ปลาแดง

ถิ่นอาศัย จะพบในแม่น้ำลำคลองและตามอ่างเก็บน้ำที่เป็นเขตน้ำลึก พบมากในภาคกลาง นอกจากนี้ยังพบในกลุ่มประเทศทางแถบอินโดจีน
ลักษณะ ลำตัวยาวและแบนข้างมาก แผ่นหลังยกสูงและค่อย ๆ ลาดแบนที่ส่วนหัว ความลาดของลำตัวแผ่นหลังและใต้ท้องพอ ๆ กัน ปากกว้างและเฉียงลงเล็กน้อย ตาขนาดเล็กอยู่กึ่งกลางของส่วนหัว บริเวณหลังมุมปากมีหนวดขนาดเล็ก 2 คู่ อยู่ที่มุมขากรรไกรบนและล่าง หนวดมีขนาดเล็กมาก ไม่มีครีบหลัง ครีบก้นยาวจรดโคนหาง หางมีขนาดเล็กลักษณะเว้าลึก มีซี่ฟันขนาดเล็กเรียงเป็นแถบรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว คมและโง้งไปข้างหลัง พื้นลำตัวสีชมพูอมแดง แผ่นหลังมีสีคล่ำกว่าเล็กน้อย ส่วนหัวและข้างลำตัวมีจุดดำขนาดเล็กประกระจายอยู่ทั่ว ขอบครีบก้นและหางสีดำ ปลาที่พบในแหล่งน้ำใสลำตัวจะเป็นสีเทา
อุปนิสัย ค่อนข้างก้าวร้าว กินปลาเล็กเป็นอาหาร ชอบกบดานตัวอยู่ในเขตน้ำลึก ชอบอาหารที่มีกลิ่นสาบฉุน สามารถใช้แมลงสาบเป็นเหยื่อล่อให้ติดเบ็ด
การเลี้ยง ควรเลี้ยงรวมกับปลาที่มีขนาดใหญ่กว่าหรือไล่เลี่ยแต่หากินต่างระดับกัน ห้ามเลี้ยงรวมกับปลาเล็กเพราะจะถูกปลาแดงจับกินเป็นอาหาร หากเลี้ยงรวมกันหลายตัวควรจัดให้มีซอกมุมหลาย ๆ ที่เพื่อให้ปลาจับกลุ่มกระจายกันอยู่จะได้ไม่ต่อสู้กันเอง โดยปกติจะกบดานตัวนิ่ง ๆ อยู่ใกล้ระดับพื้น จะว่ายน้ำเฉพาะช่วงเวลาล่าเหยื่อเป็นปลาขี้ตกใจง่าย
อาหาร ปลาแดงจะกินสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร สามารถฝึกให้กินเนื้อสัตว์หั่นเป็นชิ้น ๆ

สุรศักดิ์ วงศ์กิตติเวช. สารานุกรมปลาไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : บริษัท เอม ซัพพลาย จำกัด, 2542.













โดย : นางสาว supaluk amonwattana, ripw klongluang patumtanee 13180, วันที่ 30 เมษายน 2545