การดำเนินงานแนะแนว

บทคัดย่อ

วัชรินทร์ แย้มโสภี : การศึกษาสภาพและปัญหาการดำเนินงานแนะแนวของโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดกรมสามัญศึกษา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 172 หน้า. ISBN 974-7748-06-1

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพและปัญหาการดำเนินงานแนะแนวของโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดกรมสามัญศึกษา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ผลการวิจัยสรุปจากรายการที่ผู้ตอบแบบสอบถามระบุสูงสุดพบว่า ทุกโรงเรียนมีห้องแนะแนว จัดเป็นห้องแนะแนวโดยเฉพาะ 1 ห้องเรียน มีสถานที่ให้คำปรึกษา ใช้โต๊ะทำงานของครูแนะแนวเป็นสถานที่ให้คำปรึกษา ทุกโรงเรียนมีมุมให้บริการสนเทศ ห้องแนะแนวสะดวกและเหมาะสมในการใช้บริการของนักเรียน บรรยากาศโปร่งสบายสะอาดเรียบร้อยเหมือนกับบ้าน มีวัสดุครุภัณฑ์ที่จำเป็นเพียงบางส่วน ครูที่รับผิดชอบงานแนะแนวจบปริญญาตรีสาขาอื่นซึ่งเคยอบรมทางด้านแนะแนว มีบุคลิกภาพเหมาะสมทุกคน มีครูแนะแนวตามเกณฑ์ มีการกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของครูแนะแนวชัดเจน มีการวางแผนงาน มีการจัดทำปฏิทินปฏิบัติงานแนะแนวที่มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแนะแนวโดยครูแนะแนวเป็นเลขานุการ มีการประชุมคณะกรรมการแนะแนว กำหนดการประชุมไม่แน่นอน มีการกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการแนะแนว โดยกำหนดแต่ละครั้งเฉพาะกิจ มีการติดตามงานหรือโครงการแนะแนวของผู้รับผิดชอบ ผู้บริหารให้ขวัญและกำลังใจแก่ครูแนะแนวเป็นอย่างดี มีการประชาสัมพันธ์งานแนะแนวเฉพาะภายในโรงเรียน มีการจัดบริการแนะแนวครบทั้ง 5 บริการ มีการรวบรวมข้อมูลนักเรียนโดยใช้ระเบียนสะสม มีการศึกษาและรวบรวมข้อมูลนักเรียนรายบุคคล เกี่ยวกับสภาพทั่วไปของนักเรียน มีการจัดทำบันทึกระเบียนสะสมครบทุกคนและข้อมูลเป็นปัจจุบัน ไม่มีการวิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมไว้ทั้งเป็นรายบุคคลและรายกลุ่ม มีการจัดบริการสนเทศโดยบริการข้อมูลด้านการศึกษา การนำเสนอข้อมูลข่าวสารบริการสนเทศเหมาะกับเวลาและโอกาส มีการให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลและเป็นรายกลุ่ม มีบริการให้ความช่วยเหลือนักเรียนด้านทุนการศึกษา ทุกโรงเรียนมีบริการติดตามผล โดยติดตามผลนักเรียนที่จบการศึกษาแล้วทุกปี ทุกโรงเรียนมีการสอนคาบกิจกรรมแนะแนว โดยจัดสอนกิจกรรมแนะแนว 1 คาบต่อสัปดาห์ทุกชั้น ครูที่มีวุฒิสาขาอื่นไม่เคยอบรมทางด้านแนะแนวเป็นผู้รับผิดชอบการจัดกิจกรรมในคาบแนะแนว ครูแนะแนวสอนวิชาอื่น ๆ ด้วยรวมทั้งสิ้นมากกว่า 15 คาบ นักเรียนมีความเข้าใจตนเองและสามารถตัดสินใจด้วยตนเองได้อย่างเหมาะสม มีแผนพัฒนางานแนะแนวโดยจัดโครงการแต่ละปีให้สอดคล้องกับแผนระยะยาว มีแผนพัฒนาห้องแนะแนวและวัสดุครุภัณฑ์โดยจัดทำโครงการจัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์ มีแผนพัฒนาระบบงานแนะแนว โดยจัดทำเอกสารหลักฐานการปฏิบัติงานแนะแนวให้เป็นระบบ มีแผนพัฒนาบุคลากรแนะแนวโดยจัดอบรมบุคลากรแนะแนว มีแผนพัฒนาเครื่องมือแนะแนวโดยจัดทำสื่อการสอนคาบกิจกรรมแนะแนว มีแผนพัฒนาการจัดบริการแนะแนวโดยจัดโครงการแนะแนวการศึกษา มีการติดตามประเมินผลโครงการแนะแนวทุกโครงการและรายงานฝ่ายบริหารเป็นประจำทุกปี ทุกโรงเรียนมีการประสานความร่วมมือกับงาน หมวดวิชา และฝ่ายต่างๆ ภายในโรงเรียน ทุกโรงเรียนมีการประสานงานด้านข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในโรงเรียน โดยประสานกับงานสารสนเทศ มีการประสาน ความร่วมมือกับคณะกรรมการหรือคณะทำงานในกิจกรรมต่าง ๆ โดยประสานกับคณะกรรมการฝ่ายวิชาการ มีการประสานงานกับหน่วยราชการภายนอกโรงเรียนเป็นบางครั้ง ครูประจำชั้นหรือครูที่ปรึกษามีส่วนร่วม ในการให้คำปรึกษา การให้ข้อมูลทั่วไปของนักเรียน การรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อนักเรียนโดยตรงและเป็นปัจจุบัน
ปัญหาที่มีผู้ระบุเกินร้อยละ 50 ได้แก่ ปัญหาการจัดครูแนะแนวหรือผู้รับผิดชอบงานแนะแนว คือ ไม่มีครูแนะแนวที่จบปริญญาทางการแนะแนวรับผิดชอบโดยเฉพาะ ผู้ปฏิบัติงานแนะแนวไม่ได้ศึกษาด้านแนะแนวมาโดยตรง ผู้ปฏิบัติงานแนะแนวขาดประสบการณ์ด้านแนะแนว
ความต้องการที่จะให้ศูนย์พัฒนางานแนะแนว กรมสามัญศึกษาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดำเนินการเพื่อ่ให้เกิดการพัฒนา ที่มีผู้ระบุเกินร้อยละ 50 ได้แก่ จัดประชุมสัมมนาเกี่ยวกับงาน แนะแนวและแนวทางปฏิบัติงานแนะแนว อบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการจัดบริการให้คำปรึกษา นิเทศงานแนะแนวโรงเรียนมัธยมศึกษา กรมสามัญศึกษา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการจัดบริการรวบรวมข้อมูลนักเรียน อบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับงานแนะแนวสำหรับครู อาจารย์ทั่วไป อบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการจัดบริการสนเทศ อบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการจัดบริการจัดวางตัวบุคคล อบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการจัดบริการติดตามผล




โดย : นาง วัชรินทร์ แย้มโสภี, โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย, วันที่ 23 ตุลาคม 2544