โรคเอดส์น่ารู้

คลิกสองครั้งเพื่อเพิ่มภาพตัดปะ

โรคเอดส์เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เอช - ไอ - วี (HIV หรือ Human Immunodefi- ciency Virus) ซึ่งจะไปโจมตีเม็ดเลือดขาวหลายชนิดในร่างกาย ทำให้เม็ดเลือดขาวทำงานไม่ดีหรือถูกทำลายไปในที่สุด มีผลทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายอ่อนแอลง ทำให้เกิดโรคติดเชื้อแทรกซ้อนต่างๆ ได้ง่าย บางโรคก็มียารักษา บางโรคก็ยังไม่มียารักษา รักษาโรคหนึ่งหายก็จะเป็นอีกโรคหนึ่ง ทำให้สุขภาพทรุดโทรมลงไปเรื่อยๆ จนเสียชีวิตในที่สุด ในปัจจุบันยังไม่มียาอะไรที่จะกำจัดเชื้อเอช - ไอ - วี ให้หมดไปจากร่างกายได้ จะมีก็แต่ยาที่จะลดปริมาณเชื้อลง จนถึงระดับที่จะไม่ไปทำอันตรายระบบภูมิต้านทานของร่างกาย แต่ยาราคาแพงและต้องกินไปเรื่อยๆ คนที่ไม่มีสตางค์จะซื้อยากินชีวิตก็จะสั้น

ฟังดูแล้ว โรคเอดส์ก็น่าจะเหมือนโรคเรื้อรังทั่วไปที่ต้องกินยารักษาไปเรื่อยๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรคเอดส์ไม่ใช่เป็นโรคทางกายอย่างเดียว แต่มีผลกระทบทางด้านจิตใจต่อผู้ป่วยและครอบครัวมากกว่าโรคร้ายๆ อื่นๆ เช่น มะเร็งหลายเท่าตัว คนที่ติดเชื้อหรือครอบครัวของคนที่ติดเชื้อจะไม่กล้าเล่าให้คนอื่นฟังว่าตนเอง หรือญาติของตนเองติดเชื้อ เพราะกลัวคนอื่นจะรังเกียจหรือดูถูก นอกจากนี้ โรคเอดส์ยังมีผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ และสังคมทั้งในระดับครอบครัว และระดับประเทศ จนเป็นที่คาดกันว่าบางประเทศอาจล่มสลายเพราะโรคนี้

ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำเรื่องโรคเอดส์มาพูดกันบ่อยๆ เพื่อเตือนสติป้องกันไม่ให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เพราะเป็นโรคที่ป้องกันได้ และเพื่อลดผลกระทบจากโรคเอดส์ในผู้ที่ติดเชื้อแล้วให้เบาบางลง

โรคเอดส์มีการรายงานเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2524 ในประเทศสหรัฐอเมริกา นับถึงปัจจุบันก็ได้ 20 ปีแล้ว โดยพบว่าชายรักร่วมเพศ (เกย์) และคนที่ฉีดยาเสพติดตามเมืองใหญ่ๆ ในสหรัฐอเมริกา ป่วยเป็นโรคติดเชื้อซึ่งโดยปกติแล้วจะพบในคนที่ภูมิต้านทานไม่ดี เช่น คนแก่ คนที่เป็นมะเร็ง หรือคนไข้ที่ได้รับยากดภูมิต้านทาน จึงเรียกโรคที่พบใหม่นี้ว่าโรคภูมิต้านทานบกพร่อง หรือโรคเอดส์ (AIDS ย่อมาจากคำว่า Acquired = เกิดขึ้นภายหลัง ไม่ใช่เป็นแต่กำเนิด, Immune = ภูมิคุ้มกัน, Deficiency = บกพร่องหรือเสียไป, Syndrome = กลุ่มอาการหรือมีอาการได้หลายๆ อย่าง) ดังนั้นโรคเอดส์จึงเป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่องไปซึ่งไม่ได้เป็นมาโดยกำเนิด

และจากการที่เกิดโรคเอดส์ขึ้นพร้อมๆ กันในคนเฉพาะกลุ่ม (เกย์ และคนที่ติดยาเสพติด) จึงทำให้สงสัยว่าโรคเอดส์น่าจะเป็นโรคติดต่อ โดยติดต่อแพร่กระจายในคนกลุ่มนั้นๆ จึงมีความพยายามที่จะแยกหรือเพาะเลี้ยงเชื้อจากเลือด และสิ่งคัดหลั่งของผู้ที่เป็นโรคเอดส์ จนในที่สุดในปี พ.ศ. 2526 ศาสตราจารย์ โรเบิร์ต กาลโล (Robert Gallo) จากสหรัฐอเมริกา และศาสตราจารย์ลุค มอนทาเนียร์ (Luc Montagnier) จากฝรั่งเศสก็สามารถแยกเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคเอดส์ได้เรียกชื่อไวรัสนี้ว่า เอช-ไอ-วี (HIV = Human Immunodeficiency Virus หรือ ไวรัสที่ทำให้เกิดภาวะภูมิต้านทานบกพร่องในคน)

ปัจจุบันพบว่าเชื้อเอช-ไอ-วี มีมากกว่า 10 สายพันธุ์ กระจัดกระจายอยู่ตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่พบในประเทศไทยมี 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ B ซึ่งแพร่ระบาดในกลุ่มเกย์ และคนที่ติดยาเสพติด กับสายพันธุ์ E หรือ A/E ซึ่งแพร่ระบาดในคนที่มีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับหญิง สายพันธุ์ที่ต่างกันมีความสำคัญในการพัฒนาวัคซีนที่จะใช้กับกลุ่มคนหรือประเทศที่ต่างกัน และอาจมีความสำคัญในการทดสอบตรวจหาเชื้อ ซึ่งในบางกรณีอาจต้องใช้น้ำยาที่ใช้กับสายพันธุ์นั้นๆ โดยเฉพาะ

สำหรับประวัติของโรคเอดส์ในประเทศไทยนั้น โรคเอดส์เริ่มต้นเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2527 และเริ่มพบคนไข้ที่อยู่ในประเทศไทยเองตั้งแต่ปี 2528 โดยในช่วง 3-4 ปีแรก แพร่ระบาดส่วนใหญ่ในกลุ่มเกย์ ต่อมาปี พ.ศ. 2531 จึงเริ่มแพร่ระบาดในกลุ่มที่ติดยาเสพติดโดยการฉีด ปีถัดมาจึงเริ่มระบาดเข้าไปในกลุ่มหญิงบริการทางเพศ ในปี 2533 เริ่มพบว่าชายที่เที่ยวหญิงบริการและเป็นกามโรคมีการติดเชื้อเอดส์เพิ่มสูงขึ้น และตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา โรคเอดส์ก็แพร่เข้าไปในสถาบันครอบครัวเต็มรูปแบบ กล่าวคือสามีแพร่ให้ภรรยา ภรรยาตั้งครรภ์ก็ถ่ายทอดไปสู่ลูก เลยทำให้ระบาดไปเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็วคล้ายไฟลามทุ่ง เพราะสังคมหรือสถาบันชาติประกอบด้วยสถาบันครอบครัวย่อยๆ มารวมกัน

ไวรัสเอดส์ (HIV) มีสายพันธุกรรมหรือยีนส์เป็นอาร์-เอ็น-เอ (RNA) แทนที่จะเป็น ดี-เอ็น-เอ (DNA) เหมือนกับเซลล์ของสิ่งมีชีวิตชั้นสูงทั่วไป สายพันธุกรรมจะถูกอัดแน่นอยู่ในแกน กลาง ซึ่งจะถูกห่อหุ้มอีกชั้นหนึ่งด้วยเปลือกนอกซึ่งมีปุ่มยื่นออกมาภายนอก (รูปที่ 1) ปุ่มเหล่านี้ (ซึ่งมีชื่อว่า gp 120) มีความสำคัญในการไปเกาะติดกับเซลล์ของร่างกายที่ไวรัสเอดส์จะบุกรุกเข้าไป เซลล์เหล่านี้จะมีโปรตีนพิเศษบนเซลล์ (เรียก CD4) ซึ่งพอเหมาะที่จะให้ gp 120 ของไวรัสมาเกาะ เมื่อเกาะแล้ว ไวรัสเอดส์จึงจะเข้าสู่เซลล์ของร่างกายได้ โดยถอดเปลือกนอกออก เอาแต่สายพันธุกรรมหรือ อาร์-เอ็น-เอ ของไวรัสเข้าไปในเซลล์


รูปที่ 1 โครงสร้างของไวรัสเอดส์
(เอช.ไอ.วี ; HIV หรือ Human Immunodeficiency Virus)

เมื่อเข้าไปภายในเซลล์ ไวรัสเอดส์จะสามารถเปลี่ยนสายพันธุกรรมของมันจาก อาร์- เอ็น-เอ ให้กลายเป็น ดี-เอ็น-เอ ซึ่งจะสามารถสอดแทรกเข้าไปในสายพันธุกรรมของเซลล์ร่างกายซึ่งเป็น ดี-เอ็น-เอ ได้ เมื่อสอดแทรกเข้าไปเรียบร้อยแล้ว เวลาเซลล์ของร่างกายแบ่งตัวก็จะมีสายพันธุกรรมชนิด ดี-เอ็น-เอ ของไวรัสแบ่งตัวตามเข้าไปอยู่ในเซลล์ใหม่ด้วย ทำให้ไวรัสเอดส์ถูกกำจัดให้หมดจากร่างกายได้ยาก

ในขณะเดียวกันไวรัสเอดส์ในเซลล์ก็สามารถแบ่งตัวได้ด้วย โดยเปลี่ยนสายพันธุกรรมกลับมาเป็น อาร์-เอ็น-เอ และสร้างโปรตีนมาเป็นเปลือกห่อหุ้มตัวแล้วแตกตัวออกจากเซลล์ที่อาศัยอยู่เดิม ไปบุกรุกเซลล์อื่นต่อไป โดยเซลล์เดิมอาจถูกทำลายหรือตายได้

เซลล์ของร่างกายคนที่สามารถถูกไวรัสเอดส์บุกรุกเข้าไปได้ส่วนใหญ่จะเป็นเซลล์ที่มี CD4 อยู่บนผิวเซลล์ ที่สำคัญได้แก่เม็ดโลหิตขาวชนิดลิมโฟซัยท์ (Lymphocyte) โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวก ที-ลิมโฟซัยท์ ซึ่งมีหน้าที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหรือที่เรียกว่า T- helper lympho- cyte เมื่อเซลล์เหล่านี้ถูกทำลายไป ภูมิต้านทานของร่างกายก็จะเสียไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิต้านทานชนิดอาศัยเซลล์ ซึ่งใช้ต่อสู้หรือกำจัดจุลชีพง่ายๆ ที่มีอยู่ทั่วไป และกำจัดเซลล์มะเร็งทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสติดเชื้อที่เกิดขึ้นจากจุลชีพจำพวกฉกฉวยโอกาสเหล่านี้ได้ง่ายและเป็นมะเร็งบางชนิดได้ง่าย ซึ่งก็เป็นกลุ่มอาการของโรคเอดส์นั่นเอง

นอกจากนี้ ไวรัสเอดส์ยังสามารถบุกรุกเข้าไปในเซลล์อื่นๆ เช่น เซลล์ที่เกี่ยวกับการรับรู้สิ่งแปลกปลอม เซลล์สมอง และเซลล์ของเยื่อบุทางเดินอาหาร เป็นต้น ผลลัพธ์ก็คือทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายเสียไป และมีอาการทางสองหรือทางเดินอาหารได้

เนื่องจากไวรัสเอดส์พบส่วนใหญ่ในเม็ดโลหิตขาว ดังนั้นเลือดของผู้ป่วยจึงมีเชื้อเอดส์อยู่มากที่สุด รองลงมาเป็นน้ำกามของผู้ชาย และน้ำเมือกที่อยู่ในช่องคลอดของผู้หญิง โดยถ้ายิ่งมีเม็ดโลหิตขาวปะปนอยู่ในน้ำเหล่านี้มากก็ยิ่งมีไวรัสเอดส์อยู่มาก ส่วนน้ำลาย น้ำตา และสิ่งคัดหลั่งอื่นๆ ของผู้ป่วย ก็อาจพบมีไวรัสเอดส์ปะปนอยู่ได้บ้างแต่มีประมาณน้อยมากๆ ขึ้นกับปริมาณของเม็ดโลหิตขาวที่ปะปนอยู่ในสิ่งคัดหลั่งหรือในสิ่งขับถ่ายเหล่านี้ ดังนั้น เหงื่อ น้ำลาย น้ำตา และปัสสาวะของคนที่ติดเชื้อเอดส์จึงไม่เป็นอันตรายต่อผู้อื่นนอกจากจะมีเลือดปน

คนที่สัมผัสกับโรคเอดส์ หรือคนที่ได้รับเชื้อเอดส์เข้าไปในร่างกายไม่จำเป็นต้องมีการติดเชื้อเอดส์เสมอไป ขึ้นกับจำนวนครั้งที่สัมผัส จำนวนและความดุร้ายของไวรัสเอดส์ที่เข้าสู่ร่างกายและภาวะภูมิต้านทานของร่างกาย ถ้ามีการติดเชื้อ อาการที่เกิดขึ้นมีได้หลายรูปแบบหรือหลายระยะตามการดำเนินของโรค

ระยะที่ 1 : ระยะที่ไม่มีอาการอะไร

ภายใน 2-3 อาทิตย์แรกหลังจากได้รับเชื้อเอดส์เข้าไป ราวร้อยละ 10 ของผู้ติดเชื้อจะมีอาการคล้ายๆ ไข้หวัด คือมีไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ต่อมน้ำเหลืองโต ผื่นตามตัว แขน ขาชาหรืออ่อนแรง เป็นอยู่ราว 10-14 วันก็จะหายไปเอง ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาจไม่สังเกต นึกว่าคงเป็นไข้หวัดธรรมดา

ราว 6-8 สัปดาห์ภายหลังติดเชื้อ ถ้าตรวจเลือดจะเริ่มพบว่ามีเลือดเอดส์บวกได้ และส่วนใหญ่จะตรวจพบว่ามีเลือดเอดส์บวกภายหลัง 3 เดือนไปแล้ว โดยที่ผู้ติดเชื้อจะไม่มีอาการอะไรเลย เพียงแต่ถ้าไปตรวจก็จะพบว่ามีภูมิคุ้นเคยต่อไวรัสเอดส์อยู่ในเลือด หรือที่เรียกว่าเลือดเอดส์บวก ซึ่งแสดงว่ามีการติดเชื้อเอดส์เข้าไปแล้ว ร่างกายจึงตอบสนองโดยการสร้างโปรตีนบางอย่างขึ้นมาทำปฏิกิริยากับไวรัสเอดส์ เรียกว่าแอนติบอดีย์ (Antibody) เป็นเครื่องแสดงว่าเคยมีเชื้อเอดส์เข้าสู่ร่างกายมาแล้ว แต่ก็ไม่สามารถจะเอาชนะไวรัสเอดส์ได้ คนที่มีเลือดเอดส์บวกจะมีไวรัสเอดส์อยู่ในตัวและสามารถแพร่โรคให้กับคนอื่นได้

น้อยกว่าร้อยละ 5 ของคนที่ติดเชื้ออาจต้องรอถึง 6 เดือนกว่าจะมีเลือดเอดส์บวกได้ ดังนั้นคนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงมา เช่น แอบไปมีสัมพันธ์กับหญิงอื่นที่ไม่ใช่ภรรยา โดยไม่ได้ใส่ถุงยางอนามัยป้องกัน ตรวจตอน 3 เดือน แล้วไม่พบก็ต้องไปตรวจซ้ำอีกตอน 6 เดือน โดยในระหว่างนั้นต้องใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเวลามีเพศสัมพันธ์กับภรรยา และห้ามบริจาคโลหิตให้ใครในระหว่างนั้น


รูปที่ 2 ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต (ลูกศรชี้)

ผู้ติดเชื้อบางรายอาจมีต่อมน้ำเหลืองตามตัวโตได้ โดยโตอยู่เป็นระยะเวลานานๆ คือเป็นเดือนๆ ขึ้นไป ซึ่งบางรายอาจคลำพบเอง หรือไปหาแพทย์แล้วแพทย์คลำพบ ต่อมน้ำเหลืองที่โตนี้มีลักษณะเป็นเม็ดกลมๆ แข็งๆ ขนาด 1-2 เซนติเมตร อยู่ใต้ผิวหนังบริเวณด้านข้างคอทั้ง 2 ข้าง (รูปที่ 2) ข้างละหลายเม็ดในแนวเดียวกัน คลำดูแล้วคล้ายลูกประคำที่คอ ไม่เจ็บ ไม่แดง นอกจากที่คอต่อมน้ำเหลืองที่โตยังอาจพบได้ที่รักแร้และขาหนีบทั้ง 2 ข้าง แต่ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบมีความสำคัญน้อยกว่าที่อื่นเพราะพบได้บ่อยในคนปกติทั่วไป ต่อมน้ำเหลืองเหล่านี้จะเป็นที่พักพิงในช่วงแรกของไวรัสเอดส์ โดยไวรัสเอดส์จะแบ่งตัวอย่างมากในต่อมน้ำเหลืองที่โตเหล่านี้

ระยะที่ 2 : ระยะที่เริ่มมีอาการหรือระยะที่มีอาการสัมพันธ์กับเอดส์

เป็นระยะที่คนไข้เริ่มมีอาการ แต่อาการนั้นยังไม่มากถึงกับจะเรียกว่าเป็นโรคเอดส์เต็มขั้น อาการในช่วงนี้อาจเป็นไข้เรื้อรัง น้ำหนักลด หรือท้องเสียเรื้อรัง โดยไม่ทราบสาเหตุ นอกจากนี้อาจมีเชื้อราในช่องปาก (รูปที่ 3), งูสวัด (รูปที่ 4), เริมในช่องปาก หรืออวัยวะเพศ ผื่นคันตามแขนขา และลำตัวคล้ายคนแพ้น้ำลายยุง (รูปที่ 5)


รูปที่ 3 ลักษณะของเชื้อราในช่องปาก เห็นเป็นเมือกขาวๆ บนลิ้น กระพุ้งแก้มและเพดานปากขูดลอกหลุดออกมาได้โดยง่าย


รูปที่ 4 งูสวัด (herpes zoster) ที่ท้องแขน


รูปที่ 5 ผื่นคันตามแขนขา และลำตัวคล้ายคนแพ้น้ำลายยุง

จะเห็นได้ว่า อาการที่เรียกว่าสัมพันธ์กับเอดส์นั้น ไม่จำเพาะสำหรับโรคเอดส์เสมอไป คนที่เป็นโรคอื่นๆ ก็อาจมีไข้ น้ำหนักลด ท้องเสีย เชื้อราในช่องปาก งูสวัด หรือเริมได้ ดังนั้นจึงไม่ใช่ว่าถ้ามีอาการเหล่านี้จะต้องเหมาว่าติดเชื้อเอดส์ไปทุกราย ถ้าสงสัยควรปรึกษาแพทย์และตรวจเลือดเอดส์พิสูจน์

ระยะที่ 3 : ระยะโรคเอดส์เต็มขั้น หรือที่ภาษาทางการเเรียกว่าโรคเอดส์

เป็นระยะที่ภูมิต้านทานของร่างกายเสียไปมากแล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการของการติดเชื้อจำพวกเชื้อฉกฉวยโอกาสบ่อยๆ และเป็นมะเร็งบางชนิด เช่น แคโปซี่ ซาร์โคมา ( Kaposi's sarcoma) และมะเร็งปากมดลูก

การติดเชื้อฉกฉวยโอกาส หมายถึง การติดเชื้อที่ปกติมีความรุนแรงต่ำ ไม่ก่อโรคในคนปกติ แต่ถ้าคนนั้นมีภูมิต้านทานต่ำลง เช่น จากการเป็นมะเร็งหรือจากการได้รับยารักษามะเร็งซึ่งไปกดภูมิต้านทานด้วย หรือจากการติดเชื้อเอดส์ เชื้อฉกฉวยโอกาสที่มีอยู่มากมายรอบตัวเราก็จะสามารถเข้าโจมตีร่างกายและทำให้เกิดโรคขึ้นได้ เชื้อฉกฉวยโอกาสที่พบบ่อยในบ้านเราคือเชื้อวัณโรค ซึ่งอาจทำให้เกิดวัณโรคที่ปอด ต่อมน้ำเหลือง ตับ หรือสมองได้ รองลงมาคือเชื้อพยาธิที่ชื่อว่านิวโมซิสตีส-คารินิไอ ซึ่งทำให้เกิดปอดบวมขึ้นได้ (ไข้ ไอ หายใจเหนื่อยหอบ) ต่อมาเป็นเชื้อราที่ชื่อ คริปโตคอคคัส ซึ่งทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีอาการไข้ ปวดศีรษะ ซึมและอาเจียน นอกจากนี้ยังมีเชื้อฉกฉวยโอกาสอีกหลายชนิด เช่น เชื้อพยาธิที่ทำให้ท้องเสียเรื้อรัง และเชื้อซัยโตเมกกะโลไวรัส (CMV) ที่จอตาทำให้ตาบอด หรือที่ลำไส้ทำให้ปวดท้อง ท้องเสีย และถ่ายเป็นเลือดเป็นต้น ในภาคเหนือตอนบน มีเชื้อราพิเศษชนิดหนึ่งชื่อ เพนนิซิเลียมมาร์เนฟฟิโอ ชอบทำให้ติดเชื้อที่ผิวหนัง ต่อมน้ำเหลืองและมีการติดเชื้อในกระแสโลหิต

แคโปซี่ ซาร์โคมา เป็นมะเร็งของผนังเส้นเลือด ส่วนใหญ่จะพบตามเส้นเลือดที่ผิวหนัง มีลักษณะเป็นตุ่มนูนสีม่วงๆ แดงๆ บนผิวหนัง คล้ายจุดห้อเลือด หรือไฝ ไม่เจ็บ ไม่คัน ค่อยๆ ลามใหญ่ขึ้น ส่วนใหญ่จะมีหลายตุ่ม (รูปที่ 6) บางครั้งอาจแตกเป็นแผล เลือดออกได้ บางครั้งแคโปซี่ซาร์โคมา อาจเกิดในช่องปาก ในเยื่อบุทางเดินอาหาร ซึ่งอาจทำให้มีเลือดออกมากๆ ได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือมะเร็งปากมดลูกได้ ดังนั้น ผู้หญิงที่ติดเชื้อเอดส์จึงควรพบแพทย์เพื่อตรวจมะเร็งปากมดลูกทุก 6 เดือน


รูปที่ 6 มะเร็งผนังเส้นเลือด (แคโปซี ซาร์โคม่า) ที่ขา

นอกจากนี้คนไข้โรคเอดส์เต็มขั้นอาจมีอาการทางจิตทางประสาทได้ด้วย โดยที่อาจมีอาการหลงลืมก่อนวัย เนื่องจากสมองฝ่อเหี่ยว หรือมีอาการของโรคจิต หรืออาการชักกระตุก ไม่รู้สึกตัว แขนขาชาหรือไม่มีแรง บางรายอาจมีอาการปวดร้าวคล้ายไฟช๊อตหรือปวดแสบปวดร้อน หรืออาจเป็นอัมพาตครึ่งท่อน ปัสสาวะ อุจจาระไม่ออก เป็นต้น

ในแต่ละปีหลังติดเชื้อเอดส์ ร้อยละ 5-6 ของผู้ที่ติดเชื้อจะก้าวเข้าสู่ระยะเอดส์เต็มขึ้น ส่วนใหญ่ของคนที่เป็นโรคเอดส์เต็มขั้นแล้ว จะเสียชีวิตภายใน 2-4 ปี จากโรคติดเชื้อฉกฉวยโอกาสที่เป็นมาก รักษาไม่ไหว หรือโรคติดเชื้อที่ยังไม่มียาที่จะรักษาอย่างได้ผล หรือเสียชีวิตจากมะเร็งที่เป็นมากๆ หรือค่อยๆ ซูบซีดหมดแรงไปในที่สุด พบว่ายาต้านไวรัสเอดส์ที่ใช้กันอยู่ในขณะนี้ในประเทศตะวันตกสามารถยืดชีวิตคนไข้ออกไปได้ 10-20 ปี และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น หรืออาจอยู่จนแก่ตายได้



แหล่งอ้างอิง : เด็กหญิงขนิษฐา เทียนชนะไชยา ป6 โรงเรียนอยู่วิทยา

โดย : เด็กหญิง เด็กหญิงขนิษฐา เทียนชนะไชยา, โรงเรียนอยู่วิทยา, วันที่ 15 สิงหาคม 2547