โรคเอดส์

การตรวจเลือดเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะบอกว่ามีการติดเชื้อไวรัสเอดส์หรือไม่ หลักการของการตรวจเลือดเอดส์ก็คือการดูว่าในเลือดมีแอนติบอดีย์หรือภูมิคุ้นเคยที่ทำปฏิกิริยากับไวรัสเอดส์หรือไม่ ถ้ามีก็จะทำให้เปลี่ยนสีของน้ำยาที่ใช้ทดสอบในกรณีที่ชุดทดสอบนั้นใช้หลักการของอีไลซ่า (ELISA) หรือทำให้มีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติอื่นๆ แล้วแต่วิธีการของชุดทดสอบที่ใช้ วิธีทดสอบบางชนิดอาจใช้เวลาเพียง 2 นาที ก็ทราบผลแล้ว นอกจากจะใช้เลือดในการทดสอบการติดเชื้อเอดส์แล้วยังสามารถใช้น้ำลายและปัสสาวะได้ด้วย ทำให้ไม่ต้องเจ็บตัวจากการเจาะเลือดและได้ความแม่นยำเกือบเท่าการใช้เลือดตรวจ การใช้น้ำลาย หรือปัสสาวะตรวจเอดส์แทนเลือดได้นั้น ไม่ได้แปลว่าน้ำลายหรือปัสสาวะแพร่เชื้อเอดส์ได้ เพราะเป็นการตรวจหาแอนติบอดีย์หรือภูมิคุ้นเคยที่อยู่ในน้ำลายหรือปัสสาวะไม่ได้ตรวจหาตัวไวรัสเอดส์เอง

วิธีตรวจเลือดเอดส์หรือตรวจน้ำลายที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีความไวและความแม่นยำสูงมาก คือมีความไวสูงถึง 99.8-100% กล่าวคือคนที่มีการติดเชื้อเอดส์ 1,000 คน อาจตรวจพบเลือดเอดส์บวก 998 คน ซึ่งก็นับว่าดีมากๆ แต่ยังมีอีก 2 คนใน 1,000 คนที่ยังอาจตรวจไม่พบ ในทำนองเดียวกัน คนที่ไม่มีการติดเชื้อเอดส์ 1,000 คนไปตรวจเลือด อาจพบว่า 998 คนจะมีเลือดเอดส์ลบ แสดงว่ามีความแม่นยำหรือความจำเพาะถึง 99.8% แต่ก็ยังมีอีก 2 คนใน 1,000 คนที่จะมีเลือดเอดส์บวกทั้งๆ ที่ไม่มีการติดเชื้อเอดส์จริงๆ ดังนั้นก่อนที่จะบอกว่าใครมีเลือดเอดส์บวกซึ่งจะมีผลกระทบทางด้านจิตใจและสังคมอย่างมากมาย จึงจำต้องทดสอบยืนยันให้แน่นอนเสียก่อน โดยอาจใช้ชุดทดสอบอีไลซ่าของอีกบริษัทหนึ่งหรือใช้วิธีทดสอบที่มีหลักการที่แตกต่างกัน เช่น วิธีพาร์ติเคิลแอ๊กกลูติเนชั่น เป็นต้น

ด้วยเหตุผลที่ว่าการทดสอบเอดส์อาจมีทั้งผลบวก และผลลบเทียมและมีผลกระทบมากมายต่อผู้ถูกทดสอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ผลทดสอบออกมาเป็นบวก บางคนถึงกับฆ่าตัวตายเลยก็มี ดังนั้นจึงควรต้องมีการให้คำปรึกษาแนะนำที่ดีก่อนและหลังการทดสอบทุกครั้ง เพื่อให้เข้าใจถึงประโยชน์และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการตรวจเอดส์ และความหมายของการที่มีผลเลือดเอดส์เป็นลบหรือเป็นบวก เพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ให้ติดเชื้อเอดส์ขึ้นมาในอนาคต หรือไม่แพร่เชื้อเอดส์ให้ผู้อื่น

(ก) การให้คำปรึกษาแนะนำก่อนการทดสอบเอดส์

(1)

จะต้องมีการอธิบาย ให้ผู้มาขอรับการทดสอบเข้าใจว่าการตรวจเลือดเอดส์นั้นเป็นอย่างไร เป็นการตรวจว่ามีภูมิคุ้นเคยต่อไวรัสโรคเอส์หรือไม่ ไม่ได้บอกว่าเป็นโรคเอดส์แล้วเสมอไป และเวลานี้ก็คงจะยังมีไวรัสโรคเอดส์อยู่ในตัวซึ่งการที่เป็นโรคเอดส์แล้วชีวิตอาจจะสั้นแต่การที่ติดเชื้อเฉยๆ อาจมีชีวิตอยู่ไปได้อีก 10-15 ปี แต่มีไวรัสเอดส์ในตัวซึ่งสามารถแพร่ไปสู่คนอื่นๆ ได้

(2)

จะต้องถามเหตุจูงใจหรือเหตุผลในการขอตรวจเอดส์ เพราะตัวเองไปมีพฤติกรรมเสี่ยงมา จึงอยากรู้ว่าเพลี่ยงพล้ำมีการติดเชื้อเอดส์หรือไม่ หรือว่าถูกนายจ้างบังคับให้ตรวจ หรือมาตรวจๆ ตามคนอื่น หญิงบริการหลายคนเข้าใจว่าการตรวจเลือดเอดส์เป็นวิธีการหนึ่งในการป้องกันตนเองจากโรคเอดส์ เป็นต้น ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง

(3)

จะต้องถามว่าถ้ารู้ว่าผลเลือดเป็นลบเขาจะทำอะไร (ซึ่งหญิงบริการหลายคนตอบว่าจะได้ทำงานต่อไป) หรือถ้าผลเจาะเลือดเอดส์เป็นบวกเขาจะทำยังไง ถ้าตอบว่าเลือดเอดส์บวกจะได้ฆ่าตัวตาย เช่นนี้ก็ต้องคุยกันานหน่อย หรืออาจไม่เจาะตรวจให้เลยก็ได้ในขณะนั้น


(ข) การให้คำปรึกษาในกรณีที่ผลการทดสอบเป็นลบ

(1)

จะต้องอธิบายให้ผู้ที่ผ่านการตรวจเอดส์แล้ว ให้เข้าใจว่าแม้ผลจะเป็นลบ เขาก็ยังอาจมีการติดเชื้อเอดส์อยู่ในตัวซึ่งสามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้ เพราะ 2 คนใน 1,000 คน ที่ติดเชื้ออาจให้ผลเลือดเอดส์เป็นลบได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะว่ายังเร็วเกินไปที่จะตรวจพบ เนื่องจากยังอยู่ในระยะฟักตัวของการที่มีเลือดบวก คือ ช่วง 2-3 เดือนแรกภายหลังได้รับเชื้อเข้าไป หรืออาจเป็นเพราะว่าภูมิต้านทานของเขาไม่ดี จึงไม่สามารถสร้างแอนติบอดีย์หรือภูมิคุ้นเคยต่อไวรัสเอดส์ได้ ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาทเขาจึงควรใส่ถุงยางอนามัยเวลาที่จะมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาและไม่ไปบริจาคเลือดให้กับผู้อื่น รออีก 3 เดือน จึงไปตรวจอีกครั้งให้มั่นใจ

(2)

การที่มีเลือดเอดส์ลบ ไม่ใช่เป็นหนังสือรับรองว่า เขาสามารถมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อไปได้เพราะปลอดภัยแล้ว ในทางกลับกัน การที่ผลตรวจเลือดเอดส์ยังเป็นลบอยู่ทั้งๆ ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์ ควรถือเป็นศุภฤกษ์ที่ตัวเองจะเปลี่ยนหรือปรับพฤติกรรมเสี่ยงนั้นเสีย ให้ไม่เสี่ยงหรือเสี่ยงน้อยลงแทนที่จะเสี่ยงต่อไปเรื่อยๆ แล้วต้องใจหายใจคว่ำกับการตรวจเลือดแต่ละครั้ง ดังนั้นการที่ใด้ผลเลือดเอดส์เป็นลบ จึงเป็นโอกาสดีที่จะให้คำปรึกษาแนะนำ เพื่อให้เขาเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงได้ ไม่ใช่สักแต่ส่งผลการตรวจเลือดออกไปเฉยๆ


(ค) การให้คำปรึกษาในกรณีที่ผลเลือดเอดส์เป็นบวกจริง

(1)

ห้ามบอกผลทางโทรศัพท์หรือทางไปรษณีย์

(2)

ควรให้มารับทราบผลการตรวจจากแพทย์หรือเจ้าหน้าที่โดยตรง เพื่อจะได้ทราบพฤติกรรมเสี่ยง จะได้ตรวจร่างกาย และให้คำปรึกษาแนะนำ พร้อมทั้งจะได้เจาะเลือดตรวจเอดส์ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง เพื่อป้องกันการสลับหลอดเลือดกัน หรือความผิดพลาดทางเทคนิคอื่นๆ

(3)

ในกรณีที่ยังไม่ทราบผลการทดสอบยืนยัน และมีความจำเป็นที่จะต้องให้คำปรึกษาแนะนำไปก่อน ก็อธิบายให้เข้าใจว่าการทดสอบเอดส์อาจมีผลบวกเทียมได้ ให้รอคอยผลการทดสอบยืนยัน พร้อมทั้งให้คำปรึกษาแนะนำเชิงไม่ไปแพร่เชื้อให้ผู้อื่นไปพลางก่อน

(4)

ควรให้ผู้ติดเชื้อทราบว่าการมีเลือดเอดส์บวก ไม่ได้บอกว่าจะต้องเป็นโรคเอดส์เต็มขั้นหรือต้องตายเสมอไป จะมีเพียงบางคนเท่านั้นเองที่จะมีอาการมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงตายในที่สุด บางรายอาจไม่มีอาการอะไรเลยเกิน 10 ปีขึ้นไป และถึงตอนนั้นอาจมียาชงัดๆ ออกมารักษาก็ได้จึงอย่าเพิ่งหมดกำลังใจ

(5)

ผู้ติดเชื้อควรเลิกพฤติกรรมเสี่ยง เพราะถ้าทำต่อ การได้รับเชื้อเอดส์และเชื้ออื่นๆ เข้าไปอีก จะยิ่งทำให้ภูมิต้านทานเสื่อมลงไปมากขึ้น ไวรัสเอดส์อาจกำเริบขึ้นมาและทำให้เกิดอาการมากขึ้นได้

(6)

การที่มีเลือดเอดส์บวก ส่วนใหญ่จะมีไวรัสเอดส์อยู่ในตัว จึงสามารถแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นๆ เขาจึงควรระวัง ป้องกันไม่ให้เชื้อเอดส์ในเลือดหรือในสิ่งคัดหลั่งของเขาติดไปสู่คนอื่น เช่น ต้องใส่ถุงยางอนามัยขณะร่วมเพศ ห้ามไปบริจาคเลือด และไม่ควรใช้ของมีคมร่วมกับคนอื่น เป็นต้น

ตัวเลขของคนที่เป็นโรคเอดส์เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในทุกประเทศทั่วโลกตัวเลขล่าสุดจากโครงการเอดส์สหประชาชาติจนถึง วันที่ 15 พฤศจิกายน 2542 พบมีผู้ป่วยเอดส์ที่ได้รับรายงานทั่วโลก 2,201,461 คน ส่วนตัวเลขล่าสุด ของกระทรวงสาธารณสุขไทยจนถึง 31 ธันวาคม 2543 พบว่ามีผู้ป่วยเอดส์ที่ได้รับรายงานแล้ว 160,350 ราย โดยจำนวนผู้ป่วยส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ซตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา (ดูตารางประกอบ)

ตาราง : สถิติผู้ป่วยเอดส์เต็มขึ้นในประเทศไทย แยกตามรายปี ตั้งแต่ 2527 ถึง 31 ธันวาคม 2543

พ.ศ. จำนวนผู้ป่วยเอดส์เต็มขั้น รวม
2527 - 2534 850 -
2535 1,759 2,609
2536 6,884 9,493
2537 13,799 23,292
2538 20,488 43,780
2539 24,324 68,104
2540 26,312 94,416
2541 26,722 121,138
2542 24,904 146,042
2543 (ธันวาคม) 14,308 160,350

ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขของผู้ป่วยเอดส์เฉพาะที่มีการรายงานเข้ากระทรวงสาธารณสุข ที่ไม่ได้รายงานหรือแพทย์ยังวินิจฉัยไม่ได้คงมีอีก 2-3 เท่าตัว

จากรายงานล่าสุดของโครงการโรคเอดส์สหประชาชาติ คาดประมาณว่าจนถึงสิ้นปี 2542 ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์แล้วทั้งสิ้น 18.8 ล้านคน และยังมีชีวิตอยู่อีก 34.3 ล้านคน ซึ่งจะอยู่ในทวีปอัฟริกา 24.5 ล้านคน และอยู่ในทวีปเอเซีย 6.1 ล้านคน และเฉพาะในปี พ.ศ. 2542 ปีเดียว มีผู้ตายจากโรคเอดส์ 2.8 ล้านคนทั่วโลก และมีผู้ติดเชื้อใหม่ 5.4 ล้านคนทั่วโลก

ส่วนยอดจำนวนผู้ติดเชื้อเอดส์ทั่วประเทศไทย จากการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุข ในประชากรกลุ่มต่างๆ ในทุกจังหวัดซึ่งทำทุก 6 เดือน ตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา ประมาณการได้ว่ามีผู้ติดเชื้อเอดส์ทั่วประเทศไทยที่ยังมีชีวิตอยู่ราว 1 ล้านคน เมื่อสิ้นปี 2542 การสำรวจล่าสุดพบว่ากลุ่มผู้ติดยาเสพติดจะพบติดเชื้อเอดส์ราวร้อยละ 40 ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้น หญิงบริการทางเพศติดเอดส์ร้อยละ 17 ซึ่งมีแนวโน้มต่ำลง ผู้ชายทั่วไปในวัย 20 - 50 ปี ติดเอดส์ร้อยละ 1 และผู้หญิงทั่วไปในวัย 15 - 50 ปี ติดเอดส์ร้อยละ 2 ซึ่งประชากร 2 กลุ่มหลังเป็นประชากรส่วนใหญ่ของชาติ ที่น่าเป็นห่วงคืออัตราการติดเชื้อเอดส์ในหญิงมีครรภ์ทั่วประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลง จนขณะนี้พบประมาณร้อยละ 2 ของหญิงที่มาฝากครรภ์ติดเชื้อเอดส์ เรามีเด็กคลอดปีละล้านคนทั่วประเทศ หรือ 20,000 คน ที่คลอดจากแม่ที่ติดเชื้อเอดส์ ในจำนวนนี้ราว 1 ใน 3 หรือ ประมาณ 6,000 คน เด็กจะติดเอดส์จากแม่ โดยสรุป เวลานี้เอดส์เข้ามาถึงทุกคนในครอบครัว ไม่ว่าคนนั้นจะไปมีพฤติกรรมเสี่ยงมาเอง เช่น สามีที่ชอบเที่ยว หรือไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงอะไร แต่เคราะห์ร้ายติดจากสามี แล้วเป็นผลทำให้ลูกในครรภ์ติดเชื้อตามไปโดยเด็กไม่รู้อิโหน่อิเหน่หรือไม่มีสิทธิปฏิเสธเลย

ประมาณร้อยละ 5-6 ของผู้ติดเชื้อเอดส์เต็มขั้นเกิดขึ้นในแต่ละปีๆ ที่ผ่านไปหลังจากติดเชื้อเข้าไป ซึ่งเป็นที่มาของคำพูดที่ว่าระยะฟักตัวโดยเฉลี่ยของโรคเอดส์คือ 8-10 ปี กล่าวคือประมาณครึ่งหนึ่งหรือ 50% ของคนที่ติดเชื้อจะมีอาการของโรคเอดส์เต็มขั้นเกิดขึ้นภายใน 8-10 ปี (5% ต่อปี x 10 ปี = 50% หรือ 6% ต่อปี x 8 ปี =48% หรือเกือบ 50% ) ดังนั้นด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อเอดส์ที่มีอยู่แล้วทั่วประเทศ 1,000,000 คนเมื่อสิ้นปี 2542 ทำให้คำนวณได้ว่าจะมีผู้ป่วยเอดส์ใหม่เกิดขึ้นปีละ 50,000-60,000 คน (5-6% ของ 1,000,000 คน)

คนที่เป็นเอดส์เต็มขั้นขึ้นมาแล้วจะมีอายุเฉลี่ยประมาณ 2 ปี จึงเห็นได้ว่าเมื่อมีผู้ป่วยเอดส์เต็มขั้นสะสมมากขึ้นก็จะมีผู้ที่เสียชีวิตจากโรคเอดส์มากขึ้นเป็นเงาตามตัว ตัวเลขจริง ๆ ของผู้ที่เสียชีวิตจากโรคเอดส์หาได้ค่อนข้างลำบาก เพราะญาติผู้เสียชีวิตหลายๆ คนไม่อยากให้ระบุว่าเสียชีวิตจากโรคเอดส์ เพราะเกรงจะทำให้ครอบครัวเสื่อมเสียชื่อเสียง หรือไปเบิกค่ารักษาพยาบาล หรือเบิกเงินประกันชีวิตไม่ได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจเสียชีวิตโดยยังไม่ทราบว่าเป็นเอดส์ จึงถูกระบุว่าเสียชีวิตจากโรคปอดหรือโรคทางเดินอาหารตามสาเหตุของการเสียชีวิต อย่างไรก็ตามจากการประเมินสาเหตุการตาย ในโรงพยาบาลบางแห่งอย่างละเอียด พบว่าเอดส์เป็นสาเหตุการตายที่นำหน้าโรคหัวใจ อุบัติเหตุและมะเร็ง ซี่งเข้าได้กับสถานะการณ์จริงในหมู่บ้านที่คนหนุ่มคนสาวป่วยและตายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีผู้ประเมินกันว่าในแต่ละปีจะมีคนไทยเสียชีวิตจากโรคเอดส์ประมาณ 30,00 - 40,000 คน จากที่ป่วยขึ้นมาใหม่ปีละ 50,000 - 60,000 คน ซึ่งก็พอสมเหตุสมผลกัน แต่ที่น่าห่วงคือคนที่ตายล้วนเป็นคนหนุ่มคนสาวที่จะทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติได้



แหล่งอ้างอิง : เด็กหญิงสุภัค โตจำเริญ โรงเรยีนอยู่วิทยา

โดย : เด็กชาย ด.ญ.สุภัค โตจำเริญ, โรงเรียนอยู่วิทยส, วันที่ 15 สิงหาคม 2547