มะเร็งเกิดขึ้นได้อย่างไร
คลิกเพื่อเพิ่มข้อความ
มะเร็งเกิดขึ้นได้อย่างไร


[ ขยายดูภาพใหญ่ ]

ในปี พ.ศ. ๒๓๖๗ นักชีววิทยาชาวฝรั่งเศส ชื่อ ฟรองซัวส์ แวงซองต์ ราสปายส์ (Francois Vincent Raspail) ได้กล่าวไว้ว่า "เซลล์ของร่างกายมนุษย์ นอกจากจะเป็นรากฐานของการมีชีวิตและสุขภาพแล้ว เซลล์ยังเป็นรากฐานของโรคภัยไข้เจ็บและความตายด้วย" นั่นคือการเกิดมะเร็งก็จะมีจุดเริ่มต้นจากเซลล์เช่นกัน โดยจะเกิดความพิการหรือผิดปกติที่ยีน (gene) ภายในโครโมโซม (chromosome) ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นกรดนิวคลีอิกและเป็นรหัสชีวิตที่จะควบคุมลักษณะและหน้าที่การทำงานของเซลล์และการถ่ายทอดลักษณะทางกรรมพันธุ์ความพิการหรือผิดปกติเช่นนี้ ทำให้เซลล์แบ่งตัวโดยไม่ยอมหยุดอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของร่างกาย นักวิจัยเป็นจำนวนมากทั่วโลกต่างก็ได้พยายามที่จะค้นคว้าวิจัยว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เซลล์ปกติเปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็ง และก็ยังไม่สามารถจะสรุปแน่นนอนได้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไรแน่ แต่ก็พอจะสรุปได้ว่ามีเหตุส่งเสริมที่สำคัญ ๒ อย่างร่วมกัน อันจะทำให้เซลล์นั้น ๆ ทำงานผิดปกติไปคือ
๑. เหตุส่งเสริมหรือปัจจัยที่ขึ้นอยู่กับภาวะภายในร่างกาย ซึ่งได้แก่
ก. ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายของแต่ละบุคคล ซึ่งในแต่ละบุคคลจะมีมากน้อยแตกต่างกัน โดยปกติเซลล์มะเร็งสามารถจะสร้างสารต่างๆ ออกมาในรูปของโปรตีน และโพลีเปปไทด์ (polyepeitdes) หลาย ๆ ชนิด ซึ่งจะพบได้ที่พื้นผิว หรือผนังของเซลล์มะเร็งเรียกว่า ทูเมอร์แอสโซซิ เอตแอนติเจน (tumour associated antigen, TAA) หรือทูเมอร์สเปซิฟิกทรานส์แพลนเตชันแอนติเจน (tumour speciflc transplantation antigen, TSTA) ตามปกติร่างกายของคนเรา สามารถจะรับรู้แอนติเจนชนิดนี้ จึงสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีที่จะมาต้านแอนติเจนนี้ได้ จะโดยสาเหตุใดก็ตามที่ร่างกายไม่สามารถจะค้นพบ หรือไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันต้านแอนติเจนนี้ได้ ก็จะเกิดเซลล์มะเร็งขึ้น
ข. เชื้อชาติ ทุกชนชาติเป็นมะเร็งได้เหมือนกัน แต่มะเร็งบางชนิดจะพบมากเฉพาะบางเชื้อชาติ เช่น ชาวญี่ปุ่นเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมาก ส่วนมะเร็งโพรงจมูกพบมากในชาวจีน เป็นต้น
ค. เพศ มะเร็งบางชนิดจะพบมากในเพศชาย เช่น มะเร็งปอด มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งตับ แต่มะเร็งบางชนิดจะพบมากในเพศหญิง เช่น มะเร็งของช่องปาก มะเร็งผิวหนัง เป็นต้น และมะเร็งบางชนิดก็จะพบได้เท่า ๆ กันทั้งสองเพศ
ง. อายมะเร็งบางชนิดพบมากในคนอายุน้อย เช่น มะเร็งของเนื้อเยื่อที่เรียกว่า ซาร์โคมา (sarcoma) ในขณะที่มะเร็งของเยื่อบุที่เรียกว่า คาร์ซิโนมา (carcinoma) จะพบมากในคนอายุมาก และมะเร็ง บางชนิดก็จะพบเฉพาะในเด็กเท่านั้น เช่น มะเร็งของลูกตาชนิดเรติโนบลาสโตมา (retinoblastoma) มะเร็งของไตแบบวิล์ม (Wilm's tumour) เป็นต้น
จ. กรรมพันธุ์ (genetics) มีมะเร็งหลายชนิดที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกรรมพันธุ์ในสายเลือดเดียวกัน เช่น มะเร็งของมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งลูกตาชนิดเรติโนบลาสโตมา ถ้ามีผู้หนึ่งผู้ใดเป็นมะเร็งเหล่านี้แล้ว พี่น้องหรือลูกหลานก็จะมีโอกาสเป็นมะเร็งนั้น ๆ ได้มากขึ้น
ฉ. ความผิดปกติต่าง ๆ เช่น ในกรณีที่เป็นไฝ หรือปานดำมีโอกาสจะกลายเป็นมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาชนิดร้าย (maligmant melanoma) หรือเนื้องอกชนิดธรรมดาก็อาจจะกลายเป็นมะเร็งได้
๒. เหตุส่งเสริมที่อยู่ภายนอกร่างกาย ได้แก่
ก. สารกายภายต่าง ๆ (physical agents) ส่วนใหญ่เกิดจากการระคายเรื้อรัง เช่น ผู้ที่มีฟันเก เวลาเคี้ยวอาหารฟันจะไปครูดกับเยื่อบุภายในช่องปาก เช่น บริเวณกระพุ้งแก้ม หรือลิ้น นาน ๆ ไปทำให้เกิดมะเร็งของเยื่อบุในช่องปากหรือมะเร็งของลิ้นได้
ฟันปลอมที่ไม่กระชับ เวลาเคี้ยวอาหารจะมีการเสียดสีกับเหงือกหรือเพดานปาก อาจจะทำให้เกิดมะเร็งของเหงือกหรือเพดานปากได้
ก้อนนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ทำให้เกิดมะเร็งของระบบทางเดินปัสสาวะได้ การดื่มสุราที่มีดีกรีของแอลกอฮอล์สูง ๆ โดยไม่เจือจางจะทำให้มีการระคายของเยื่อบุบริเวรแอ่งไพริฟอร์ม (pyriform) ข้าง ๆ กล่องเสียง ทำให้เกิดมะเร็งบริเวณนี้ได้
ผู้ที่นิยมรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มร้อนจัดจะมีการระคายบริเวณหลอดอาหาร ทำให้เกิดมะเร็งของหลอดอาหารได้
สารต่าง ๆ ที่ฉีดเข้าร่างกายเพื่อการเสริมสวย ก็มีส่วนทำให้เกิดมะเร็งได้จากการระคายเฉพาะที่
อวัยวะเพศชายที่หนังหุ้มปลายไม่เปิด จะเกิดการระคายจากขี้เปียก (smegma) ทำให้เกิดมะเร็งของอวัยวะเพศได้
การกระทบกระแทก การฉีกขาดของปากมดลูก เช่น ผู้ที่มีอาชีพโสเภณี การคลอดบุตรหลาย ๆ คน หรือการมีกะบังลมหย่อยในหญิงสูงอายุ ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้ง่าย
รังสีต่าง ๆ (ionizing radiation) การได้รับรังสีในปริมาณน้อย ๆ แต่ได้รับบ่อยเป็นระยะเวลานาน ๆ จะมีโอกาสทำให้เกิดมะเร็งได้เกือบทุกอวัยวะ
ข. สารเคมี (chemical agents) ในปัจจุบันนี้มนุษย์เราโดยเฉพาะชาวไทย นอกจากจะมีชีวิตอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษแล้ว มนุษย์เรากำลังลอยคออยู่ในทะเลของสารที่ทำให้เกิดมะเร็งซึ่งเรียกรวม ๆ กันว่า "สารก่อมะเร็ง" (carcinogen) อีกด้วย เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางองค์การอนามัยโลกได้รายงานถึงสารต่าง ๆ ที่มีคุณสมบัติเป็นสารก่อมะเร็งมากถึง ๔๕๐ ชนิด โดยส่วนใหญ่สารต่าง ๆ เหล่านี้แฝงตัวมาในธรรมชาติในรูปของอาหารพืช หรือสารเคมีต่าง ๆ เช่น เคมีวัตถุประเภทน้ำมันดิน (hydrocarbon) ที่ใช้ทำยารักษาโรค ใช้ในอุตสาหกรรมเคมี ควันไอเสียของเครื่องยนต์ เป็นต้น
การรับประทานหมาก การจุกยาฉุนบริเวณริมฝีปากนอกจากจะมีการระคายเรื้อรังแล้ว ยังมีสารเคมีที่ทำให้เกิดมะเร็งของช่องปากได้
การสูบบุหรี่จัด ควันบุหรี่มีสาร ๓.๔ เบนซ์ไพรีน (3, 4 benzpyrine) ทำให้เกิดมะเร็งปอดได้
สีย้อมผ้าต่าง ๆ เช่น สีอะนีลีน (aniline dye) หรือ สีอะโซ (azo dye) เช่น สีเหลือง [(butter yellow -4, dinethylamino azobenzene)] ซึ่งใช้ย้อมสีเนยเทียม หรือนำไปผสมอาหาร ขนม หรือลูกกวาดต่าง ๆ เพราะมีราคาถูก และมีสีสดสวย แทนที่จะใช้สีซึ่งสกัดมาจากพืชเหมือนสมัยก่อน สีต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เกิดมะเร็งของกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งของทางเดินน้ำดีได้
สารหนู ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของยารักษาโรค เช่น ยาจีนรักษา โรคผิวหนังชนิดเรื้อนกวาง แต่กลับเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งของผิวหนังได้
สารไนโตรซามีน (nitrosamines) ซึ่งพบในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์หมักทุกชนิด เช่น ปลาร้า แหนม หมูส้ม ปลาส้ม หรืออาหารที่เข้าดินประสิว เหล่านี้ทำให้เกิดมะเร็งตับ มะเร็งกระเพาะอาหารได้ ความร้อนจะทำลาย (denature) สารไนโตรซามีนได้ ฉะนั้นอาหารประเภทนี้ถ้าทำให้สุกเสียก่อนก็จะปลอดภัย
อาหารที่เป็นเนื้อสัตว์รมควัน หรือเนื้อสัตว์ที่ย่างจนไหม้เกรียม
ดีดีที นอกจากจะมีพิษโดยตรงต่อมนุษย์แล้ว ดีดีที ยังเปลี่ยนสภาพในร่างกายเป็นสารไดโนโตรซามีนซึ่งมีคุณสมบัติเหมือนไนโตรซามีนซึ่งมีคุณสมบัติเหมือนไนโตรซามีน อีกด้วย
ค. ฮอร์โมน (hormones) มะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านมจะมีความสัมพันธ์กับระดับฮอร์โมนเพศหญิง คือ เอสโตเจน และโปรเจสเตอโรน หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก จะมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจน (androgen) เป็นต้น ฮอร์โมนเหล่านี้มักจะอยู่ในยารักษาโรค
ง. เชื้อไวรัส มีไวรัสหลายชนิดเป็นสาเหตุทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ ไวรัสเหล่านี้เรียกว่า "ไวรัสที่ทำให้เกิดเนื้องอกหรือมะเร็ง" (oncogenic viruses, tumour viruses) ซึ่งแบ่งออกเป็นสองกลุ่มตามลักษณะของกรดนิวคลีอิก คือ ไวรัสดีเอ็นเอ และไวรัสอาร์เอ็นเอ เมื่อไวรัสเข้าไปในเซลล์แล้วก็จะมีการเพิ่มจำนวน (productive infection) หรืออาจจะไม่เพิ่มจำนวนก็ได้ แต่จะสามารถทำให้เซลล์มีการเปลี่ยนแปลงในรูปร่างไปได้ (transformation) จากการที่ยีน หรือดีเอ็นเอของไวรัส (viralgnome หรือ viral DNA) ไปแทนที่ดีเอ็นเอของเซลล์
ในปัจจุบันนี้ ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าไวรัสทำให้เกิดมะเร็งในคน แต่ก็มีประจักษ์พยานหลายอย่างที่ทำให้คิดว่า ไวรัสอาจจะเป็นสาเหตุ หรือเกี่ยวข้องกับมะเร็งบางชนิดในคน เช่น ไวรัวอีบีวี (epstein-barr virus) มีความสัมพันธ์กับมะเร็งโพรงหลังจมูกและมะเร็งของต่อมน้ำเหลืองเบอร์คิตต์ (burkitt's lymphoma) หรือไวรัสเฮอร์ปีส์ซิมเพล็กซ์ ชนิดที่ ๒ (herpes simplex virustype 2) ก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเม็ดเลือดขาวบางชนิด มะเร็งเต้านมก็มีประจักษ์พยานว่าน่าจะเกิดจากไวรัสเช่นกัน
จ. สารพิษ (toxin) โดยเฉพาะสารอะฟลาทอกซิน (aflatoxin) จากเชื้อราแอสเพอร์จิลลัสฟลาวัส (aspergilus flavus) ซึ่งชอบขึ้นในอาหารประเภทถั่วต่าง ๆ โดยเฉพาะถั่วลิสง อาหารประเภทข้าวต่าง ๆ มันสำปะหลัง นอกจากนี้ยังเคยมีรายงานการตรวจพบสารอะฟลาทอกซินในน้ำนมวัว มะพร้าว และน้ำมันถั่วลิสง สารพิษนี้ทำให้เกิดมะเร็งตับได้โดยตรง
ฉ. พยาธิบางชนิด เช่น พยาธิใบไม้ในตับ ซึ่งพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งตับบางชนิดได้
ช. ภาวะขาดอาหาร โรคตับแข็งซึ่งเกิดจากการขาดอาหารโปรตีน จะกลายเป็นมะเร็งตับได้ง่าย


แหล่งอ้างอิง : http://kanchanapisek.or.th/kp6/BOOK9/chapter6/t9-6-l1.htm#sect3

โดย : นาย ณรงค์ อินตาพวง, สถาบันราชภัฏเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, วันที่ 25 สิงหาคม 2545