การเดินทางของเต่าทะเล

เขียนโดย อ.ศันสรียา วังกุลางกูร

เมื่อนักวิทยาศาสตร์สามารถไขปริศนาช่วงเวลาที่หายไปของเต่าทะเลได้แล้ว แต่เกิดมีคำถามขึ้นมาใหม่ว่าแล้วลูกเต่าทะเลที่เพิ่งลืมตา ดูโลกรู้ได้อย่างไรว่าพวกมันจะต้องเดินทางไปไหน และพวกมันเดินทางไปถูกต้องได้อย่างไร มาเริ่มกันตั้งแต่เมื่อลูกเต่าออกจากไข่ คำถามคือลูกเต่ารู้ได้อย่างไรว่าทะเลอยู่ในทิศทางใด มีการทดสอบการนำทางลงทะเลของลูกเต่ามากมายจนได้ข้อสรุปว่า ลูกเต่าอาศัย ลำแสงเรื่อ ๆ ที่ขอบฟ้าเป็นตัวบอกทิศตะวันออก และรู้ว่าทะเลอยู่ทางทิศตะวันตกหรือทิศตะวันออกโดยอาศัย แรงสั่นสะเทือนของพื้นทรายเมื่อคลื่นกระทบฝั่ง ดังนั้นลูกเต่าจะประสบปัญหามาก ถ้าพวกมันขึ้นมาจากพื้นทราย ที่อยู่หน้าเขตชุมชน แสงไฟฟ้าจากบ้านเรือนจะทำให้ลูกเต่าหลงทิศได้ง่าย เมื่อลูกเต่าหาทางลงสู่ทะเลได้แล้ว คำถาม ต่อไปคือลูกเต่าหาทางออกสู่ทะเลลึกได้อย่างไร จากการศึกษาพฤติกรรมของลูกเต่า นักวิทยาศาสตร์พบว่าลูกเต่ามีการตอบสนองต่อแรงปะทะของคลื่นที่เข้ามากระทบชายฝั่งโดย ลูกเต่าจะว่ายน้ำไปในทิศทางสวนคลื่น นั่นจึงทำให้ลูกเต่าสามารถออกสู่ทะเลเปิดได้ แต่เมื่อ ออกห่างชายฝั่งแรงปะทะของคลื่นน้อยลง ลูกเต่าจะเริ่มใช้สัญชาตญาณในการนำทาง ซึ่งคาดว่าเป็น การใช้ทิศแม่เหล็กโลกนำทางออกสู่มหาสมุทรกว้าง ซึ่งการใช้ทิศแม่เหล็กโลกในการนำทางนี้นักวิทยาศาสตร์คาดว่า เต่าทะเลมีกล่องรับสัญญาณแม่เหล็ก (magnetic pocket) อยู่ที่ส่วนหัว เช่นเดียวกับนกทะเลหลายชนิด รวมทั้งนกพิราบที่สามารถเดินทาง เป็นระยะทางไกลๆได้อย่างแม่นยำ ลูกเต่าจะเดินทางหากินไปตามชายฝั่ง และเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ มีผู้คำนวณอัตราการรอดชีวิตของลูกเต่าหญ้า (Lepidochelys olivacea) ว่าถ้าลูกเต่า 100 ตัว ฟักออกจากไข่พร้อม ๆ กัน จะมีลูกเต่าที่โอกาสออกสู่ทะเลได้เพียง 91 ตัว มีอายุจนถึง 1 ปี 58 ตัว มีอายุจนถึง 4 ปี เพียง 11 ตัว มีอายุจนถึง 7 ปี 2 ตัว และมีชีวิตรอดจนถึงอายุ 9 ปีเพียง 1 ตัวเท่านั้น และมีคำถามต่อไปอีกว่า เมื่อเต่าทะเลโตขึ้นจนพร้อมที่จะผสมพันธุ์ พวกมันจะพากันเดินทาง มาชุมนุม เพื่อผสมพันธุ์และขึ้นวางไข่ จากความเชื่อที่ว่าลูกเต่าที่เกิดจากหาดใดแล้ว เมื่อโตขึ้นจะย้อนกลับมาวางไข่ที่หาดนั้น เป็นจริงหรือไม่เพียงใด ความเชื่อนี้มีความเป็นไปได้เนื่องจากเต่าทะเลมักจะอยู่กันเป็นกลุ่มที่เรียกว่า โคโลนี (colony) หรือกลุ่มประชากร แต่ละโคโลนีมีเส้นทางการเดินทางที่ค่อนข้างแน่นอน ดังนั้นจึงดูเหมือนกับ ว่าลูกเต่าที่เกิดขึ้นจากหาดหนึ่งหาดใด นั้นเดินทางกลับมาวางไข่ยังหาดเดิมเสมอ ซึ่งจากการศึกษาในระดับพันธุกรรมที่ mitochondrial DNA (mDNA) ของเต่าตนุ (Chelonia mydas) ที่สหรัฐอเมริกาพบว่าถ้าเป็นเต่าทะเลต่างโคโลนีกันจะมีความแตกต่างของลำดับเบสอย่างน้อย 1 คู่บนสาย DNA แต่ใน ประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาที่ชี้ชัดลงไปว่าเต่าทะเลที่ขึ้นวางไข่บนฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทยมาจากโคโลนีเดียวกันหรือไม่ ซึ่งมีคำถามต่อ มาว่าแล้วเต่าทะเลรู้เส้นทางการเดินทางนี้ได้อย่างไร มีข้อสันนิษฐานหลายประการแต่ยังไม่มีการศึกษาใดที่บ่งชัดลงไปในเรื่องนี้ 1) การ เดินทางตาม ๆ กันไป โดยมีแม่เต่าที่อายุมากและเคยเดินทางบนเส้นทางนี้มาก่อนเป็นตัวนำทาง 2) การมีความจำได้ขององค์ประกอบ ทางเคมีของน้ำและพื้นทราย (Chemorecepter) ในบริเวณที่มันเกิด 3) การใช้สัญชาตญานในการนำ ทางโดยสนามแม่เหล็กโลก (Geomagnetic sense) ซึ่งข้อสันนิษฐานทั้งสาม นี้ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ อย่างจริงจังเป็นเพียงข้อที่เชื่อกันว่ามีความเป็นไปได้มากที่สุดเท่านั้น ดังนั้นการเดินทางของเต่า ทะเลยังคงมีความลึกลับอยู่และรอคอยให้นักวิทยาศาสตร์มาไขปริศนานี้
http://www.move.to/coral



โดย : นาย rangsun sodsaithong, 4/3 Klonglaung Prathumtanee 13180, วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2545