ป่าชายเลน
ลักษณะของป่าชายเลน
เป็นป่าที่เกิดขึ้นบริเวณรอยต่อระหว่างพื้นดินกับพื้นน้ำทะเล ผสมผสานกันเป็นน้ำกร่อย หากบริเวณนั้นเป็นอ่าวคลื่นลมสงบตะกอนที่มากับแม่น้ำ จะตกตะกอนลงสู่พื้น สะสมรวมตัวเป็นหาดเลนกว้างใหญ่ ลูกไม้ชายเลน เช่น โกงกางจะลอยมาตามน้ำลงปักในพื้นเลนก่อเกิดเป็นพันธุ์ไม้บุกเบิกรากดักตะกอนสะสมเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นสันดอน มีไม้ชายเลนอื่นๆมาอาศัยพัฒนากลายเป็นป่าชายเลน ป่าชายเลนของไทยกระจัดกระจายอยู่ตามชายฝั่งยาวประมาณ 927 กิโลเมตร ในเขตชายฝั่งทะเลภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ป่าชายเลนเป็นระบบนิเวศที่ประกอบด้วยพืชพรรณ และสัตว์นานาชนิด
สภาพแวดล้อมของป่าชายเลน
สภาพแวดล้อมโดยทั่วไปของป่าชายเลนมีความแตกต่างไปจากป่าที่อื่นโดยเฉพาะดิน เนื่องจากมีสภาพเป็นดินเลนในที่ราบกว้างใหญ่ ดินเหล่านี้มีความอุดมสมบูรณ์สูงจากธาตุอาหารที่ไหลมาจากแหล่งต่างๆ เช่น จากการกัดเซาะตามชายฝั่งและแหล่งน้ำลำธาร อีกส่วนหนึ่งมาจากซากพืชซากสัตว์ในบริเวณป่าชายเลนเอง โดยเฉพาะใบไม้ที่ร่วงหล่นทับถมกันเป็นจำนวนมาก แพลงค์ตอนพืชและสาหร่าย ส่วนสภาพความเค็มของน้ำบริเวณนี้ระดับค่อนข้างต่ำ เนื่องจากมีน้ำจืดไหลลงมาปะปนกับน้ำทะเลจึงทำให้น้ำบริเวณนี้เป็นน้ำกร่อย ระดับความเค็มของน้ำดังกล่าวยังเปลี่ยนแปลงไปได้ตามระดับน้ำที่ขึ้นลงเป็นประจำ มีผลต่อชุมชนในป่าชายเลนเป็นอย่างมาก โดยมีผลทางตรงต่อชนิดและการกระจายของพันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ ดังจะเห็นได้จากป่าชายเลนแหล่งต่างๆของโลก พันธุ์ไม้จะขึ้นอยู่ในลักษณะเป็นเขตแนวของแต่ละชนิด โดยมีแบบแผนแน่นอนจากบริเวณฝั่งน้ำเข้าไปด้านในของป่า อันเป็นลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างออกไปจากป่าบกทั่วไป พันธ์ไม้ต่างๆที่มีการปรับตัวมาจนขึ้นอยู่ได้ในเขตนี้ ที่ทำให้สามารถเจริญและแพร่กระจายได้ในบริเวณที่เป็นดินเลนลึก มีน้ำท่วมถึง จึงต้องมี รากค้ำจุน ที่แข็งแรงเป็นจำนวนมาก รากเหล่านี้ช่วยผยุงลำต้นให้ตั้งตรงอยู่ได้ไม่โค่นล้มเมื่อถูกพายุพัดหรือคลื่นซัดได้แก่พันธุ์ไม้พวกโกงกางซึ่งมีมาก ป่าชายเลนจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ป่าโกงกาง
สำหรับระบบนิเวศวิทยาที่เกิดขึ้นในป่าชายเลนนั้นเป็นไปในแง่ของการถ่ายทอดพลังงานเป็นแบบที่เริ่มต้นด้วยเศษอินทรียสาร (detritus) ซึ่งได้จากการสลายตัวของใบไม้ในบริเวณป่าชายเลนโดยจุลินทรีย์ผู้ย่อยสลาย อินทรียวัตถุเหล่านี้จะเป็นอาหารของพวกกินเศษอินทรียวัตถุ เช่น แอมฟิพอด หอย กุ้ง ปู และตัวอ่อนของแมลงต่างๆ จากพื้นก็จะถูกกินต่อๆกันไปตามลำดับขั้นของลูกโซ่อาหาร และโดยธรรมชาติแล้วจะมีความสมดุลในตัวของมันเอง แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งก็จะเป็นผลทำให้ระบบความสัมพันธ์นี้ถูกทำลายลง จนเป็นผลเสียขึ้นได้ เช่น ถ้าหากพื้นที่ป่าชายเลนถูกบุกรุกทำลาย จำนวนสัตว์น้ำก็จะลดลงตามไปด้วยตลอดจนอาจเกิดการเน่าเสียของน้ำตามมา
ความสำคัญและประโยชน์ของป่าชายเลน
ป่าชายเลน มีระบบนิเวศที่มีคุณค่ามหาศาล และมีความสำคัญต่อมนุษย์หลายรูปแบบถือเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์น้ำ ซึ่งได้แก่ อินทรียวัตถุที่ย่อยสลายจากซากพืชหรือเศษใบไม้ ส่วนใหญ่ได้จากใบของพืชที่ร่วงหล่น นอกจากนี้ยังได้จากส่วนของ กิ่ง ก้าน ดอก และผลอีกด้วย ส่วนแหล่งอาหารอื่นๆ ในบริเวณปากแม่น้ำ ส่วนใหญ่เป็นสารอินทรีย์ที่ละลายน้ำ เช่น กรดอะมิโน ซึ่งมีต้นกำเนิดจากการสลายตัวของอินทรียวัตถุ ในบริเวณป่าชายเลน ป่าชายเลนยังเป็นแหล่งที่ตัวอ่อนของสัตว์น้ำพวก กุ้ง หอย ปู ปลา เข้ามาอาศัยร่มเงาและหาอาหาร ป่าชายเลนจึงเป็นแหล่งอนุบาลตัวอ่อนของสัตว์น้ำ ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศทะเลไทยมากที่สุด
คุณประโยชน์ที่เห็นได้ชัดของป่าชายเลนอีกก็คือ การใช้ประโยชน์จากไม้ ชายเลนเพื่อการเผาถ่าน ต้นไม้ในป่าชายเลนปลูกง่าย โตเร็ว จึงมีการลักลอบตัดฟันน้อยกว่าต้นไม้ในป่าบกหลายเท่า ไม้ป่าชายเลนนอกจากจะใช้เผาถ่าน ซึ่งทำรายได้คิดเป็นมูลค่าถึงปีละประมาณ 560 ล้านบาท และยังมีการใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่นๆ คือ เป็นไม้ฟืน ไม้เสาเข็ม ไม้ค้ำยัน ไม้ก่อสร้าง แพปลา อุปกรณ์ การประมง และเฟอร์นิเจอร์
ป่าชายเลนยังทำหน้าที่เสมือนเขื่อนป้องกันคลื่นลมจากทะเล ที่สามารถซ่อมแซมตนเองได้เมื่อได้รับความเสียหายจากพายุ ป่าชายเลนช่วยป้องกันความรุนแรงของพายุ จนไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์และระบบนิเวศบริเวณถัดเข้ามา และในขณะเดียวกันป่าชายเลนยังทำหน้าที่ดักกรองสารปฏิกูลและสารมลพิษต่างๆ จากบนลกไม้ให้ลงสู่ทะเล โลหะหลากหลายชนิด เมื่อถูกพัดพามาตามกระแสน้ำ ก็จะตกตะกอนลงที่บริเวณดินเลนในป่าชายเลน นอกจากนี้ขยะและคราบน้ำมันต่างๆ ก็จะถูกกรองไว้ในป่าชายเลน
สรุปการใช้ประโยชน์จากป่าชายเลน
- มีความสำคัญในการเป็นแหล่งพลังงานและอาหาร
- เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ตามธรรมชาติ
- เพื่อเป็นเครื่องป้องกันแนวชายฝั่งทะเล
- เพื่อควบคุมการกัดเซาะพังทลาย
- เพื่อซับน้ำเสีย
- เป็นแนวกำบังกระแสน้ำเชี่ยวที่ปากแม่น้ำและพายุหมุน
- ผลิตภัณฑ์จากไม้
- เชื้อเพลิง
- วัสดุก่อสร้าง
- สิ่งทอและหนังสัตว์
- อาหาร ยา และเครื่องดื่ม
- การผลิตกรดจากเปลือกไม้ (tannin)
- ให้ผลผลิตมวลชีวภาพ (biomass) แก่แหล่งประมง
สัตว์ในป่าชายเลน
ป่าชายเลนเป็นแหล่งอุดมได้ด้วยสัตว์น้ำนานาชนิด นับตั้งแต่สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังตลอดจนสัตว์มีกระดูกสันหลัง ซึ่งสัตว์เหล่านี้มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และระบบนิเวศทางทะเล
ตัวอย่าง สัตว์ที่พบในป่าชายเลน
ปู มีทั้งที่ขุดรูอยู่ตามพื้นโคลนใต้รากไม้ และการอยู่ตามรากโกงกาง
ขึ้นอยู่กับชนิด และการหา
อาหารของมัน ได้แก่ ปูเสฉวน ปูก้ามดาบ ปูแสม ปูทะเล
กุ้ง ถ้าเป็นกุ้งเกย ที่มีขนาดเล็ก ชาวบ้านนิยมมาทำกะปิ กุ้งขนาดใหญ่
เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญนอกจากกุ้งแล้วยังมีสัตว์จำ
พวกเดียวกับกุ้ง นั่นคือ กั้งตั๊กแตน ซึ่งเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง
นอกจากสัตว์เหล่านี้ยังมีสัตว์จำพวกเพรียงหิน แมลงสาบทะเล ที่พบอยู่ตาม ซากใบไม้ที่ร่วงหล่นทับถมกันอยู่ อีกทั้งแมลงเล็กๆ ซึ่งทำให้ภายในระบบนิเวศทางทะเลสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
พันธุ์ไม้ในป่าชายเลน
สังคมพืชในป่าชายเลนต้องมีการปรับตัวทั้งทางด้านสรีระและโครงสร้าง โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่ในสภาพที่เป็นดินเลนลึก พืชจำพวกนี้มีรากค้ำจุนจำนวนมากออกบริเวณโคนต้น ทำหน้าที่พยุงลำต้นและหายใจด้วย
ตัวอย่าง พันธุ์ไม้ในป่าชายเลน ที่เห็นเด่นชัดได้แก่
โกงกาง เป็นพระเอกของป่าชายเลน เขียวชอุ่มตลอดทั้งปีมี 2 ชนิด
คือ โกงกางใบเล็กและโกงกางใบใหญ่
แสม แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ
แสมทะเล เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ที่พบมาก
ในพื้นดินงอกใหม่
แสมขาว มักขึ้นปนดินทราย
แสมดำ มีใบเป็นรูปไข่กลมป้อม ปลายใบมน หลังใบเป็น
มันท้องใบสีน้ำตาลอ่อน
โปรง แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
โปรงแดง เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ชอบดินที่มีสภาพเป็นกรด
ห้อยบนกิ่งในทิศทิ้งตัวลง
โปรงขาว ลักษณะส่วนใหญ่คล้ายโปรงแดงมาก เพียงแต่
มีต้นอ่อนขนาดสั้นกว่า
นอกจากนี้ ยังมีพันธุ์ไม้ชนิดอื่นด้วย เช่น ลำพู ลำแพน ตะบูน ตะบัน เสม็ด และพันธุ์อื่นๆอีกมากมาย ซึ่งก่อให้เกิดทัศนียภาพที่งดงาม และสร้างความอุดมสมบูรณ์ต่อระบบนิเวศทางทะเลอีกด้วย
|