอนุรักษ์และพัฒนาภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทย
คำอธิบาย
การเป็นผู้นำในการอนุรักษ์ และพัฒนาภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทยหมายถึงการริเริ่มดำเนินกิจกรรม สนับสนุนส่งเสริมภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทยโดยรวบรวมข้อมูล
ศึกษา วิเคราะห์ เลือกสรร ปฏิบัติตน และเผยแพร่ศิลปะ ประเพณี ดนตรี กีฬา การละเล่น อาหารเครื่องแต่งกาย ฯลฯเพื่อใช้ในการเรียนการสอนการดำรงชีวิตตนและสังคม
พฤติกรรมที่สำคัญ
1.รวบรวมข้อมูลและเลือกสรรภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมที่เหมาะสมาใช้จัด กิจกรรมการเรียนการสอนตัวอย่างเช่น
* เชิญบุคคลในท้องถิ่นมาเป็นวิทยากร
* นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน
* นำศิษย์ไปศึกษาในแหล่งวิทยาการชุมชน
ฯลฯ
2. เป็นผู้นำในการวางแผนและดำเนินการ เพื่ออนุรักษ์และพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรม ตัวอย่างเช่น
* ฝึกการละเล่นท้องถิ่นให้กับศิษย์
* จัดตั้งชมรม สนใจศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น
* จัดทำพิพิธภัณฑ์ในสถานศึกษา
ฯลฯ
* สนับสนุนส่งเสริมเผยแพร่ และร่วมกิจกรรมทางประเพณีวัฒนธรรมของชุมชน อย่างสม่ำเสมอ ตัวอย่างเช่น
* รณรงค์การใช้สินค้าพื้นเมือง
* เผยแพร่การแสดงศิลปะพื้นบ้าน
* ร่วมงานประเพณีของท้องถิ่น
4. ศึกษา วิเคราะห์ วิจัยภูมิปัญญา และวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อนำผลมาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ตัวอย่างเช่น
* ศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับการละเล่นพื้นบ้าน นิทานพื้นบ้าน เพลงกล่อมเด็ก ตำนาน และความเชื่อถือ
* นำผลการศึกษาวิเคราะห์มาใช้ในการเรียนการสอน
ฯลฯ

ขอขอบพระคุณเจ้าของบทความเดิมอย่างสูง / ด้วยความเคารพ
ธีรศักดิ์ สืบสุติน โรงเรียนวังเหนือวิทยา


โดย : นาย ธีรศักดิ์ สืบสุติน, โรงเรียนวังเหนือวิทยา, วันที่ 14 พฤศจิกายน 2544