ฟ้าทะลายโจร
ฟ้าทะลายโจร

ฟ้าทะลายโจร

ฟ้าทะลายโจร ชื่อวิทยาศาสตร์ : Andrographis paniculata (Burm.F.) Nees
ชื่อสามัญ : คีปังฮี น้ำลายพังพอน ฟ้าทะลายโจร* หญ้ากันงู
ชื่อวงศ์ : Acanthaceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
ไม้ล้มลุกฤดูเดียว สูง 30-60 ซม. ลำต้นตั้งตรงกิ่งก้านเป็นสันสี่เหลี่ยม ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอก กว้าง 1-2.5 ซม. ยาว 4-10 ซม. โคนใบและปลายใบแหลม ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย เนื้อใบสีเขียวเข้ม ก้านใบยาว 2-8 มม. ดอกช่อแยกแขนงออกที่ซอกใบและปลายกิ่ง ดอกย่อยสีขาวเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 2 ปาก ปากบน 2 กลีบ ปากล่าง 3 กลีบ ซึ่งสองกลีบข้างมีแถบสีม่วงแดง และกลีบกลางมีแต้มสีม่วงตรงกลางกลีบ ผลเป็นฝักรูปทรงกระบอก ยาวได้ถึง 2 ซม. เมล็ดประมาณ 6 เมล็ดต่อช่อง รูปไข่สีน้ำตาล
ส่วนที่ใช้ประโยชน์ :
ส่วนเหนือดิน (ทั้งต้น)
สรรพคุณ : แก้เจ็บคอ แก้ท้องเสีย
แหล่งกระจายพันธุ์ : ฟ้าทะลายโจรมีเขตการกระจายพันธุ์ และเขตการเพาะปลูกได้ดีในภูมิภาคที่มีอากาศร้อน หรือร้อนชื้น
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม : เป็นพืชที่ชอบอากาศร้อนชื้น สามารถปลูกได้ทุกฤดูกาลแต่ฤดูที่เหมาะสมคือ ช่วงต้นฤดูฝน ชอบดินร่วนซุยที่มีการระบายน้ำดี เจริญเติบโตได้ทั้งในสภาพที่ร่มและกลางแจ้ง ถ้าปลูกในพื้นที่กลางแจ้งจะมีลำต้นเตี้ยและใบหนา ส่วนในที่ร่มลำต้นจะสูงใบใหญ่แต่บาง พื้นที่ปลูกจึงควรเป็นที่โล่งแจ้ง หรือมีแสงรำไรและมีน้ำอุดมสมบูรณ์
การขยายพันธุ์ :
ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด เมล็ดที่ดีต้องได้จากฝักแก่จัด เมล็ดต้องมีสีน้ำตาลแดง ลักษณะสมบูรณ์ปราศจากโรคและแมลงทำลาย
การแก้การพักตัวของเมล็ดพันธุ์ เนื่องจากเมล็ดฟ้าทะลายโจรมีเปลือกหุ้มหนาและแข็ง เป็นอุปสรรคต่อการงอก และมีสภาพภายในเมล็ดบางประการที่ทำให้เมล็ดมีการพักตัว ควรแก้การพักตัวก่อนเพาะเมล็ดหรือก่อนการปลูก ซึ่งทำได้หลายวิธีคือ
ในเมล็ดฟ้าทะลายโจรที่เก็บใหม่ หรือมีอายุการเก็บรักษาในสภาพอุณหภูมิห้องนานน้อยกว่า 2 เดือน เมล็ดพันธุ์ยังมีสภาพการพักตัวต่ำ มีวิธีแก้การพักตัว 3 วิธี
วิธีที่ 1 แช่น้ำที่อุณหภูมิห้องนาน 24 ชั่วโมง
วิธีที่ 2 อบที่อุณหภูมิ 45 องศาเซลเซียส นาน 4 ชั่วโมง
วิธีที่ 3 แช่ในน้ำร้อนนานประมาณ 5-7 นาที แล้วนำขึ้นมาผึ่งไว้ให้เย็นที่อุณหภูมิห้อง
- เมล็ดฟ้าทะลายโจรที่มีอายุการเก็บรักษาในสภาพอุณหภูมิห้องนานประมาณ 1 ปี จะมีสภาพการพักตัวสูง แก้การพักตัวโดย
วิธีที่ 1 เก็บที่อุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส นาน 1 เดือน
วิธีที่ 2 เก็บที่อุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส นาน 1 เดือน แล้วอบที่อุณหภูมิ 45 องศาเซลเซียส นาน 48 ชั่วโมง
การเตรียมดิน :
การเตรียมดินนอกจากจะปรับให้ดินร่วนซุยแล้วยังเป็นการกำจัดวัชพืชด้วย ถ้าพื้นที่ปลูกเป็นดินร่วนซุยดีอยู่แล้วจะมีวัชพืชไม่มากให้ทำการไถพรวนเพียงครั้งเดียวก็พอ แต่ถ้าพื้นที่ปลูกมีวัชพืชมากและหน้าดินแข็ง ควรทำการไถพรวน 2 ครั้ง คือ ไถดะแล้วตากดินไว้ 1-2 สัปดาห์ แล้วจึงไถแปรอีกครั้ง สำหรับพื้นที่ปลูกที่เป็นที่ลุ่มและปลูกในฤดูฝน ควรทำการขุดยกร่องแปลงเพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง โดยขุดยกแปลงสูง 15-20 ซม. แปลงกว้าง 1-2 เมตร ความยาวของแปลงตามความเหมาะสมของขนาดพื้นที่ เว้นทางเดินระหว่างแปลงประมาณ 1 เมตร
การปลูก : ทำได้หลายวิธีคือ
1. การปลูกแบบหว่าน วิธีนี้ทำได้ค่อนข้างยากเนื่องจากเมล็ดฟ้าทะลายโจรมีขนาดเล็กทำให้สิ้นเปลืองเมล็ดพันธุ์ ถ้าจะปลูกวิธีนี้ควรนำเมล็ดมาผสมทรายหยาบอัตรา 1:1-2 ส่วน เพราะทรายช่วยให้เมล็ดมีน้ำหนัก ทำให้เมล็ดกระจายทั่วและสม่ำเสมอ ใช้เมล็ด 100-400 เมล็ดต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร การปลูกด้วยวิธีนี้จะมีปัญหาในการกำจัดวัชพืช เพราะจะไม่สามารถนำเครื่องมือหรือเครื่องทุ่นแรงเข้าไปใช้ได้ ต้องใช้มือถอนเท่านั้น ทำให้ต้องใช้แรงงานมาก และผลผลิตมีปริมาณน้อย
2. การปลูกแบบโรยเมล็ดเป็นแถว ขุดร่องตื้น ๆ เป็นแถวยาว แล้วโรยเมล็ดและเกลี่ยดินกลบบาง ๆ และควรมีระยะปลูกระหว่างแถวประมาณ 40 เซนติเมตร โดยทั่วไปใช้เมล็ดประมาณ 50-100 เมล็ดต่อความยาว 1 เมตร การปลูกด้วยวิธีนี้ กำจัดวัชพืชได้ง่ายและสะดวกขึ้น เนื่องจากมีระยะแถวปลูกที่แน่นอน สามารถนำเครื่องมือทางการเกษตร เช่น จอบ เสียม มาใช้พรวนดินและดายหญ้าได้อย่างคล่องตัว
3. การปลูกแบบหยอดหลุม เตรียมหลุมปลูกลึกประมาณ 2-5 เซนติเมตร ให้เป็นแนว โดยมีระยะปลูกระหว่างต้น 20-30 เซนติเมตร และระหว่างแถว 40 เซนติเมตร แล้วหยอดเมล็ดหลุมละ 5-10 เมล็ด เกลี่ยดินกลบบาง ๆ การปลูกวิธีนี้จะประหยัดเมล็ดพันธุ์ แต่มักประสบปัญหาเกี่ยวกับการกำจัดวัชพืชขณะที่ต้นยังเล็ก เพราะมีพื้นที่ว่างระหว่างระยะปลูกและตำแหน่งที่งอกของเมล็ดฟ้าทะลายโจรอยู่ห่างกัน วิธีนี้เหมาะสมกับพื้นที่ปลูกที่ไม่มีปัญหาวัชพืชรบกวน
4. การปลูกโดยใช้กล้า มีหลายขั้นตอน ได้แก่
เพาะกล้า เตรียมแปลงเพาะโดยใช้จอบขุดยกเป็นแปลงกว้าง 1 เมตร สูงประมาณ 15-20 เซนติเมตร ความยาวและจำนวนแปลงขึ้นอยู่กับจำนวนเมล็ดที่เพาะและความสะดวกในการปฏิบัติงาน พร้อมกับย่อยดินให้ละเอียดและใส่ปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก) รองพื้นที่ ? - 1 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากับดินแล้วเกลี่ยแปลงให้เรียบนำเมล็ดพันธุ์ที่เตรียมไว้หว่านลงในแปลงเพาะ การปฏิบัติเช่นเดียวกับการปลูกแบบหว่านเมล็ด
การเตรียมหลุมปลูก โดยขุดหลุมกว้างประมาณ 1 หน้าจอบ (15 เซนติเมตร) ลึกประมาณ 8-12 เซนติเมตร เป็นแถว ให้มีระยะปลูกระหว่างต้น 20-30 เซนติเมตร และระหว่างแถว 40 เซนติเมตร ถ้าดินไม่ดีควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์รองก้นหลุมประมาณ 125 กรัมต่อหลุม แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากับดิน
ย้ายกล้าปลูก เมื่อกล้ามีอายุประมาณ 45-60 วัน หรือเมื่อกล้ามีใบประมาณ 10-14 ใบ ก่อนย้ายกล้าต้องรดน้ำแปลงเพาะให้ชุ่ม แล้วจึงใช้ช้อนขุดหรือเสียมแซะกล้าไปปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ 1 ต้นต่อหลุม กลบดินและกดดินที่โคนต้นให้แน่น หลังปลูกแล้วต้องรดน้ำทันที วิธีนี้เหมาะกับแปลงปลูกที่มีปัญหาวัชพืชรุนแรง หรือกรณีที่เมล็ดพันธุ์มีราคาแพงหรือมีจำกัด แต่จะให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าการปลูกโดย 3 วิธีแรก
การดูแลรักษา : การคลุมแปลง ถ้าพื้นที่ปลูกเป็นที่โล่งแจ้ง ลมพัดแรง แดดจัด ฝนตกชุก ควรคลุมแปลงด้วยฟางหรือ ใบหญ้าคาบาง ๆ เพื่อช่วยพรางแสง ลดการชะล้างของน้ำ ความชื้น ทำให้เมล็ดงอกได้เร็วขึ้น และเมื่อกล้าอายุได้ประมาณ 1 เดือน ให้เอาฟางหรือใบหญ้าคาในส่วนที่หนา ๆ ออกบ้าง
การปลูกซ่อม หลังจากปลูกแล้วประมาณ 7-15 วัน ถ้าพบว่าต้นกล้าที่ปลูกตายหรือเมล็ดไม่งอก ควรปลูกซ่อมทันทีเพื่อให้พืชเจริญเติบโตทันกัน
การถอนแยก หลังจากปลูกแล้วประมาณ 30-45 วัน ถ้าพบว่าต้นกล้าที่ขึ้นมาแน่นเกินไป ควรทำการถอนแยกไปปลูกในแปลงอื่น ๆ เพื่อให้ต้นกล้าที่ขึ้นสมบูรณ์เต็มที่ ไม่แย่งอาหารกัน
การคลุมแปลง ถ้าพื้นที่ปลูกเป็นพื้นที่โล่งแจ้ง ลมพัดแรง แดดจัด ฝนตกชุก ควรคลุมแปลงปลูก หรือแปลงเพาะด้วยฟางข้าวหรือใบหญ้าแห้ง โดยคลุมบาง ๆ เพื่อช่วยควบคุมความชื้นในดินไม่ให้น้ำระเหยเร็ว
การให้น้ำ หลังจากปลูกพืชทุกครั้งต้องให้น้ำพืชทันที ซึ่งจะช่วยให้ต้นกล้าไม่เฉาและตายง่าย ในระยะ 1-2 เดือนแรกหลังจากปลูก ถ้าแดดจัดควรให้น้ำวันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น ถ้าแดดไม่จัดควรให้น้ำวันละครั้ง และหลังจากอายุ 2 เดือนไปแล้วอาจจะให้น้ำวันเว้นวันก็ได้หรือตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่และสภาพอากาศ ถ้าพืชขาดน้ำเป็นระยะเวลาหลายวันจะทำให้พืชเหี่ยวเฉา แคระแกรน ออกดอกเร็ว และทำให้พืชไม่สามารถดึงธาตุอาหารจำเป็นบางชนิดจากดินขึ้นมาใช้ได้ ทำให้เกิดโรคใบสีม่วง
การใส่ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ยเมื่อดินขาดความอุดม โดยทั่วไปควรแบ่งใส่ปุ๋ยเป็นระยะ ๆ ดังนี้
- ใส่รองก้นหลุมหรือรองพื้นแปลง ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก รองกันหลุม ประมาณ 125 กรัมต่อหลุม หรือใส่รองพื้นประมาณ ?-1 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร
- ใส่หลังปลูกอายุประมาณ 2 เดือน ใส่ประมาณ 125 กรัมต่อต้น หรือ 300-400 กรัมต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร
- ใส่หลังปลูกอายุประมาณ 3-3? เดือน ประมาณ125 กรัมต่อต้น หรือ 300-500 กรัมต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร
วิธีใส่ปุ๋ย มีหลายวิธีแล้วแต่ความสะดวกและวิธีการปลูกพืชได้แก่
- แบบหว่าน ต้องหว่านปุ๋ยให้กระจายทั่วและสม่ำเสมอ หลังจากหว่านปุ๋ยแล้วต้องรดน้ำทันที อย่าให้ปุ๋ยค้างอยู่ที่ใบเพราะจะทำให้ใบไหม้และต้นพืชตายได้ ซึ่งเหมาะกับแปลงเพาะกล้าและปลูกแบบหว่าน
- แบบโรยหรือหว่านเป็นแถว ตามแนวขนานระหว่างแถวปลูกห่างจากแถวปลูกประมาณ 10-15 เซนติเมตร โดยขุดเป็นร่อง ใส่ปุ๋ยพรวนดินกลบ หรือโรยปุ๋ยก่อนแล้วพรวนดินกลบ ซึ่งเหมาะกับการปลูกแบบโรยเป็นแถว
- แบบหยอดโคน ใส่ปุ๋ยห่างจากโคนต้นประมาณ 10 เซนติเมตร โดยขุดหลุมฝังกลบดินหรือโรยรอบ ๆ โคนต้น แล้วพรวนดินกลบก็ได้ ซึ่งเหมาะกับการปลูกแบบมีระยะปลูก
- การกำจัดวัชพืช ในแปลงปลูกแบบหว่านและแปลงเพาะเมล็ด กำจัดโดยการถอน ส่วนในแปลงปลูกแบบโรยเป็นแถว แบบหยอดหลุมและแบบปลูกด้วยต้นกล้า ซึ่งมีระยะปลูก การกำจัดวัชพืช จะทำให้ได้สะดวกขึ้น โดยใช้การถอนหรือใช้เครื่องมือช่วย และควรทำการพรวนดินเข้าโคนต้นไปพร้อมกัน
- การพรวนดิน ส่วนใหญ่แล้วจะพรวนดินและดายหญ้าไปพร้อม ๆ กัน หรือพรวนดินเมื่อเห็นหน้าดินแน่น ดูดซึมน้ำได้ช้า การพรวนดินทำให้ดินร่วนซุย ดูดซึมซับน้ำและปุ๋ยได้ดี ซึ่งจะช่วยให้ระบบรากพืชใช้น้ำและปุ๋ยมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- การป้องกันกำจัดโรคและแมลง ปัจจุบันการปลูกฟ้าทะลายโจรยังไม่พบว่ามีโรคและแมลงชนิดใดทำความเสียหายอย่างรุนแรง เพียงแต่ทำความเสียหายบ้างเล็กน้อยเท่านั้น ได้แก่
โรคโคนเน่าและรากเน่า ต้นที่เป็นโรคจะมีอาการเหี่ยวเพิ่มขึ้นเป็นลำดับจนแห้งตายในที่สุด จะพบบริเวณรากและโรคนเน่า รากขาดได้ง่าย และบางส่วนเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม จากการแยกเชื้อสาเหตุของโรคพบเชื้อรา Fusarium sp. การป้องกันและกำจัด ในเบื้องต้นควรถอนและทำลาย
โรคแอนแทรคโนส จะพบอาการที่ตรงกลางใบหรือปลายใบ อาการที่พบบนใบจะเกิดกระจายทั่วไป เนื้อใบแห้งตายเป็นสีฟางข้าว ขอบแผลสีเข้ม จากการแยกเชื้อสาเหตุของโรคพบเชื้อ Colletotrichum sp. การป้องกันและกำจัดในเบื้องต้นควรถอนและทำลาย
การเก็บเกี่ยว :
การเก็บเกี่ยวส่วนเหนือดินฟ้าทะลายโจร ให้มีปริมาณสารสำคัญประเภทแลคโตนรวมสูง ควรเก็บเกี่ยวในช่วงที่พืชเจริญเติบโตเต็มที่ คือช่วงที่พืชออกดอกนับตั้งแต่เริ่มออกดอกจนถึงดอกบาน 50% ซึ่งพืชจะมีอายุประมาณ 110-150 วัน การออกดอกนี้จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อม วิธีเก็บเกี่ยวใช้กรรไกรตัดหรือเคียวเกี่ยวทั้งต้นให้เหลือตอสูง ประมาณ 5-10 เซนติเมตร เพื่อเลี้ยงต้นตอให้เจริญเติบโตให้ผลผลิตในรุ่นต่อไป โดยใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน จึงสามารถเก็บเกี่ยวได้อีกครั้ง

ผลผลิต : สด 2 – 3 ตัน/ไร่ แห้ง 0.5 – 1 ตัน/ไร่
การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว : การทำความสะอาดและการเตรียมสมุนไพรก่อนทำให้แห้ง นำฟ้าทะลายโจรที่เก็บจากต้นที่เจริญเติบโตเต็มที่ระยะเริ่มออกดอกจนถึงดอกบาน 50% มาล้างน้ำให้สะอาด ตัดหรือหั่นให้มีความยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ผึ่งให้สะเด็ดน้ำ แล้วนำมาเกลี่ยบนภาชนะที่สะอาด เช่น กระด้งหรือถาด
การทำให้แห้ง โดยการตาก ควรคลุมภาชนะด้วยผ้าขาวบาง เพื่อป้องกันฝุ่นละอองและกันการปลิวของสมุนไพร ตากจนแห้งสนิท หรือโดยการอบที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียสใน 8 ชั่วโมงแรก ต่อไปใช้อุณหภูมิ 40-45 องศาเซลเซียส อบจนแห้งสนิท
อัตราการทำแห้ง : ผลผลิตสด : ผลผลิตแห้ง = 4 : 1
การบรรจุและการเก็บรักษา : เก็บใส่ถุงพลาสติกปิดปากถุงหรือมัดให้แน่นถ้ามีปริมาณน้อยเก็บในขวดแห้งที่สะอาด ปิดฝาให้สนิท และเก็บในที่สะอาด ไม่ควรเก็บวัตถุดิบไว้ใช้นาน จากการศึกษาพบว่าปริมาณสารสำคัญจะลดลงประมาณ 25% เมื่อเก็บไว้นาน 1 ปี



แหล่งอ้างอิง : นิตยสารสวนเกษตร

โดย : นาย นายจรงค์ ดำเอียด, โรงเรียนสวนศริวิทยา, วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2547