ปูทะเล

ลักษณะทั่วไป มีกระดองกลมรีเป็นรูปไข่ สีดำปนแดงหรือสีน้ำตาลแก่ ขอบระหว่างนัยน์ตามีหนาม 4 อัน ส่วนด้านข้างนัยน์ตาแต่ละข้างมีหนามข้างละ 8-9 อัน ก้ามจะมีหนามแหลม ส่วนขาอื่น ๆ ไม่มีหนาม ตัวผู้จะมีก้ามขนาดใหญ่แข็งแรงกว่าตัวเมีย เลือดปูทะเลมีสีฟ้าใส ๆ เมื่อถูกความร้อนจะกลายเป็นสีขาวขุ่นคล้ายครีม ปูพวกนี้จะเจริญเติบโตด้วยวิธีการลอกคราบ ตรงขอบหลังของกระดองจะเผยออกให้เห็นกระดองใหม่ยังเป็นเนื้อเยื่อบาง ๆ ซึ่งเรียกกันว่าปูสองกระดอง ถ้าหากเป็นตัวเมียที่มีความสมบูรณ์เพศจะมีไข่อยู่ในกระดอง ซึ่งพบมากในเดือนพฤศจิกายน ปูทะเลนั้นเป็นชื่อที่ใช้เรียกโดยทั่วไป ซื่อภาษาท้องถิ่นเรียกตามลักษณะหรือสีสันที่แตกต่างกันไปเพียงเล็กน้อย เช่น ปูทองโหลง ปูทองหลาง ปูขาว ปูสีน้ำตาล เป็นปูทะเลที่มีกระดองสีหม่นหรือสีเขียว มีจุดดำกระจายอยู่บนกระดองและก้าม ก้ามสีฟ้าแกมขาว เป็นปูที่มีขนาดเล็กอาศัยอยู่ในบริเวณน้ำลึก ปูพวกนี้จะมีรสหอมหวานไม่เหม็นโคลน ส่วนปูก้ามแดง ปูดำ ปูแดง หรือปูทองแดง เป็นปูทะเลที่มีขนาดใหญ่มีก้ามสีแดง กระดองหนา บางตัวมีตะไคร่และเพรียงจับสีกระดองหม่นเข้มปนสีดำ ปูเหล่านี้มักขุดรูอยู่ในบริเวณน้ำตื้น เนื้อแน่นแต่มีกลิ่นเหม็นโคลน ส่วนแม่กระแชงหรือกระแชงนั้นเป็นปูตัวเมียที่มีขนาดใหญ่และมีไข่อยู่ที่จับปิ้ง สำหรับปูกระเทยเป็นปูที่ยังไม่โตเต็มที่ จับปิ้งมีขนาดเล็ก ไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย
ถิ่นอาศัย จะขุดรูอยู่ตามชายทะเลที่เป็นโคลนหรือบริเวณป่าแสม โกงกางป่าจากและสามารถอยู่ในรูได้นาน ๆ ในบริเวณที่น้ำทะเลขึ้นไม่ถึง พบทั่วไปในบริเวณชายฝั่งทะเลทางฝั่งตะวันออกและตะวันตกของอ่าวไทย และฝั่งทะเลอันดามัน อาหาร กินซากพืชและซากสัตว์ ขนาด ความยาวประมาณ 15-25 ซม. ประโยชน์ เนื้อมีรสอร่อยเลิศ เป็นที่นิยมแพร่หลาย
กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ . ภาพปลาและสัตว์น้ำของไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2 . กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2535.



โดย : นางสาว จุฑาวรรณ เกตุมณี, ripw.klongluang pathumthani 13180, วันที่ 27 เมษายน 2545