ประเพณีวิ่งควาย

ประเพณีวิ่งควาย

ชนบทไทยในสมัยก่อนนั้นอาชีพเกษตรกรรมโดยเพาะอย่างยิ่งการทำนาคืออาชีพหลัก งานโดยส่วนใหญ่จึงเป็นงานที่ค่อนข้างหนัก ยิ่งในขณะนั้นยังไม่มีรถยนต์และเครื่องจักรใช้งานด้วยแล้ว การใช้แรงงานจากสัตว์คือสิ่งที่จำเป็น สัตว์ที่นิยมนำมาใช้งานก็ได้แก่ วัว ควายและช้าง เป็นต้น ด้วยสภาพทางภูมิประเทศของไทยนั้น พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม ควายดูจะเป็นสัตว์ที่เหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากว่าเป็นสัตว์ที่มีแรงค่อนข้างดี เลี้ยงง่าย อาหารที่ชื่นชอบก็เพียงหญ้าอ่อน มีแอ่งน้ำให้นอนแช่คลายร้อนเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว

นอกเหนือจากการที่จะใช้ควายในการทำนา ทำไร่แล้ว จังหวัดชลบุรี ในอดีตจึงนิยมใช้ควายเทียมเกวียนเป็นพาหนะในการเดินทาง เนื่องจากว่าไม่มีคูคลองมากมายเหมือนกับภาคกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลออกพรรษาด้วยแล้ว เป็นช่วงที่ฝนยังคงตกอยู่บ้างการเดินทางด้วยเท้าย่อมทำให้เกิดความไม่สะดวกแน่นอน ในเมื่อควายหมดภาระหน้าที่การงาน จึงถูกนำมาใช้เทียมเกวียนเป็นพาหนะเดินทางไปทำบุญตามวัดต่างๆ ยิ่งเป็นงานบุญออกพรรษาด้วยแล้ว ที่วัดใหญ่อินทารามซึ่งเป็นวัดเก่าแก่คู่จังหวัดจึงมีผู้มาทำบุญ ฟังเทศ ฟังธรรมกันมากมาย และวันนี้หนุ่มสาวก็ต้องแต่งตัวมาแบบต้องสวยต้องหล่อกันเป็นพิเศษ เพื่อให้ต้องตาต้องใจกันและกัน อันจะนำทางไปสู่ประตูวิวาห์ เพราะว่าสังคมไทยในสมัยก่อนนั้นผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัว และต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน โอกาสที่จะพบชายในดวงใจได้ก็ต้องอาศัยงานบุญนี่แหละ ส่วนฝ่ายชายนั้นเล่าจะหล่ออย่าเดียวไม่พอ ต้องเพรียบพร้อมด้วยความสามารถรอบด้าน ก็ในเมื่อมนุษย์เรามีนิสัยเหมือนกันเสียเมื่อไร ณ ลานหญ้าหน้าวัดใหญ่อินทารามซึ่งใช้เป็นที่ผูกควายเป็นจำนวนมาก จึงมีผู้ชายหนุ่มกลุ่มหนึ่งที่ค่อนข้างคึกคนอง ชักชวนกันลองมาขี่ควายวิ่งแข่งกันจะดีกว่า เพื่อพิสูจน์ว่าใครจะเก่งกว่ากัน ครั้งแรกก็แข่งกันไม่กี่คน หนักเข้าก็นิยมกันแพร่หลายจนกลายเป็นประเพณีจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันการแข่งขันวิ่งควายจะจัดกันในช่วงเทศกาลออกพรรษา หมุนเวียนไปตามอำเภอต่างๆจนครบทุกสนามแข่ง สำหรับที่อำเภอเมืองจังหวัดชลบุรีจะจัดให้มีการแข่งกันในวันก่อนออกพรรษาของทุกปี ในวันงานนั้นช่วงเช้าจะมีขบวนแห่ควายเทียมเกวียน ภายในเกวียนจะบรรจุมะพร้าว ต้นกล้วย ต้นอ้อยจนเต็ม แต่ละเกวียนจะมีชื่อตามทศชาติชาดก โดยจะมีการแห่ไปรอบตลาดเมืองชลบุรี จากนั้นจึงเริ่มการแข่งวิ่งควาย ประกวดควายสวยงาม ควายตลกขบขัน


โดย : เด็กหญิง ด.ญ.นิรมล สังข์นาค, โรงเรียนพนัสพิทยาคาร, วันที่ 23 กันยายน 2546