ทำไมสวมผ้าขนสัตว์แล้วจึงอุ่น

การทำให้ร่างกายอบอุ่นเมื่อสภาพอากาศหนาวเย็น จำเป็นต้องอาศัยฉนวนที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันความร้อนหนีออกจากร่างกาย สัตว์เลือดอุ่นจึงต้องมีขนหรือไขมันหนา(blubber)เพื่อสร้างความร้อนให้แก่ร่างกาย แต่มนุษย์ไม่มีไขมันหนาและมีขนค่อนข้างน้อย มนุษย์จึงต้องพึ่งพาเสื้อผ้า
สัตว์เลือดอุ่นตามธรรมชาติมีขน 2 ชนิดตามร่างกาย ขนชนิดยาวเป็นขนป้องกันผิว ลักษณะเป็นเส้นแข็งและสามารถลุกชันได้ในเวลาที่ตกใจหรือโมโห ใต้ขนชนิดยาวมีขนชั้นในที่นุ่มดกซึ่งช่วยกักอากาศไว้บริเวณใกล้ผิวหนัง อากาศเป็นตัวนำความร้อนได้ไม่ดี ดังนั้น อากาศที่กักไว้ตามขนชั้นในจึงช่วยรักษาความร้อนของร่างกายและช่วยให้สัตว์อบอุ่นในสภาพอากาศที่หนาวเย็น
เมื่อฝนตกหรือเมื่อสัตว์ลงไปแช่น้ำ ขนที่ช่วยกักอากาศจะรวมกันเป็นก้อน ก่อรูปเป็นชั้นๆกันน้ำ ซึ่งช่วยป้องกันมิให้ขนด้านในและผิวหนังเปียกน้ำหรือสูญเสียคุณสมบัติที่เป็นฉนวนไปเมื่อฝนหยุดหรือเมื่อขึ้นจากน้ำ เพียงสลัดตัวครั้งเดียวสัตว์ก็สามารถกำจัดน้ำไปจากขนด้านนอกได้หมด
เมื่อมนุษย์นำคุณสมบัติตามธรรมชาติของขนสัตว์มาใช้ประโยชน์มนุษย์ก็สามารถจำลองพฤติกรรมของสัตว์ในเรื่องการป้องกันความหนาวเย็นได้ เสื้อผ้าเมื่อสวมใส่แล้วก็จะกักอากาศไว้ให้อยู่ระหว่างหนังกับผ้า อากาศกันมิให้ความร้อนหนีออกจากร่างกาย เสื้อโค้ตกันฝนป้องกันมิให้ผ้าเปียก ทั้งนี้เพื่อจะได้ไม่สูญเสียคุณสมบัติที่เป็นฉนวนไป



โดย : นาย ณัฐพล ตันสืบเชื้อสาย, โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย, วันที่ 20 พฤศจิกายน 2544