คนจน-เศรษฐกิจพอเพียง
คอลัมน์ เดินหน้าชน โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์ มติชนรายวัน วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 9453
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดีอกดีใจกับตัวเลขการจดทะเบียนคนมีปัญหาเดือดร้อน 7 ประเภท พร้อมชื่นชมผลงานของคุณวันมูหะมัดนอร์ มะทา รัฐมนตรีมหาดไทย จนลดแรงเสียดทานทางการเมืองจากปัญหาภาคใต้ลงได้ระดับหนึ่ง
แต่ต้องไม่ลืมว่า ตัวเลขที่ได้มาเป็นเพียงการเริ่มต้นของกระบวนการแก้ไขปัญหา ทำให้รู้ว่าคนที่เดือดร้อนเป็นใคร อยู่ที่ไหน อาการเป็นอย่างไรเท่านั้น ปัญหาใหญ่คือขั้นตอนต่อไปการคิดค้นวิธีแก้ปัญหาหรือรักษาโรคต่างหาก จะลงไปถึงต้นตอซึ่งเป็นสาเหตุของโรค "ความยากจน" ที่แท้จริงแค่ไหน
วิธีการแก้ที่สะท้อนออกมาโดยเฉพาะปัญหาหนี้สินภาคประชาชน ได้แก่ ยกหนี้ ปลดหนี้ แปลงสภาพหนี้ ย่นระยะเวลาการชำระหนี้ เปลี่ยนเจ้าหนี้จากนายทุนนอกระบบมาเป็นในระบบ ให้สถาบันการเงินภาครัฐและกองทุนหมู่บ้านเข้าไปรับภาระแทน
ความคิดพื้นฐานในการหาวิธีแก้ไขจึงเป็นเรื่องสำคัญ ภายใต้แนวคิดที่หลากหลาย ทางการจะระดมเอาผู้นำทางความคิดต่างๆ มาร่วมกันเพื่อให้ได้บทสรุปที่ดีที่สุดอย่างไร ไม่ใช่คิดกันแค่นักการเมือง ข้าราชการ นักวิชาการฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างความคิด 2 แนวทาง ซึ่งมีผลต่อวิธีการแก้ปัญหาความยากจนอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ นั่นคือ แนวทางตะวันตกที่มุ่งเศรษฐกิจระบบตลาด ประสิทธิภาพการแข่งขันและกำไรสูงสุด เป็นตัวตั้งกับแนวทางตะวันออก ที่มุ่งความพอเพียง ความสุขอยู่ที่จิตใจภายใน ปัจจัยภายนอกมีเพียงแต่พอดีเท่าที่จำเป็นไม่ขาดแคลน
น.พ.ประเวศ วะสี อธิบายว่า แนวทางแรกเป็นหนทางที่นำไปสู่การสะสมวัตถุปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ ส่วนแนวทางที่ 2 เป็นแนวทางตามหลักพระพุทธศาสนา คือ เสียสละเพื่อแก้ทุกข์
สุขจากการกอบโกยกับสุขเกิดจากการเสียสละ "สร้างสุขกับแก้ทุกข์" จะเลือกแนวทางใดมากำหนดวิธีแก้ปัญหา แนวไหนจะทำให้มีความสุขที่ยั่งยืนกว่ากัน
สุขกับทุกข์อยู่ด้วยกัน เมื่อแก้ทุกข์ก็เกิดสุข เป็นสิ่งคู่กัน ก็ตรงนี้
การคิดวิธีแก้ปัญหาความจนต้องหวนกลับมาคิดถึงปรัชญาพื้นฐาน ระหว่าง 2 แนวทางนี้จะมุ่งไปทางไหน จะผสมผสานแนวทางตะวันตก กับแนวทางตะวันออกซึ่งเรามีทรัพยากรที่มีค่าเป็นพื้นฐานอยู่แล้วคือ พระพุทธศาสนา ให้กลมกลืนกันอย่างไร จนเกิดเป็นความพอดี ความพอเพียง ทางสายกลางนั่นเอง
การแก้ปัญหาด้วยการให้โอกาสกับคนจน ด้วยความเชื่อที่ว่า เมื่อมีโอกาสใหม่แล้วคนจน จะมีความสามารถในการหาเลี้ยงตัวเองอีกครั้ง เป็นเพียงแนวทางหนึ่งมุ่งแก้ที่ตัวบุคคล คือ "คนจน" เท่านั้น
ขณะที่มีปัจจัยอื่นเป็นสาเหตุทำให้ยากจนอีกมาก โดยเฉพาะกฎกติกา และสภาพแวดล้อมทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม ต้องหาทางแก้ด้วย
เพราะความเป็นจริงคือว่าเมื่อคนจนปลอดจากหนี้สินจนเป็นอิสระแล้วก็ต้องหวนกลับคืนสู่สนามการแข่งขันเดิม สภาพแวดล้อมเดิม กติกาเดิม อยู่ดี
ข้อเท็จจริงจึงเป็นอย่างที่หลายท่านพูดว่า ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เป็นปัญหาทางวัฒนธรรม
วัฒนธรรมอะไร วัฒนธรรมที่ถือเอาเงิน และวัตถุเป็นพระเจ้า บูชาคนรวย ดูถูกเหยียบย่ำคนจน ตัดสินคนจากภายนอก ฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือยนั่นเอง
ต้นตอของปัญหาความยากจนจึงไม่ใช่เพียงแค่การขาดโอกาส และด้อยความสามารถในการดูแลตัวเองเท่านั้น แต่เป็นปัญหาวัฒนธรรมและความเป็นธรรมในสังคม
ต้นตอของปัญหาความยากจนคือปัญหาความไม่เป็นธรรม
วิธีแก้ปัญหาคนจนในระดับโครงสร้างก็คือ ทำให้สังคมมีความเป็นธรรม ขจัดความเหลื่อมล้ำทุกด้านให้เหลือน้อยที่สุด ให้ผลพวงจากความเจริญเติบโตกระจายออกไปให้ทั่วถึง
หลีกเลี่ยงบาป 7 ประการที่มหาตมะ คานธี ว่าไว้ คือ
การเมืองที่ปราศจากหลักการ
ความสนุกที่ปราศจากมโนธรรม
ความมั่นคงที่ปราศจากการทำงาน
ความรู้ที่ปราศจากอุปนิสัยและบุคลิกภาพ
การค้าโดยปราศจากศีลธรรม
วิทยาศาสตร์ที่ปราศจากมนุษยศาสตร์
เคารพบูชาปราศจากการเสียสละ
ที่ผ่านมามีนักคิดนำประเด็นปัญหาต่างๆ รวมทั้งความยากจนมาพูดให้รัฐบาลคิด และเตือนทุกฝ่ายเรื่อยมา ให้มีความพอดี อย่าทำอะไรเกินตัวอย่างในอดีต
ทั้งหลายทั้งปวงที่ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมาไม่ใช่อะไรหรอกครับ อยากเชิญชวนให้ติดตามเวทีความคิดที่กำลังจะเกิดขึ้น คือการประชุมสัมมนาเครือข่ายขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จัดขึ้น วันที่ 30-31 มกราคมนี้ ที่สวนสามพราน
ระดมนักคิดจากภาคประชาสังคมและชุมชน ธุรกิจเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ นักปฏิบัติกว่า 80 คน มาคุยกันว่าจะมีวิธีการอย่างไร ที่จะสร้างกระแสสังคม และสร้างเครือข่ายให้มีการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้เป็นกรอบคิด หรือส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนไทยทุกคน ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาความยากจนและปัญหาอื่นๆ ของสังคมไทยได้มากทีเดียว
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปใน ทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อ โลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระดับภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี พอสมควร ต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้อง เสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรมความซื่อสัตย์ สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อ การรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
|