จากศักยภาพสู่งานอาชีพ

                การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบร่วมมือ " Leraning  Together " ของ David Johnson และRobert Johnson (1987) เป็นรูปแบบการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  เหมาะสมกับการจัดกิจกรรมระดับมัธยมศึกษา  ข้าพเจ้าได้ทดลองใช้กับลูกศิษย์เพื่อพัฒนางานอาชีพและกลุ่มสนใจด้วยโครงงาน เป็นการสอนที่เน้นการทำงานกลุ่ม  การวางแผนการทำงาน  สมาชิกมีบทบาทในการทำงาน  มีความรับผิดชอบในงานร่วมกัน  พึ่งพากัน มุ่งให้เกิดความคิดสร้างสรรค์  เริ่มจาก....ผู้เรียนเข้ากลุ่มตามความสนใจประมาณ 4 คน เพื่อให้ทุกคนมีภาระงาน ไม่รบกวนเพื่อน ทุกคนมีบทบาท เกิดความภาคภูมิใจ  หลังจากนั้น  ผู้เรียนเลือกหัวหน้า แบ่งงานตามความถนัด...

        ประยงค์ : เรารับวาดภาพเองนะ

        หัวหน้ากลุ่ม : ลงเทียนในภาพใครจะลง

        สมาชิก : ทิพวรรณ

        ครู  : ทำไมเลือกทิพวรรณ

        เพื่อนๆ : ทิพวรรณใจเย็น มีสมาธิกว่าพวกผมครับ

        จะเห็นได้ว่าทุกคนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ทุกคนสามารถบอกขั้นตอนการทำงานและร่วมนำเสนอผลงานของกลุ่มตนเองได้ เช่น "... ผลงานของกลุ่มยังไม่เป็นที่น่าพอใจครับ   เนื่องจากเกิดปัญหาจากการลงเทียนขาด  ทำให้สีทะลุเข้าหากัน  เราช่วยกันระบาย  แต่สีที่ระบายในภาพก็ยังไม่สวย..."

            คุณลักษณะของลูกศิษย์ที่ข้าพเจ้าพบหลังการสอน คือความร่าเริงแจ่มใส  มีเจตนคติที่ดีต่องานอาชีพ  สามารถแสดงศักยภาพของตนเองต่อเพื่อนและครูได้อย่างมั่นใจ มีเหตุผลและรับผิดชอบ  ช่วยเหลือและพึ่งพากัน กล้าถาม  กล้าทำ  กล้าแสดงความคิดเห็น  มีความกระตือรือร้นและรักการทำงาน...

           ผู้เรียนได้อะไรติดตัวไป????

     "....จากเมื่อก่อนที่ดิฉันได้ศึกษาอยู่ที่โรงเรียนบ้านห้วยกุ่ม เมื่อมีเวลาว่างจากช่วงพักกลางวันหรือหลังเลิกเรียน  คุณครูสำอางค์ก็จะช่วยสอนงานประดิษฐ์ให้ตามความสนใจ  ดิฉันจึงใช้เวลาว่างมาเรียน  งานชิ้นแรกที่ได้ทำจะเป็นพวกของเหลือใช้นำมาประดิษฐ์  ดัดแปลง  บางครั้งก็นำไปแสดงหรือจำหน่าย  เพื่อเป็นทุนในการซื้ออุปกรณ์  ถ้าเงินเหลือคุณครูก็แบ่งให้เป็นค่าขนม  ปัจจุบันดิฉันเรียนอยู่ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาชลบุรี อยู่ปวช.ปี 1 แผนกอาหารและโภชนาการแล้ว  ก็ยังนำความรู้จากโรงเรียนบ้านห้วยกุ่มไปใช้ได้  เวลาอาจารย์ให้ประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้  ดิฉันก็ประยุกต์และทำได้ทันที  อาจารย์และเพื่อนที่เห็นดอกไม้ประดิษฐ์ชมว่าสวยและเหมือนของจริง

               ประโยชน์ที่ดิฉันได้รับจากการใช้เวลาว่างคือได้ความรู้ ได้อาชีพได้ใช้เวลาอย่างมีคุณค่า.....ดิฉัน นางสาวสุกัญญา  บุญผึ้ง..

              ข้าพเจ้าในฐานะครูผู้สอนได้เข้าอบรมศึกษาดูงาน  อ่านหนังสือ สิ่งพิมพ์ต่างๆ  เพื่อเพิ่มพูนความรู้แก่ตนเองอย่างสม่ำเสมอ  ยามสอนข้าพเจ้าจะให้ความรักและความเข้าใจต่อลูกศิษย์เพราะเด็กวัยนี้ต้องการความรัก ความเข้าใจ  ข้าพเจ้าจะคอยเป็นที่ปรึกษาและเป็นกำลังใจให้ยามเขาเกิดปัญหา เป็นผู้แนะแนวทางเมื่อเขาทำผิด  ข้าพเจ้าเปิดโอกาสให้เด็กแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการสอนของข้าพเจ้าและทุกด้านได้อย่างเต็มที่  ประการสำคัญ  เด็กได้มีส่วนร่วมในการเลือกงานอาชีพที่ตนสนใจ  เพื่อเกิดความรักและเจตคติที่ดีต่องานอาชีพ 

..ข้าพเจ้านางสำอางค์  เมฆพักตร์ อาจารย์ 2 ระดับ 7 โรงเรียนบ้านห้วยกุ่ม สังกัด สพท.ชบ.3 (โทร.038-298228)  ว่างๆมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้นะคะ ยินดีต้อนรับค่ะ

 


โดย : นาง วันชมพู บุญทวงษ์, โรงเรียนบ้านห้วยกุ่ม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชลบุรี เขต 3, วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2547