2001 มาร์สโอดิสย์


2001 มาร์สโอดิสซี ยานสำรวจดาวอังคารลำล่าสุดของนาซา
นับเป็นเวลากว่า 3 ปีมาแล้วที่ยานมาร์สโกลบอลเซอร์เวเยอร์ได้ไปสำรวจดาวอังคาร หลังจากนั้นนาซาก็ไม่มียานลำใดประสบความสำเร็จในการสำรวจดาวอังคารอีกเลย ในปี 2542 นาซาได้ส่งยานอวกาศสองลำไปสำรวจดาวอังคาร คือ มาร์สไคลเมตออร์บิเตอร์ และ มาร์สโพลาร์แลนเดอร์ แต่กลับล้มเหลวทั้งสองลำ สร้างความอับอายแก่องค์การนาซาพอสมควร ซ้ำยังทำให้โครงการเกี่ยวกับดาวอังคารอื่น ๆ ต้องหยุดชะงักไปด้วย แต่ในปี 2544 นี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่นาซาจะส่งยานอวกาศลำใหม่ไปสำรวจดาวแดงดวงนี้

การส่งยานอวกาศไปดาวอังคาร นักวิทยาศาสตร์จะต้องส่งไปในช่วงที่โลกและดาวอังคารโคจรมาอยู่ใกล้กัน เพื่อย่นระยะเวลาเดินทางให้สั้นที่สุด ซึ่งหมายถึงเชื้อเพลิงและเวลาที่ใช้ก็จะน้อยไปด้วย กรณีเช่นนี้จะเกิดขึ้นทุก ๆ 26 เดือน และในปีนี้ โอกาสทองนั้นได้มาถึงอีกครั้งหนึ่ง ยานสำรวจดาวอังคารลำใหม่ของนาซานี้คือ 2001 มาร์สโอดิสซี (2001 Mars Odyssey) ซึ่งเป็นภารกิจหนึ่งในโครงการมาร์สเอกซ์พลอเรชันของนาซา
แต่เดิมยานลำนี้มีชื่อว่า มาร์สเซอร์เวเยอร์ 2001 ออร์บิเตอร์ แต่ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น 2001 มาร์สโอดิสซี ตามชื่อนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง "2001 A Space Odyssey" ผลงานชิ้นเอกของ อาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก และคงเป็นความบังเอิญปนตั้งใจที่ชื่อนี้มีความหมายตรงกับลักษณะของภารกิจนี้ที่เต็มไปด้วยความท้าทายและเกี่ยวข้องกับอันตรายของห้วงอวกาศ
ภารกิจ
หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงสุดท้าย 2001 มาร์สโอดิสซีจะได้ทะยานออกจากโลกไปเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2544 ด้วยจรวดขับดันเดลตา II ที่แหลมคานาเวอรัล ฟลอริดา และจะไปถึงเป้าหมายในวันที่ 24 ตุลาคม 2544
หลังจากที่ไปถึงดาวอังคารแล้ว 2001 มาร์สโอดิสซีจะจุดจรวดเพื่อลดความเร็วของยานลงจนช้าพอที่ให้แรงดึงดูดของดาวอังคารคว้าจับเอาไว้ได้ ในช่วงเริ่มแรกยานจะโคจรรอบดาวอังคารเป็นวงกว้าง มีคาบการโคจร 25 ชั่วโมง หลังจากนั้นยานจะใช้เวลาอีก 76 วันในการปรับวงโคจรให้เล็กลงโดยอาศัยแรงเสียดทานกับบรรยากาศดาวอังคารจนกระทั่งเหลือคาบการโคจรเพียง 2 ชั่วโมง เทคนิคนี้เรียกว่า แอโรเบรกกิง ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับการพิสูจน์โดยยานมาร์สโกลบอลเซอร์เวเยอร์แล้วว่ามีประสิทธิภาพดี หากไม่ใช้แอโรเบรกกิงแล้ว ยานจะต้องปรับวงโคจรด้วยจรวดขับดันแทนซึ่งทำให้ต้องต้องบรรทุกเชื้อเพลิงไปเป็นจำนวนมาก
หลังจากนั้นภารกิจหลักก็จะเริ่มต้นขึ้นจริง ๆ ซึ่งตรงกับช่วงเดือนมกราคม 2545 และจะปฏิบัติงานต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2547 รวมระยะเวลาที่ปฏิบัติการอยู่ในวงโคจร 917 วัน หรือยาวนานกว่า 1 ปีของดาวอังคารเสียอีก
หลังจากที่เสร็จสิ้นภารกิจการสำรวจแล้ว มาร์สโอดิสซียังคงอยู่เพื่อสนับสนุนภารกิจอื่น ๆ โดยทำหน้าที่เป็นรีเลย์ถ่ายทอดสัญญาณระหว่างโลกกับยานสำรวจดาวอังคารลำอื่นของนาซาที่จะตามไปในอนาคต รวมถึงยานมาร์สเอกซ์พลอเรชันโรเวอร์ที่จะออกเดินทางในปี 2546




โดย : นาย นพพล คงแก้ว, โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย, วันที่ 20 พฤศจิกายน 2544