การหายใจ

การหายใจ

Respiartion

การหายใจ คือ การสลายโมเลกุลของสารอาหารจนเกิดพลังงานเพื่อนำมาใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ของร่างกาย

ทางเดินหายใจของคนประกอบด้วย

1.รูจมูก (Nostrill) เป็นทางผ่านเข้าของอากาศ

2.ช่องจมูกหรือโพรงจมูก (Nasal cavity) เป็นโพรงที่ถัดจากรูจมูกเข้าไปซึ่งติดต่อกับคอหอย ที่โพรงจมูกจะมีขนเส้นเล็ก ๆ และต่อมน้ำมันช่วยกรองและจับฝุ่นละอองไม่ให้ผ่านลงสู่ปอด นอกจากนี้ที่โพรงจมูกยังมีเยื่อบุจมูกหนาช่วยให้อากาศที่เข้ามามีความชุ่มชื้น

3.คอหอย (Pharynx) เป็นบริเวณที่พบกันของช่องอากาศจากจมูก ช่องอาหารจากปาก กล่องเสียงจากหลอดลมคอ

4.หลอดลม (trachea) เป็นหลอดยาวตรง มีกระดูกอ่อนเรียงเป็นรูปเกือกม้าติดอยู่ และการที่มีแผ่นกระดูกอ่อนจึงทำให้หลอดลมไม่แฟบลง

5.ขั้วปอด (Bronchus ) เป็นส่วนของหลอดลมที่แยกออกเป็นกิ่ง ซ้ายและขวาเข้าสู่ปอด

6.แขนงขั้วปวดหรือหลอดลมฝอย (Bronchiole) เป็นแขนงของท่อลมที่แยกออกไปมากมายแทรกอยู่ทั่วไปในเนื้อปอด ซึ่งจะไปสิ้นสุดที่ถุงลม (alveolus)

7.ถุงลมเล็ก ๆ ในปอด (alveolu ) ที่ผนังของถุงลมจะมีเส้นเลือดฝอยล้อมรอบอยู่มากมาย จึงเป็นแหล่งในการแลกเปลี่ยนก๊าซ ภายในปอดของคนมีอัลวิโอลัส (ถุงลมเล็ก ๆ )ประมาณ 300 ล้านถุง

การหายใจเข้า กล้ามเนื้อกระบังลมหดตัว กระดูกซี่โครงยกขึ้น ปริมาตรช่องอกเพิ่มขึ้นความดันลดลงอากาศเข้าปอด

การหายใจออก กล้ามเนื้อกระบังลมคลายตัว กระดูกซี่โครงลดลงปริมาตรช่อง อกลดลงความดันเพิ่มขึ้นอากาศออก

 

 

ศูนย์ควบคุมการหายใจ คือสมองส่วนเมดัลลาออบลองกาตา (Medulla oblongata) สมองส่วนนี้จะถูกกระตุ้นโดยความเป็นกรดของเลือดที่ไหลผ่าน (เกิดจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ละลายน้ำได้กรดคาร์บอนิก) ดังนั้นปัจจัยที่มีผลต่อการกำหนดอัตราการหายใจเข้าออก คือ คาร์บอนไดออกไซด์ ถ้าปริมาณ คาร์บอนไดออกไซด์ ในเลือดมากจะมีผลทำให้เราต้องหายใจมากขึ้นเพื่อให้ปริมาณก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ ลดลงเข้าสู่สภาพปกติ

การแลกเปลี่ยนก๊าซในถุงลม

เมื่ออากาศเข้าไปในถุงลม จะเกิดการแลกเปลี่ยนก๊าซระหว่างอากาศในถุงลมกับเส้นเลือดฝอย โดยมีการแลกเปลี่ยนก๊าซสวนทางพร้อม ๆ กันดังนี้ ก๊าซออกซิเจน ในถุงลมมีความหนาแน่นมากกว่าในเส้นเลือดฝอยที่อยู่รอบ ๆ ถุงลม ดังนั้นก๊าซออกซิเจน จึงแพร่จากถุงลมเข้าสู่เส้นเลือกฝอย ส่วนในถุงลมมี คาร์บอนไดออกไซด์ มากจึงแพร่ผ่านจากเส้นเลือดฝอยเข้าสู่ถุงลม

อาการต่างๆที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินหายใจ

การไอ การจาม

เกิดจากการที่เราหายใจเอาอากาศที่ไม่สะอาดเข้าไปร่างกายจึงพยายามขับสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นออกมานอกร่ายกาย

การหาว

เกิดจากการที่มีก๊าซออกซิเจน ในเลือดไม่เพียงพอหรือเกิดจากที่มีก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ ในเลือดมากเกินไปซึ่งต้องขับออกมา

การสะอึก

เกิดจากการที่กระบังลมหดตัวเป็นจังหวะ ขณะหดตัวนี้อากาศจะถูกดันผ่านปอดทันทีทำให้สายเสียงสั่น จึงเกิดเป็นเสียงขึ้น



แหล่งอ้างอิง : ชีววิทยาม.5อ.เกษม ศรีพงษ์ สำนักพิมพ์ ภูมิบัณฑิต ชีววิทยาม.5 อ.ประสงค์ -ดร.จิตเกษม หลำสะอาด สำนักพิมพ์ พัฒนาศึกษา

โดย : นางสาว อรวรรณ อินทร์อาสา, รร.พนัสพิทยาคาร, วันที่ 15 กันยายน 2545