เพริเดิร์ม
Periderm

periderm เป็นเนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่ป้องกันเนื้อเยื่อภายใน โดยเกิดขึ้นแทน epidermis การเกิดของ periderm เริ่มจาก cork cambium ซึ่งจัดเป็น secondary meristem เปลี่ยนแปลงมาจากเนื้อเยื่อถาวรที่อยู่ใต้ชั้น epidermis ได้กลุ่มเซลล์รูปร่างแบน ๆ ผนังเซลล์มีสารซูเบอรินฉาบ ทำให้เซลล์มี สีน้ำตาล ทนทาน ไม่ผุง่าย กลุ่มเซลล์ชั้นนี้ เรียกว่า cork
cork จึงเป็นเนื้อเยื่อชั้นนอกสุดของลำต้นและรากใหญ่ ๆ ของต้นไม้ยืนต้น ตามปกติมี สีน้ำตาล แต่ชั้นนอกสุดที่ถูกอากาศอยู่เสมอจะเปลอะเปื้อนหรือดำคล้ำ มีหน้าที่ป้องกันน้ำระเหย และอันตรายจากภายนอก เมื่อลำต้นปกคลุมไปด้วย cork แล้ว epidermis จะหลุดร่วงไปหมด cork เป็นเซลล์ที่เกิดได้ไม่นานก็ตายแล้วหลุดร่วงไป
พืชบางชนิดมีชั้นของ cork หนามาก สามารถลอกออกเป็นแผ่น ๆ ได้ ภายในกลวง กันน้ำ ใช้เป็นฉนวนกันความร้อนหรือทำจุกขวด
พืชบางชนิดขณะที่เกิด periderm ระยะแรก ๆ พบว่ามีโครงสร้างชนิดหนึ่งเกิดขึ้นตามลำต้น กิ่ง ก้าน ลักษณะเป็นรอยแผลแตกตามยาว พองนูนออกมา เรียกว่า lenticel เป็นเซลล์เรียงตัวอย่างหลวม ๆ มี ช่องว่างระหว่างเซลล์มาก จึงเป็นบริเวณที่มีการแลกเปลี่ยนแก๊ส



แหล่งข้อมูล: ภูวดล บุตรรัตน์. โครงสร้างภายในของพืช. 2535.

โดย : นาง ปรียา ชมเชี่ยวชาญ, ศรีปทุมพิทยาคาร, วันที่ 26 มิถุนายน 2545