กระโถนฤาษี, บัวผุด

กระโถนฤาษี, บัวผุด sapria himalayana
ลักษณะเป็นไม้กาฝากเกาะอาศัยตามรากพืชบางชนิดโดยแทงเนื้อเยื้อเป็นเส้นใยเข้าไปในจุดที่กำลังเจริญของรากพืชอาศัย ตาดอกจะเริ่มพัฒนาอยู่ภายในพืชอาศัยแล้วเจริญผ่านออกมาที่ผิวนอก เกิดเป็นดอกเดียวหรือเป็นกลุ่ม ดอกมีลักษณะคล้ายถ้วยขนาดใหญ่หรือกระโถนปากแตร กลีบสีแดงสดมีจุดประสีเหลืองสวยสะดุดตาดอกบานมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10-15 เซนติเมตร โคนกลีบดอกเชื่อมต่อกันเป็นท่อ ตอนปลายเว้าแยกออกเป็น 10 แฉก ตรงกลางดอกเป็นช่องเปิดที่มีแถบขนสั้นๆอยู่ล้อมรอบ ลึกลงไปใต้ช่องเปิดมีสันสีแดงจำนวนมากเรียงตัวตามยาว ตรงโคนส่วนดอกจะมีเป็นแท่งกลมปลายแบนเรียกว่า คอลัม ( column ) ดอกมีเพศเดียว ดอกตัวผู้มีเกสร 20 อัน ติดอยู่บนคอลัม ส่วนดอกตัวเมียจะมีคอลัมหนากว่าและมียอดยื่นออกมาตรงตำแหน่งเดียวกับเกสรตัวผู้รังไข่อยู่ใต้ส่วนของดอกซึ่งมีไข่อ่อนยู่มาก ระยะออกดอก เดือนตุลาคม ถึง เดือนมกราคม เมื่อดอกบานจะส่งกลิ่นคล้ายเนื้อเน่า ซึ่งจะดูดพวกแมลงปีกแข็งและแมลงวันหลายชนิดเข้าไปในดอก และเกิดการผสมเกสรได้ พบตามป่าดงดิบเขา เป็นกาฝากบนรากต้นเครือเขาน้ำ ( tetrastigma cruciata ) และ ต้นพืชจำพวกเถาส้มกุ้ง ( illigera trifoliata ) พบในจังหวัดเชียงใหม่ ตาก ระนอง สุราษฎร์ธานี และประเทศอินเดียจนถึงอินโดนีเซีย เป็นกาฝากที่มีจำนวนน้อยมากในธรรมชาติ และจำเป็นต้องอาศัยพืชเพียงไม่กี่ชนิดในการเจริญเติบโต สาเหตุที่ใกล้จะสูญพันธุ์ คือการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งรวมไปถึงการตัดฟันพืชอาศัยด้วย ย่อมจะส่งผลให้ต้นกระโถนฤาษีหมดสิ้นตามไปด้วยแน่นอน

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. พืชและสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: คุรุสภาลาดพร้าว, 2540.



โดย : นางสาว yaowaret chaleekron, ripw klong luang patumtani 13180, วันที่ 25 มีนาคม 2545