สิ่งน่ารู้ภายใต้มหาสมุทร


สิ่งแปลกประหลาดที่น่ารู้เกี่ยวกับภายใต้มหาสมุทร อีกอย่างหนึ่งก็คือเทือกเขาและยอดเขาใต้ทะเล เทือกเขา ภูเขาและยอดเขาเหล่านี้ปราศจากต้นไม้ขึ้นปกคลุม เช่นกับภูเขาหรือยอดเขาบนพื้นทวีป แต่มันเป็นยอดเขาที่ซ่อนตัวอยู่ภายใต้ผิวน้ำและความมืดทึบ มีอยู่บางเทือกเขาเท่านั้นที่มียอดโผล่ขึ้นมาบนผิวมหาสมุทร ซึ่งมีลักษณะเป็นเกาะไป
เทือกเขาใต้ทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ เทือกเขามิด แอตแลนติค ริดจ์ (Mid Atlantic Ridge) ซึ่งอยู่ตรงมหาสมุทรแอตแลนติคตอนกลางนับจากเกาะไอซแลนด์ลงมาทางใต้ จนไปเกือบจดกับทวีปแอนตาร์คติคทางขั้วโลกใต้ เทือกเขานี้มีความยาวถึง 10,000 ไมล์ กว้างที่สุดถึง 500 ไมล์ ยอดเขาของมันแต่ละยอดอยู่ใต้ผิวน้ำมากกว่าหนึ่งไมล์แทบทั้งสิ้น และก็มีอยู่บ้างเหมือนกันที่โผล่ขึ้นมาบนผิวน้ำเป็นเกาะหรือหมู่เกาะ อยู่กระจัดกระจายทั่วไปในมหาสมุทรแอตแลนติด ยอดเขาที่สูงที่สุดคือ ยอดเขาปิโค (Pico) ที่ อาโซเรส (Azores) สูง 7,613 ฟุต จากระดับน้ำทะเล และหยั่งฐานลงไปใต้ระดับน้ำทะเลทีก 20,000 ฟุต รวมเป็นความสูงถึง 27,613 ฟุต
ภูเขาไฟมัวนาเคีย (Mauna Kea) บนเกาะฮาวาย ในมหาสมุทรแปซิฟิค น่าจะนับว่าเป็นยอดเขาใต้น้ำที่สูงที่สุดในโลกเพราะจากระดับน้ำก้นทะเลขึ้นไปจนถึงยอดสุดแล้ว สูงถึง 13,723 ฟุต อยู่แล้ว ถ้าวัดจากฐานกันทะเลก็สูงถึง 31,000 ฟุต
เกาะกลางมหาสมุทรโดยมากเกิดมาจากภูเขาไฟใต้มหาสมุทร หรือไม่ก็ยังเป็นยอดภูเขาไฟอยู่ ยังมียอดภูเขาไฟอยู่อีกชนิดหนึ่งเรียกว่า กูโยต์ (Guyot) มียอดตัดเรียบเสมอระดับน้ำพอดี ที่เป็นดังนี้คงเนื่องจากอิทธิพลของคลื่นเซาะให้ส่วนยอดที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมาสึกกร่อนไป แต่ก็มียอดภูเขาไฟบางแห่งที่อยู่ใต้ผิวน้ำลึกกว่าครึ่งไมล์ ภูเขาไฟแบบนี้มีอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิคมากกว่า 500 แห่ง ในมหสามุทรแอตแลนติคก็มีอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก บางแห่งก็จมมิดลงไปในน้ำ เพราะน้ำหนักของตัวมันเอง หรือไม่ก็เพราะน้ำเซาะขาดไป
ใต้ทะเลก็มีหุบเขาเช่นเดียวกับหุบเขาบนพื้นทวีป หุบเขาที่ลึกที่สุดภายใต้ท้องทะเลนั้น มีความลึกถึง 35,000 ฟุด ซึ่งลึกกว่าความสูงของยอดเขาเอฟเวอเรสต์เสียอีก และเป็นที่น่าแปลกอยู่เหมือนกันที่ภูเขาใต้ทะเลนี้มีอยู่แถวที่ชันของทวีปหรือใกล้ ๆ หมู่เกาะ ทั้งนี้คงเกิดมาจากเหตุเดียวกับที่ภายในของโลกดันให้ปูดนูนขึ้นมา ความลึกริม ๆ ภูเขาที่ปูดนูนขึ้นมามีขึ้นเพื่อให้ปริมาณของผิวดินมีปริมาณสมดุลย์กัน เวลานานนับด้วยพัน ๆ หมื่น ๆ ปีที่มีตะกอนไปทับถมลงตามหุบเขาลึกใต้ทะเลเหล่านี้ ทำให้เกิดหินขึ้นยาวเป็นไมล์ ๆ บางทีพื้นดินใต้ท้องสมุทรดันให้โค้งงอขึ้นเป็นพืดเขาก็ได้ หรืออาจจะเป็นเพราะน้ำพัดพาเอาตะกอนมาตกสะสมจนทับถมกันแข็ง และกลายเป็นพืดเขาขึ้นก็ได้
ตรงที่เป็นส่วนลึกของมหาสมุทรนั้น สักวันหนึ่งอาจถูกผลักดันให้นูนสูงขึ้นมาเป็นพื้นดิน แต่ในปัจจุบันนี้มันยังจมอยู่ใต้ท้องมหาสมุทรที่ไม่มีใครสามารถลงไปมองเห็น นอกจากจะใช้เครื่องมือบางอย่างที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาเท่านั้น และเพราะน้ำมีความหนาแน่นจึงมีความกดดันสูงกว่าอากาศมาก จึงทำให้ความกดดันของน้ำภายใต้ท้องมหาสมุทรมีน้ำหนักถึง 7 ตันต่อ 1 ตารางนิ้ว


โดย : นาย อติกานต์ ไชยานุพงศ์, โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย, วันที่ 23 พฤศจิกายน 2544