ปลากัด
ปลากัด Betta splendens Regan เป็นปลาพื้นเมืองของไทยที่นิยมเพาะเลี้ยงเป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว ทั้งนี้เพื่อไว้ดูเล่นและเพื่อกีฬากัดปลาและเป็นที่รู้จักกันดีในต่างประเทศมานานเช่นกัน ปัจจุบันประเทศไทยมีการเพาะเลี้ยงปลากัดกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นปลาที่เลี้ยงและเพาะพันธุ์ได้ง่าย ปีหนึ่ง ๆ ประเทศไทยได้ส่งปลากัดไปขายต่างประเทศคิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท
ปลากัดพันธุ์ดั้งเดิมในธรรมชาติ มีสีน้ำตาลขุ่นหรือสีเทาแกมเขียว ครีบและหางสั้น ปลาเพศผู้มีครีบและหางยาวกว่าปลาเพศเมียเล็กน้อย จากการเพาะพันธุ์และการคัดพันธุ์ติดต่อกันมานาน ทำให้ได้ปลากัดที่มีสีสวยงามหลายสี อีกทั้งลักษณะครีบก็แผ่กว้างใหญ่สวยงามกว่าพันธุ์ดั้งเดิมมาก และจากสาเหตุนี้ทำให้มีการจำแนกพันธุ์ปลากัดออกไปได้เป็นหลายชนิด เช่น ปลากัดหม้อ ปลากัดทุ่ง ปลากัดจีน ปลากัดเขมร เป็นต้น การแพร่กระจายของปลากัดพบทั่วไปทุกภาคของประเทศไทยอาศัยอยู่ในอ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ หนอง บึง แอ่งน้ำ ลำคลอง ฯลฯ
ในการเลี้ยงปลากัดเพื่อการต่อสู้ มีการคัดเลือกพันธุ์ให้มีคุณสมบัติเฉพาะที่สามารถใช้ในการต่อสู้ โดยเริ่มต้นจากการรวบรวมปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติเรียกกันว่า ปลากัดป่าหรือปลากัดทุ่ง ที่มีลำตัวค่อนข้างเล็กบอบบางสีน้ำตาลขุ่นหรือเทาแกมเขียว นำมาเพาะเลี้ยงและคัดพันธุ์หลายชั่วอายุ จนได้ปลาที่รูปร่างแข็งแรง ลำตัวหนาและใหญ่ขึ้น สีสันสวยสด เช่น สีแดงเข้ม สีน้ำเงินเข้ม น้ำตาลเข้ม หรือสีผสมระหว่างสีดังกล่าว และเรียกปลากัดที่ได้จากการคัดพันธุ์เพื่อการต่อสู้นี้ว่า ปลากัดหม้อ ปลากัดลูกหม้อ หรือปลากัดไทย ต่อมาได้มีผู้พยายามคัดพันธุ์ปลากัดโดยเน้นความสวยงามเพื่อเลี้ยงไว้ดูเล่น โดยคัดพันธุ์เพื่อให้ได้ปลาที่มีครีบยาว สีสวย ซึ่งนิยมเรียกปลากัดลักษณะเช่นนี้ว่าปลากัดจีนหรือปลากัดเขมร ต่างประเทศรู้จักปลากัดในนาม Siamese fighting fish
การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลากัด
การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลากัด เนื่องจากปลากัดเป็นปลาที่มีนิสัยก้าวร้าว ชอบต่อสู้ เมื่ออายุประมาณ 1 1/2 -2 เดือน การเลี้ยงปลากัด จึงจำเป็นต้องรีบแยกปลากัดเลี้ยงในภาชนะเพียง 1 ตัวก่อนที่ปลาจะมีพฤติกรรมต่อสู้กัน ภาชนะที่เหมาะสมที่สุดควรนำมาใช้เลี้ยงปลากัดได้แก่ ขวด(สุรา) ชนิดแบนบรรจุน้ำได้ 150 ซีซี เพราะสามารถเรียงกันได้ไม่สิ้นเปลืองเนื้อที่ การแยกเพศจะสังเกตเห็นว่าปลาเพศผู้จะมีลำตัวสีเข้ม ครีบยาว ลายบนลำตัวมองเห็นชัดเจนและขนาดมักจะโตกว่าเพศเมีย ส่วนปลาเพศเมียจะมีสีซีดจาง มีลาดพาดตามยาวลำตัว 2-3 แถบ และมักจะมีขนาดเล็กกว่าปลาเพศผู้
น้ำ
น้ำที่ใช้เลี้ยงปลากัดต้องเป็นน้ำที่สะอาดปราศจากคลอรีน มีความเป็นกรด-ด่าง (pH) ประมาณ 6.5-7.5 มีความกระด้าง 75-100 มิลลิกรัมต่อลิตร และหมีความเป็นด่าง 150-200 มิลลิกรัมต่อลิตร ควรบรรจุน้ำลงในขวดเพียง 1/2 ขวด เพื่อเว้นช่องว่างให้อากาศได้สัมผัสกับผิวน้ำ
อาหาร
อาหารที่ใช้เลี้ยงปลาปลากัดเป็นปลาที่ชอบกินสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร อาหารที่เหมาะสมจะใช้เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลากัด ได้แก่ ลูกน้ำ หนอนแดง ไรสีน้ำตาล (Artemia) ที่มีชีวิต การให้อาหารควรให้วันละ 1 ครั้ง ให้ปริมาณที่พอดีปลากินอิ่ม อาหารที่ใช้เลี้ยงทุกครั้งควรล้างด้วยน้ำสะอาด แล้วแช่ในด่างทับทิมเข้มข้น 500-1,000 ส่วนในล้านส่วน (0.5-1.0 กรัม/ลิตร) เป็นเวลา 10-20 วินาที เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่ติดมากับอาหารหลังจากนั้นจึงล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้งหนึ่ง การถ่ายเทน้ำควรกระทำสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง
ระยะเวลาที่เหมาะสมในการผสมพันธุ์ปลา
ระยะเวลาที่เหมาะสมในการผสมพันธุ์ปลากัด คือช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม-กันยายน โดยอุณหภูมิน้ำควรอยู่ระหว่าง 26-28 องศาเซลเซียส
การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์
การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ ปลาที่นำมาทำการเพาะพันธุ์ควรมีอายุตั้งแต่ 5-6 เดือนขึ้นไปโดยปลาจะให้ไข่ครั้งละประมาณ 500-1,000 ฟอง ในฤดูผสมพันธุ์ จะสังเกตเห็นความสมบูรณ์เพศของปลาได้ชัดเจน ในการคัดเลือกปลาเพื่อผสมพันธุ์มีหลักที่ควรปฏิบัติดังนี้
ปลาเพศผู้ คัดปลาที่แข็งแรง ปราดเปรียว ลักษณะสีสดสวย ชอบสร้างรัง ซึ่งเรียกว่า หวอด โดยการพ่นฟองอากาศที่มีน้ำเมือกจากปากและลำคอผสมด้วย ซึ่งแสดงถึงว่าปลาเพศผู้มีความสมบูรณ์ทางเพศเต็มที่พร้อมที่จะผสมพันธุ์
ปลาเพศเมีย คัดเลือกปลาที่แข็งแรง สังเกตบริเวณท้องมีลักษณะอูมเป่งและบริเวณใต้ท้องจะมีตุ่มสีขาวใกล้กับรูก้นเห็นได้ชัดเจน ซึ่งตุ่มสีขาวนี้เรียกกันว่า ไข่น้ำ
วิธีการเพาะพันธุ์
นำขวดปลาเพศผู้และเพศเมียที่มีความสมบูรณ์ทางเพศเต็มที่มาวางติดกัน ซึ่งวิธีนี้เรียกว่า เทียบคู่ ซึ่งควรจะเป็นบริเวณที่ปราศจากสิ่งรบกวน จะทำให้ปลาตกใจ ใช้เวลาเทียบคู่ประมาณ 3-10 วัน จากนั้นนำปลาเพศผู้และเพศเมีย ใส่ลงในภาชนะที่เตรียมไว้สำหรับผสมพันธุ์ เช่น ขันพลาสติก โหลแก้ว กาละมัง ตู้กระจกหรืออ่างดิน แล้วใส่พันธุ์ไม้น้ำที่แช่ด่างทับทิมเรียบ
ร้อยแล้ว ซึ่งชนิดพันธุ์ไม้น้ำที่นิยมใช้ ได้แก่ สาหร่ายพุงชะโด สาหร่ายหางกระรอก จอก ใบผักตบชวา เป็นต้น เมื่อปลาสามารถปรับตัวให้ชินกับสภาพในภาชนะ (ประมาณ 1-2 วัน) ปลาเพศผู้จะเริ่มก่อหวอดติดกับพันธุ์ไม้ หลังจากสร้างหวอดเสร็จ ปลาเพศผู้จะพองตัวกางครีบ ไล่ต้อนตัวเมียให้ไปอยู่ใต้หวอด ขณะที่ตัวเมียลอยตัวขึ้นมาบริเวณผิวน้ำ ปลาตัวผู้จะรัดตัวเมียบริเวณช่องอวัยวะเพศ จากนั้นไข่ก็จะหลุดออกมา พร้อมกับเพศผู้จะฉีดน้ำเชื้อเข้าผสม และปลาเพศผู้จะตามลงไปใช้ปากดูดไข่อมไว้ ว่ายน้ำขึ้นไปพ่นไข่เข้าไปไว้ในฟองอากาศจนกว่าจะหมด เมื่อสิ้นสุดการวางไข่ปลาเพศผู้จะทำหน้าที่ดูแลไข่เพียงลำพัง และจะไล่ต้อนปลาเพศเมียไปอยู่ที่มุมภาชนะ หลังจากนั้นรีบนำปลาเพศเมียออกจากภาชนะเพื่อป้องกันไม่ให้ปลาเพศเมียกินไข่ ปล่อยให้ปลาเพศผู้ดูแลไข่ 2 วัน จึงแยกเพศผู้ออก
การอนุบาลลูกปลา
การอนุบาลลูกปลา ไข่ปลากัดจะฟักเป็นตัวหลังจากได้รับการผสมน้ำเชื้อประมาณ 36 ชั่วโมง โดยในช่วงแรก จะมีถุงอาหาร (Yolk sac) ติดตัวมาด้วย ดังนั้นช่วง 3-4 วันแรก จึงยังไม่ต้องให้อาหาร เป็นเวลา 35 วัน แล้วจึงเปลี่ยนเป็นตัวอ่อนของไรแดง (Moina) ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นไรแดงเต็มวัย เลี้ยงต่อไปจนกระทั่งปลาสามารถกินลูกน้ำได้ และผู้เลี้ยงสามารถแยกเพศปลากัดได้เมื่อปลามีอายุประมาณ 1 เดือนขึ้นไป
อ
|