เมื่อวิทยากรร่วมมือกับคุณครูพัฒนาการเรียนศิลปะ
               อาจารย์นภา  วิเศษศรี  ครูสอนศิลปะระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ได้เล่าประสบการณ์ที่เธอใช้พัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ความสามารถทางศิลปะ  แม้ตัวเองจะยอมรับว่า "ไม่มีความรู้  ไม่มีทักษะเลย  หนักใจมากเมื่อได้รับมอบหมายให้สอนวิชานี้"  ครูนภามีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร

             ...ศิลปะเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนมีในตัว   และสามารถจะพัฒนาได้ถ้ามีวิธีการที่ดี   ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้สอนวิชาศิลปะในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น   ซึ่งนับว่าหนักใจมากเพราะข้าพเจ้าขาดทักษะ  ขาดความรู้  จึงจำเป็นต้องพัฒนาตนเองก่อนเป็นอันดับแรก  ด้วยการศึกษาด้วยตนเอง  ฝึกอบรม  เรียนรู้กับผู้รู้  ณ  วันนี้  ข้าพเจ้ารู้สึกภูมิใจที่สามารถพัฒนาศิลปะของนักเรียนได้ในระดับหนึ่ง โดย

               1.  เชิญวิทยากรในท้องถิ่นมาช่วยสอนศิลปะในบางชั่วโมง  นักเรียนให้ความสนใจและสามารถพัฒนาศิลปะได้ดี  เนื่องจากวิทยากรมีความชำนาญในศิลปะการวาดภาพระบายสี

               2.  นักเรียนลงมือปฏิบัติจริง   เรียนรู้ด้วย   นักเรียนเรียนรู้เรื่องแสงเงา  จากการเรียนทฤษฎีและลงมือปฏิบัติ

               3.  จัดกิจกรรมประกวดวาดภาพระบายสีในโรงเรียน เป็นกิจกรรมวันสำคัญเช่น วันสุนทรภู่  วันวิทยาศาสตร์  เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับนักเรียน

               4. นำนักเรียนเข้าร่วมประกวดวาดภาพระบายสีตามที่หน่วยงานต่างๆจัดขึ้น  รวมทั้งส่งภาพเข้าประกวดในระดับต่างๆ

               5.  จัดตั้งกลุ่มศิลปะเพื่อส่งเสริมนักเรียนที่มีความสามรถพิเศษ โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองดีเยี่ยม  โดยมีวิทยากรมาฝึกทักษะทุกวันเวลา 16.00-17.30 น.

               6. โครงการกำแพงสวยด้วยมือหนู  ฝึกนักเรียนทำงานเป็นกลุ่มๆละ 3 คน ร่วมกันวางแผนการทำงานบนกำแพงซึ่งเป็นรั้วของโรงเรียน  ทำให้นักเรีรยนมีความภาคภูมิใจมาก

               7. ส่งเสริมให้นักเรียนนำศิลปะไปใช้กับวิชาอื่นๆหรือใช้ในชีวิตประจำวัน

               ณ วันนี้นักเรียนส่วนหนึ่งได้พัฒนาทักษะทางศิลปะ  โดยดูจากการเข้าร่วมประกวด หลายคนได้รับรางวัลระดับโรงเรียน  ระดับกลุ่ม  ระดับอำเภอ  เป็นความภาคภูมิใจขิงโรงเรียน  ครู ผ฿ปกครองและตัวนักเรียนเอง  ครูผู้สอนก็รู้สึกว่าการทุ่มเทไม่สูญเปล่า  แม้จะไม่ได้รับรางวัล  โล่ห์หรือคำสรรเสริญใดๆมากมายนัก  แต่สิ่งที่ครูผู้สอนภูมิใจที่สุดคือ  นักเรียนรักศิลปะ  ซึ่งจะส่งผลให้นักเรียนเป็นผู้มีจิตใจงดงาม มีสุนทรียะ  เพราะสังคมยังขาดบุคคลที่มีความละเอียดอ่อนทางด้านจิตใจอีกมาก

               ครูนภาคิดว่า...การพัฒนาศิลปะจะต้องดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง  และพัฒนาเทคนิควิธีการต่างๆต่อไป  ตลอดทั้งไม่ลืมที่จะให้การเสริมแรงนักเรียนที่ใพฒนาการดีขึ้น เพราะ "โลกสวยด้วยมือเรา" ได้อย่างแน่นอน


โดย : คุณ วันชมพู บุญทวงษ์, โรงเรียนบ้านห้วยกุ่ม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชลบุรี เขต 3, วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547