ไฮดรา (hydra)
ตอนที่ 1 ลักษณะทั่วไป

ไฮดรา เป็นสัตว์หลายเซลล์ชั้นต่ำจัดอยู่ในไฟลัมซีเลนเทอราตา(Coelenterata) มีเนื้อเยื่อสองชั้น (ectoderm และ endoderm) ระหว่างทั้งสองชั้นมีสารเนื้อหนา ๆ คล้ายวุ้น เรียกว่า มีโซเกลีย (mesoglea) ไฮดรามีขนาดประมาณ 1-1.5 เซนตริเมตร สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มักจะเห็นเป็นตัวสีเขียว เนื่องจากภายในลำตัวมีสาหร่ายสีเขียวอาศัยอยู่ภายใน บางคนจึงคิดว่าไฮดราเป็นพืช ทั่วไปจะมีหนวดประมาณ 6 เส้น อยู่รอบ ๆ ปาก ถ้าสังเกตตามแหล่งน้ำจืดธรรมชาติที่สะอาดโดยทั่วไปจะเห็นเกาะอยู่ตามก้อนหิน ใบไม้ กิ่งไม้ หรือตามภาชนะแก้วใสที่นำมาทดลอง โดยจะมีหนวดโบกพัดไปมาเพื่อคอยจับเหยื่อเข้าปากเป็นอาหาร ที่หนวดจะมีเข็มพิษ(nematocyst)
ไฮดรามีช่องกลางลำตัวเรียกว่า แกสโตรวาสคิวลาร์ ทำหน้าที่เป็นที่ย่อยอาหาร ที่เข้าทางปากและการก็ขับออกทางปาก ไฮดราไม่มีเลือด ไม่มีอวัยวะหายใจ ไม่มีอวัยวะขับถ่าย โดยทั่วไปอาศัยการแพร่ก๊าซและของเสียออกทางน้ำที่อยู่รอบ ๆ
มีระบบประสาทแบบร่างแหประสาท (nerve net) ซึ่งมีเซลล์ประสาทแผ่กระจายทั่วตัว ยังไม่มีปมประสาท กระแสประสาทเป็นไปในทุกทิศทุกทางจึงเคลื่อนที่ได้ช้าและทิศทางไม่แน่นอน
ไฮดราเป็นสัตว์ที่มีสองเพศในตัวเดียวกัน สืบพันธุ์แบบอาศัยเพศโดยสเปิร์มจากตัวอื่นว่ายน้ำมาผสมกับไข่ในรังไข่ หรือสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศโดยแบบแตกหน่อ

ที่มาของภาพ THE WORLD OF BIOLOGY Fifth Edition Solomon & Berg


โดย : นาง เพ็ญประภา มงคลกุล, ร.ร เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ 499 ถ.พัฒนาการ 58 แขวงสวนหลวง ประเวศ กรุงเทพฯ 25150, วันที่ 4 พฤษภาคม 2545