สะเดาช้าง

สะเดาช้างเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูง 20 – 30 ม. โคนต้นมักมีพูพอน เปลือกนอกสีขาวเทา ค่อนข้างเรียบ หรือแตกห่าง ๆ เปลือกชั้นในสีน้ำตาล ตามยอดและกิ่งอ่อนมีขนสีเหลืองปกคลุมหนาแน่น ใบประกอบแบนขนนกสองชั้น ก้านใบรวมแกนก้านช่อใบยาว 15 – 100 ซม. มีก้านแขนงด้านข้าง 3 – 5 คู่ แต่ละก้านมีใบย่อย เรียงตรงข้ามกัน 4 – 9 คู่ แผ่นใบย่อยรูปไข่ถึงรูปขอบขนานแกมรูปไข่ เบี้ยวเล็กน้อย กว้าง 3 – 7 ซม. ยาว 5 – 15 ซม. ปลายเรียวแหลมเป็นติ่ง ใบอ่อนมีขนบาง ๆ ปกคลุมแต่จะเกลี้ยงเมื่อแก่ ก้านใบย่อยสั้นมาก ดอกสีแดงออกเป็นช่อไม่แยกแขนง ภายหลังจากผลัดใบ ยาว 20 – 25 ซม. มักจะออกเป็นกลุ่ม ๆ ละ 2 – 3 ช่อ ตามปลายกิ่งและง่ามใบใกล้ยอด ผลเป็นฝัก แบน กว้าง 1 – 2 ซม. ยาว 8 – 15 ซม. มีปีกกว้างประมาณ 0.3 – 0.5 ซม. ตามแนวตะเข็บด้านบนแต่ละฝักมีเมล็ดจำนวนมาก
สะเดาช้างมีการกระจายพันธุ์บริเวณริมลำธาร ในป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้งทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ยกเว้นภาคใต้ ที่ความสูงจากระดับทะเลปานกลาง 250 – 1,250 ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า ลาว กัมพูชา ตลอดจนไปถึงอินโดนีเซีย ออกดอกในฤดูแล้ง เดือนธันวาคม – มีนาคม ฝักแก่เดือนเมษายน – พฤษภาคม
เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้างในร่ม ใช้ทำไม้อัด ทำหีบใส่ของ และกระเบื้องไม้

ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้. พรรณไม้ต้นของประเทศไทย. กรุงเทพฯ : บริษัท ไดมอนด์ พริ้นติ้ง จำกัด, 2542.







โดย : นางสาว supaluk amonwattana, ripw klongluang patumtanee 13180, วันที่ 30 เมษายน 2545