พูดถึงระบบประสาท หลายคนมักจะคิดถึงเฉพาะการทำงานของเส้นประสาทในสมองเท่านั้น เพราะเราท่านมักจะได้ยินได้ฟังมาว่า หากใครมีอาการผิดปกติทางระบบประสาท โดยมากจะหมายถึงคนที่มีสติสัมปชัญญะไม่ค่อยสมบูรณ์ หรือที่เรียกว่า "บ้า" นั่นเอง จริงๆ แล้วระบบประสาทไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะในสมองเท่านั้น แต่เป็นการวางสายงานออกไปตามจุดต่างๆ ทั่วร่างกายเลยทีเดียว หน้าที่หลักของระบบประสาทก็คือคอยควบคุมการทำงานของอวัยวะส่วนต่างๆ ในร่างกายให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้องประสานกัน คอยควบคุมความคิด และรับความรู้สึกจากสิ่งเร้าภายนอก แล้วปรับร่างกายให้ตอบสนองต่อสิ่งเร้านั้นได้โดยผ่านการสัมผัสทางผิวหนัง ดวงตา หู จมูก และลิ้น รู้หรือไม่ว่า แม้ว่าสมองจะมีน้ำหนักโดยประมาณเพียงร้อยละ 2 ของน้ำหนักตัวแต่สมองต้องใช้ปริมาณออกซิเจนเพื่อไปหล่อเลี้ยงถึงร้อยละ 25 จากจำนวนออกซิเจนที่ร่างกายได้รับ สมองของคนเราจำเป็นต้องใช้พลังงานอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาในปริมาณที่เท่ากับการใช้หลอดไฟขนาด 20 วัตต์ เมื่อเทียบน้ำหนักที่เท่ากันระหว่างสมองและกล้ามเนื้อ พบว่าในขณะที่สมองกำลังรวบรวมสมาธิใช้ความคิดจะเกิดการเผาผลาญพลังงานไปหลายแคลอรี ซึ่งจะมากพอๆ กับในเวลาที่คนเราใช้กล้ามเนื้อออกกำลังกายอย่างหักโหม เส้นประสาทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกายนั้นมีขนาดเท่ากับความหนาของแท่งดินสอ เส้นประสาทที่ว่านี้คือ เส้นประสาทจากสะโพกซึ่งแยกมาจากไขสันหลัง เมื่อเข้าสู่วัยหนุ่มสาว สมองของคนเราจะมีขนาดโตเป็น 3 เท่าของสมองเด็กเมื่อแรกเกิด แต่พ้นจากวัยหนุ่มสาวเข้าสู่วัย 65 ปี สมองจะฝ่อไปประมาณ 28 กรัม อาการปวดศีรษะของคนเรานั้นเกิดขึ้นที่หลอดเลือดดำที่ทอดตัวอยู่ภายนอกสมอง ภายในเนื้อสมองเองจะไม่มีปลายประสาทฝังอยู่ ตัวมันจึงไม่มีความรู้สึกเจ็บปวดแม้จะถูกตัดออกไป กระแสสัญญาณที่รับความรู้สึกขณะที่ถูกส่งเข้าไปในสมอง จะมีความเร็วสูงสุดถึง 400 กิโลเมตร หากเทียบกันแล้ว เซลล์ประสาทจะยาวและบางกว่าเซลล์อื่นๆ และมีเซลล์ประสาทอยู่เส้นหนึ่งที่เชื่อมต่อกับไขสันหลังลงไปที่นิ้วหัวแม่เท้า แต่ละเซลล์สามารถยืดตัวได้ถึง 3 ฟุต
--------------------------------------------------------------------------------
โดยสุกาญจน์ เลิศบุศย์ "ร่างกายของเรา" หมอชาวบ้าน ปีที่ 13 ฉบับที่ 152 (ธ.ค. 2534) หน้า 16.
|