ว่านหางจระเข้

 

ว่านหางจระเข้

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aloe vera L.

ชื่อพ้อง : Aloe indica Royle, Aloe barbadensis Mill.

ชื่อสามัญ : ว่านไฟไหม้ ว่านหางจระเข้* หางตะเข้ Aloe, Barbados aloe, Crocodile's tongue,

Indian aloe, Jafferabad, Mediterranian aloe, Star cactus, True aloe

ชื่อวงศ์ : Aloaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

ไม้ล้มลุก อายุหลายปี สูง 0.5-1 เมตร ข้อและปล้องสั้น ใบเดี่ยว เรียงรอบต้น กว้าง 5-12 ซม. ยาว 30-80 ซม. อวบน้ำมาก สีเขียวอ่อน หรือเขียวเข้ม ภายในมีวุ้นใส ใต้ผิวสีเขียวมีน้ำยาง สีเหลือง ใบอ่อนมีประสีขาว ดอกช่อ ออกจากกลางต้น ดอกย่อยเป็นหลอดห้อยลง สีส้ม บานจากล่างขึ้นบน ผลเป็นผลแห้ง แตกได้

ว่านหางจระเข้ที่ปลูกในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นชนิด Aloe vera Lin. var. chinensis (Haw) Berg.

ส่วนที่ใช้ประโยชน์ :

วุ้นจากใบ ยางสีเหลืองจากใบ

สรรพคุณ : วุ้นจากใบ : รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลสด ทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น

 

ข้อมูลการปลูก

แหล่งกำเนิดและกระจายพันธุ์ :

แถบชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและบริเวณตอนใต้ของทวีปแอฟริกาส่วนในประเทศไทย พบปลูกมากที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม :

ปลูกได้เกือบทุกฤดู แต่ถ้ามีการชลประทานที่ดีน่าจะปลูกฤดูแล้งก่อนฤดูฝน เพราะถ้าปลูกฤดูฝน จะทำให้มีน้ำค้างตรงกาบใบ และเมื่อแดดออกจะทำให้ลวกกาบใบ กาบใบจะเน่าได้ ดินชอบดินปนทราย หรือดินร่วน แต่ต้องมีการระบายน้ำดี แสงแดดรำไรถึงปานกลาง

พันธุ์ :

พันธุ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรม เป็นพันธุ์ที่มีขนาดใบใหญ่สีเขียว คือ Aloe barbadensis Mill สำหรับพันธุ์พื้นบ้านที่พบได้ทั่วไป ใบมีขนาดเล็กสีเขียวอ่อนลายกระสีขาว คือ Aloe indica Royle

การขยายพันธุ์

- การแยกหน่อ ใช้พลั่วมือหรือเสียมเล็ก ๆ ขุด แล้วใช้มีดคม ๆ ตัดแยกออกมาเพื่อป้องกันการหักหรือช้ำ นำมาปลูกในหลุมที่เตรียมไว้

- การตัดเหง้าหรือกระหมก ใช้มีดตัดลำต้น โดยให้ส่วนที่ตัดมีตาหรือข้ออย่างน้อย 1 ตาหรือ 1 ข้อ เพื่อให้กำเนิดต้นใหม่และรากเมื่อนำไปปลูก

- การปักชำยอด ตัดส่วนยอดนำไปปักชำก่อน เมื่อแตกหน่อและรากจึงขุดแยกไปปลูกในแปลงต่อไป

- การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ใช้เนื้อเยื่อเจริญนำไปปั่นและเพาะเลี้ยงในอาหารวุ้นในห้องปฏิบัติการ เมื่อเจริญแล้วถ่ายลงเพาะเลี้ยงในกระถาง ถุงพลาสติกและแปลงปลูกต่อไป

อัตราการใช้พันธุ์/ไร่ :

พื้นที่ 1 ไร่ ใช้ต้นพันธุ์ประมาณ 3,000-3,600 ต้น

การเตรียมดิน :

ไถพลิกดินตากแดดไว้ ประมาณ 2 สัปดาห์ แล้วยกร่องสูงประมาณ 50-60 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถว 70 เซนติเมตร เมื่อต้นโตขึ้นจะมีหน่อเกิดขึ้นมาก ให้แยกหน่อออกไปบ้าง เพื่อไม่ให้แย่งอาหารจากต้นแม่

การปลูก :

ขุดหลุมลึกประมาณ 6 นิ้ว ( 1 คืบ ) ใส่ใบไม้แห้งหรือปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเล็กน้อย ( หากมีแกลบดำหรือแกลบแดง ใส่ผสมไปด้วยก็เป็นการดี เนื่องจากแกลบจะช่วยดูดซับความชื้น และเป็นปุ๋ยด้วย ) เสร็จแล้วให้กลบดินบางๆ แล้วกลบแล้วกลบอีกชั้นให้แน่นพออยู่ตัว อย่ากลบดินถึงปากหลุม ทำเป็นชั้นๆ ในลักษณะเดียวกันนี้ สัก 2-3 ชั้นก็จะเป็นการดี จากนั้นให้นำต้นว่านหางจระเข้ลงปลูก หากต้นว่านหางจระเข้มีลำต้นยาวเกินกว่า 3 นิ้ว ควรตัดลำต้นให้เหลือไม่เกิน 3 นิ้ว อย่าปลูกลงดินลึกไป หรือตื้นเกินไป คืออย่าลึกจนเวลารดน้ำแล้วดินจะกลบส่วนยอด หรือตื้นจนเวลารดน้ำแล้วทำให้ต้นโยกเยก และไม่ควรอัดดินแน่นเกินไปดินจะขาดอากาศ และน้ำจะขัง ทำให้รากเน่าภายหลังได้

การดูแลรักษา :

- การให้น้ำ ควรให้น้ำแบบเป็นฝอยกระจาย สม่ำเสมอและพอเพียง ห้ามให้น้ำโดยวิธีรดหรือเทราดอย่างเด็ดขาด เนื่องจากน้ำจะเข้าไปขังอยู่ภายในบริเวณโคนกาบใบ เมื่อถูกแสงแดดเผาร้อนจัดจะทำให้ร้อนลวกใบว่าน ใบจะเน่าและต้นตาย

- การให้ปุ๋ย ปุ๋ยที่ใช้กับต้นว่านหางจระเข้ควรเป็นปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ส่วนระยะการให้ปุ๋ยให้พิจารณาดูจากความเจริญเติบโตของต้นว่านหางจระเข้ อย่าให้ปุ๋ยมากเกินไปต้นว่านหางจระเข้จะเน่าได้ ควรใส่ปุ๋ยคอกเดือนละครั้ง ปริมาณไร่ละ 1-1.5 ตันต่อปี ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ 2 เดือนต่อครั้ง ใช้สูตร 30-5-5 ปริมาณไร่ละ 60 กิโลกรัมต่อปี

- การกำจัดวัชพืช โดยการตัดและดายหญ้า ไม่ควรใช้ยาฆ่าหญ้าหรือใช้จำพวกสารเคมีโดยเด็ดขาด จะทำให้ต้นว่านตายง่าย ไม่เติบโตและสารพิษสะสมตกค้างในใบว่านหางจระเข้

- การถอนต้นเล็กๆ ทิ้ง ว่านหางจระเข้จะแตกต้นใหม่ได้เร็วมาก จึงต้องหมั่นถอนต้นใหม่ทิ้งเสมอเพราะต้นใหม่จะแย่งอาหารจากต้นแม่ แต่อย่าถอนหมด เหลือไว้ขยายพันธุ์บ้าง

การเก็บเกี่ยว :

- อายุที่พร้อมจะเก็บเกี่ยว

- ปลูกด้วยหน่อเล็ก ๆ ที่แตกออกมาจากต้นแม่ เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 8-12 เดือน

- ปลูกด้วยส่วนยอดของต้นแม่ เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 5-6 เดือน

- ช่วงเวลาเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม

- เวลาสายหรือเย็น ถ้าเก็บช่วงเช้า จะมีน้ำค้าง ระหว่างบรรทุกใบว่านส่งโรงงานอาจจะทำให้ใบว่านเน่าได้

- วิธีการเก็บเกี่ยว

ใช้ใบมีดเล็ก ๆ กรีดที่โคนขอบใบด้านล่างด้านใดด้านหนึ่ง แล้วจับขอบใบที่กรีดนั้นดึงลงด้านล่าง โดยดึงตามแนวทางขอบใบ ใบว่านหางจระเข้จะหลุดออกและควรตัดใบว่านหางจระเข้ใบล่างสุดก่อนทุกครั้ง ข้อควรระวังที่สำคัญ การเก็บใบว่านหางจระเข้อย่าให้กระทบกับสิ่งอื่นจนเกิดการบอบช้ำหรือฉีกขาดเป็นรอยแผล จะทำให้เกิดการเน่าลุกลาม ใช้การไม่ได้

ผลผลิต :

ประมาณ 3,000 กก.ต่อครั้ง (เดือน)ต่อไร่

การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว :

โดยทั่วไปหลังจากที่ตัดใบว่านหางจระเข้แล้วจะนำส่งโรงงานเลย แต่ถ้ายังไม่ส่งให้นำใบว่านหางจระเข้มาตั้งเฉียง ๆ จะสามารถเก็บได้ประมาณ 1 อาทิตย์ และเมื่อจะนำไปส่งโรงงานก็ให้ใช้มีดตัดโคนกับปลายของใบว่านหางจระเข้ก่อน

 

ปฏิทินการผลิต :

ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค. กิจกรรม

ปลูก, ให้น้ำ

กำจัดวัชพืช

เก็บเกี่ยว (ปลูกด้วยส่วนยอดของต้นแม่)

เก็บเกี่ยว (ปลูกด้วยหน่อเล็ก ๆ ที่แตกออกมาจากต้นแม่

ช่วงเวลาที่ผลผลิตออกสู่ตลาด : เก็บเกี่ยวได้ตลอดปี



แหล่งอ้างอิง : กลุ่มพืชสมุนไพรและเครื่องเทศ. 2543. คู่มือสมุนไพรและเครื่องเทศ ชุดที่ 5 พืชสมุนไพรเสริมสุขภาพ. กองส่งเสริมพืชสวน กรมส่งเสริมการเกษตร.

โดย : นาย ภาคภูมิ ศรีอนันต์, ร.ร.สวนศรีวิทยา, วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2547