โป๊ยเซียน

โป๊ยเซียน ต้นไม้แห่งโชคลาภตามความเชื่อถือแต่โบราณ จัดเป็นไม้อวบน้ำอยู่ในวงศ์ Euphorbiaceae ซึ่งเป็นวงศ์ใหญ่มาก พบได้ทั่วไปในประเทศเขตร้อน พืชในวงศ์นี้มีมากกว่า 300 สกุล โป๊ยเซียนจัดเป็นพืชที่อยู่ในสกุล Euphorbia ซึ่งพืชในสกุลนี้มีไม่ต่ำกว่า 2,500 ชนิด ได้แก่ คริสต์มาส สลัดได ส้มเช้า หญ้ายาง และ กระบองเพชรบางชนิด

โป๊ยเซียน หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "มงกุฎหนาม" (Crown of Thorns) เนื่องจากลักษณะของลำตันที่มีหนามอยู่รอบเหมือนมงกุฎ นอกจากนี้ยังมีชื่อแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค เช่น กรุงเทพฯ เรียก "ไม้รับแขก" เชียงใหม่ เรียก "ไม้ระวิงระไว" , "พระเจ้ารอบโลก" หรือ "ว่านเข็มพระอินทร์" แม่ฮ่องสอน เรียก "ว่านมุงเมือง" แต่คนไทยคุ้นเคยและรู้จักกันในชื่อ "โป๊ยเซียน" มาช้านาน คำว่า "โป๊ยเซียน" เป็นคำในภาษาจีน แปลว่า เทพยดาผู้วิเศษ 8 องค์ ดังนั้นจึงมีความเชื่อกันว่าถ้าโป๊ยเซียนออกดอกครบ 8 ดอกในหนึ่งช่อจะนำความโชคดีให้แก่ผู้ปลูกเลี้ยง ด้วยเหตุนี้เองจึงมีผู้สันนิษฐานว่าชาวจีนน่าจะเป็นผู้นำโป๊ยเซียนเข้ามาปลูกเลี้ยงในประเทศไทย ครั้งสมัยที่มีการติดต่อค้าขายกับคนไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งแต่เดิมนั้นดอกของโป๊ยเซียนจะมีขนาด 1-2 ซม. เท่านั้น แต่ในปัจจุบันคนไทยได้ผสมพันธุ์และพัฒนาสายพันธุ์โป๊ยเซียนจนมีขนาดดอกใหญ่กว่า 6 ซม. นอกจากนี้ดอกยังมีสีสันที่สวยงาม จนอาจกล่าวได้ว่าโป๊ยเซียนไทยดีที่สุดในโลก

ลักษณะโดยทั่วไป

โป๊ยเซียนเป็นไม้อวบน้ำที่มียางและหนามบริเวณลำต้น ทรงต้นเป็นทรงพุ่ม มีอายุยืนนับสิบปี เป็นไม้ที่ทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศเนื่องจากสามารถสะสมน้ำไว้ตามลำต้นและใบ จึงทำให้สามารถเจริญเติบโตได้ดีในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ส่วนประกอบโดยทั่วไปของโป๊ยเซียนมีดังนี้

ลำต้น มีลักษณะเป็นไม้อวบน้ำมีหนามแหลมรอบลำต้น อาจมีรูปร่างกลมหรือเหลี่ยมบิดเป็นเกลียวแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ เมื่อโป๊ยเซียนมีอายุมากขึ้นเนี้อไม้จะแข็งแต่ไม่มีแก่นเหมือนไม้ยืนต้นทั่วไป สีของลำต้นมีสีเทาอมน้ำตาลถึงเทาอมดำ

หนาม เกิดรอบลำต้น มีลักษณะฐานใหญ่ปลายเรียวแหลม อาจงอขึ้นหรือชี้ลงไม่แน่นอน การแตกของหนามอาจแตกเป็นหนามเดี่ยว หนามคู่ หรือหนามกลุ่มตั้งแต่สามหนามขึ้นไป กลุ่มของหนามอาจจะเรียงกันเป็นระเบียบตามแนวลำต้นเป็นเส้นตรงหรือ บิดเป็นเกลียวรอบต้นก็ได้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์

ใบ ส่วนใหญ่พื้นใบเป็นสีเขียวถึงเขียวอมเทา บางทีใต้ใบอาจมีสีแดงถึงแดงเข้มขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ รูปใบมีหลายแบบ ได้แก่ รูปไข่ปลายใบมน ใบรีรูปหยดน้ำหรือรูปใบพาย ฯลฯ บางสายพันธุ์ใบอาจบิดเป็นเกลียว เป็นคลื่นหรือโค้งงอเล็กน้อย

ดอก โป๊ยเซียนเป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีกลีบดอกสองกลีบ มีเกสรตัวผู้และตัวเมียอยู่ตรงกลางกลีบดอก โป๊ยเซียนออกดอกเป็นช่อ แต่ละช่อประกอบด้วยดอกเป็นคู่ ตั้งแต่ สองดอก สี่ดอก แปดดอก สิบหกดอก สามสิบสองดอก หรือมากกว่านั้น สีของดอกมีหลายสี เช่น แดง ขาว ครีม เหลือง ส้ม เขียว นอกจากนี้ยังมีหลายสีและลายในดอกเดียวกันแตกต่างกันไปขึ้นกับสายพันธุ์ รูปทรงของดอกมีทั้งทรงกลม ยาว รี เหลี่ยม กลีบดอกตั้งขึ้นคล้ายกรวยหรือผายลงคล้ายร่ม ขนาดของดอกบางสายพันธุ์มีขนาดเล็กกว่า 1 ซม. แต่บางสายพันธุ์มีขนาดใหญ่กว่า 5 ซม. โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่พัฒนาโดยคนไทยบางสายพันธุ์มีขนาดใหญ่กว่า 6 ซม.

ผลและเมล็ด ดอกโป๊ยเซียนหลังจากที่มีการผสมเกสรติดแล้ว จะพบว่าที่บริเวณกลางดอกจะมีกระเปาะนูนขึ้นมาเป็นผลสีขาว มีลักษณะเป็นพูเล็กๆ 3 พู แต่ละพูจะมีเมล็ดอยู่หนึ่งเมล็ด เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาลคล้ายเมล็ดพริกไทยและจะแตกออกพร้อมกับดีดเมล็ดกระเด็นออกไป


ที่มา : http://www.panmai.com/CrownofThorns/CrownofThorns.htm

โดย : เด็กหญิง อลิสา แซ่อั๊ง, โรงเรียนวัดนาวังหิน, วันที่ 11 กันยายน 2545