ระบบย่อยอาหาร

ระบบย่อยอาหาร

ตัวเราประกอบด้วยอวัยวะสำคัญหลายชนิดที่ทำหน้าที่ต่างกัน อวัยวะภายในที่ทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มเรียกว่า ระบบ ซึ่งมีหลายระบบ เช่นระบบย่อยอาหาร ระบบโลหิต

ระบบย่อยอาหาร

ระบบย่อยอาหารมีหน้าที่ย่อยอาหารให้ละเอียด แล้วดูดซึมผ่านเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ระบบนี้มีอวัยวะที่เกี่ยวข้องดังนี้

1. ปาก เป็นอวัยวะแรกของระบบย่อยอาหาร ภายในประกอบด้วย

ฟัน ทำหน้าที่บดเคี้ยวอาหารให้ละเอียด ลิ้น ทำหน้าที่ส่งอาหารให้บดเคี้ยวและคลุกเคล้าอาหารให้อ่อนตัว ง่ายต่อการบดเคี้ยวของฟัน ต่อมน้ำลาย ทำหน้าที่ขับน้ำลายออกมาคลุกเคล้ากับอาหาร ในน้ำลายมีเอนไซม์อะไมเลส ซึ่งสามารถย่อยแป้งให้เป็นน้ำตาล ดังนั้นเมื่อเราอมข้าวเปล่าไว้นาน ๆ จึงรู้สึกหวานนิด ๆ

2. หลอดอาหาร ทำหน้าที่หดตัว บีบอาหารลงสู่กระเพาะอาหาร เพราะหลอดอาหารมีผนังที่ยึดและหดตัวได้

3. กระเพาะอาหาร มีลักษณะเป็นถุง รูปร่างคล้ายตัวเจ ปกติกระเพาะอาหารที่ไม่มีอาหารจะมีขนาดประมาณ 50 ลูกบาศก์เซนติเมตร และสามารถขยายตัวเมื่อมีอาหารได้อีก 10 - 40 เท่า

ภายในกระเพาะอาหารจะมีเอนไซม์ชื่อว่า “เพปซิน” ที่ช่วยย่อยโปรตีน ซึ่งเอนไซม์นี้จะทำงานได้ดีในสภาวะที่เป็นกรด กรดที่กระเพาะอาหารสร้างคือ กรดไฮโดรคลอริก ( กรดเกลือ ) อาหารจะสามารถอยู่ในกระเพาะอาหารได้ประมาณ 3 – 4 ชั่งโมง แล้วจะถูกส่งต่อไปยังลำไส้เล็ก

4. ลำไส้เล็ก มีรูปร่างเป็นท่อ ในลำไส้เล็กมีน้ำย่อยหลายชนิดใช้ย่อยอาหารได้ทุกประเภท ถ้าน้ำย่อยในลำไส้เล็กไม่พอจะมีน้ำย่อยจากตับและตับอ่อนเข้ามาช่วย โดยตับจะสร้างน้ำดีสำหรับย่อยไขมันให้มีขนาดเล็ก ที่ลำไส้เล็กจะเป็นการย่อยครั้งสุดท้ายจนอาหารมีขนาดเล็กที่สุด สามารถซึมผ่านผนังลำไส้เล็กเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

5. ลำไส้ใหญ่ ในลำไส้ใหญ่จะไม่มีการย่อยอาหาร เมื่อลำไส้ใหญ่รับกากอาหารมาจากลำไส้เล็กแล้ว ผนังของลำไส้ใหญ่จะดูดน้ำและแร่ธาตุจากกากอาหารเข้าสู่กระแสเลือด กากอาหารจะเหนียวและข้นขึ้นรอการขับถ่ายออกมาเป็นอุจจาระต่อไป

อวัยวะช่วยย่อยอาหาร

การย่อยอาหารในคนนอกจากมีอวัยวะที่เป็นทางเดินอาหารแล้ว ยังมีอวัยวะที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการช่วยย่อยอาหารโดยเฉพาะในการย่อยอาหารในลำไส้เล็ก ได้แก่ตับและตับอ่อน

1. ตับ เป็นอวัยวะซึ่งมีต่อมที่ใหญ่ที่สุดของร่างกาย อยู่ช่องท้องใต้กระบังลม ทำหน้าที่สร้างน้ำดี แล้วนำไปเก็บสะสมไว้ในถุงน้ำดี น้ำดีประกอบด้วยเกลือน้ำดี และรงควัตถุน้ำดี ท่อนำน้ำดีช่วงแรกเรียกว่า common bile duct ช่วงสุดท้ายก่อนที่จะเปิดเข้าลำไส้เล็ก โดยไปรวมกับท่อจากตับอ่อนเรียกว่า hepato pancreatic duct ตับมีหน้าที่โดยสรุปดังนี้

1. สร้างน้ำดีในการช่วยให้ไขมันแตกตัว ทำให้น้ำย่อยไขมันสามารถย่อยไขมันได้ดีในลำไส้เล็ก

2. ทำลายเม็ดเลือดแดงที่หมดอายุ

3. สร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงในระยะเอ็มบริโอ

4. ช่วยในการแข็งตัวของเลือด

5. สลายกรดอะมิโนให้เป็นยูเรีย

6. ศูนย์กลางเมแทบอลิซึมอาหารที่ให้พลังงานได้

7. สะสมไกลโคเจนซึ่งเป็นน้ำตาลจากเลือดสะสมไว้ในตับ

8. ทำลายจุลินทรีย์โดยมี kupffer’ s cell ทำหน้าที่ทำลายจุลินทรีย์

9. คุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้เกิน 0.1 %

2. ตับอ่อน อยู่ระหว่างกระเพาะอาหารกับลำไส้เล็กตอนบน ทำหน้าที่สร้างน้ำย่อยหลายชนิด ท่อน้ำย่อยจากตับอ่อนช่วงแรก pancreatic duct ช่วงหลังเรียกว่า hepato pancreatic duct หน้าที่ของตับอ่อนสรุปได้ดังนี้

1. มีต่อมสร้างน้ำย่อยหลายชนิดส่งให้ลำไส้เล็กทำหน้าที่ย่อย แป้ง โปรตีนและไขมัน

2. มีต่อมไรท่อควบคุมน้ำตาลในเลือด

3. สร้างสารที่เป็นเบสกระตุ้นให้น้ำย่อยในลำไส้เล็กทำงานได้ดี


ที่มา : ชีววิทยาม.5อ.เกษม ศรีพงษ์ สำนักพิมพ์ ภูมิบัณฑิต ชีววิทยาม.5

โดย : นางสาว น.ส. กำไร ศุภกังวาน, ร.ร.พนัสพิทยาคาร, วันที่ 15 กันยายน 2545