ดาวเคราะห์ในเดือนพฤศจิกายน
ดาวเคราะห์ในเดือนพฤศจิกายน
ดาวเคราะห์ในเดือนพฤศจิกายน

ภาพแสดงขนาดปรากฏเปรียบเทียบและส่วนสว่างของดาวเคราะห์ตลอดเดือนนี้

ภาพแสดงขนาดปรากฏเปรียบเทียบและส่วนสว่างของดาวเคราะห์ตลอดเดือนนี้

ดาวพุธ กำลังจะมาปรากฏบนท้องฟ้าทางทิศตะวันตกในเวลาหัวค่ำ ช่วงต้นเดือนถึงกลางเดือนพฤศจิกายนดาวพุธยังคงมีตำแหน่งอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ จึงยังไม่สามารถมองเห็นได้ ต้องรอให้ดาวพุธเคลื่อนห่างออกมาจากดวงอาทิตย์ คือตั้งแต่ประมาณวันที่ 25 พฤศจิกายน เป็นต้นไป อันเป็นช่วงเวลาที่สามารถเห็นดาวพุธอยู่ไม่ไกลมากนักจากดาวศุกร์และเป็นเวลาที่ดาวพุธค่อนข้างสว่าง (สว่างกว่าดาวแอลฟาคนครึ่งม้า ดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดเป็นอันดับ 3 บนท้องฟ้า) หากใช้กล้องโทรทรรศน์ส่องดู จะเห็นดาวพุธไม่เป็นดวงกลม และจะมีส่วนสว่างน้อยลงทุกวัน สามารถมองเห็นดาวพุธในเวลาหัวค่ำเช่นนี้ต่อเนื่องไปถึงกลางเดือนธันวาคม ขณะที่ความสว่างของดาวพุธเริ่มลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากกลายเป็นเสี้ยวมากขึ้น ถือได้ว่าเป็นช่วงที่สามารถมองเห็นดาวพุธได้ดีที่สุดช่วงหนึ่งในรอบปีนี้ ทั้งในแง่ของความสว่างของดาวพุธและสภาพของลมฟ้าอากาศในประเทศไทย

ดาวศุกร์ กลายเป็นดาวประจำเมืองที่สุกสว่างในเวลาหัวค่ำนับจากนี้ไปอีกหลายเดือน แต่ดาวศุกร์ค่อนข้างจะอยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้า เนื่องจากเป็นเวลาที่ดาวศุกร์เคลื่อนลงไปใต้เส้นศูนย์สูตรฟ้า ทำให้คนในซีกโลกเหนือเห็นดาวศุกร์มีมุมเงยอยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้า ขณะที่คนในซีกโลกใต้เห็นดาวศุกร์มีมุมเงยมากกว่าในเวลาที่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว

ดาวอังคาร นอกจากดาวเคราะห์วงในทั้งสองดวง คือ ดาวพุธและดาวศุกร์ ที่มาปรากฎในเวลาหัวค่ำแล้ว ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์อีกดวงหนึ่งที่มองเห็นได้ในเวลาเดียวกัน ดาวอังคารกำลังเคลื่อนที่เดินหน้าอยู่ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ และจะเข้าสู่กลุ่มดาวปลาในต้นเดือนธันวาคม แม้ว่าความสว่างของดาวอังคารจะลดลงมากแล้วเมื่อเทียบกับขณะใกล้โลกในเดือนสิงหาคม แต่ก็ยังสามารถมองเห็นได้ชัดเจน ก่อนที่ดาวอังคารจะตกลับขอบฟ้าในเวลาประมาณ 1.00-2.00 น.

ดาวพฤหัสบดี ขึ้นเหนือขอบฟ้าในเวลาประมาณ 2.30 น. ในช่วงต้นเดือน และปรากฏอยู่สูงบนท้องฟ้าทิศตะวันออกในเวลาใกล้รุ่ง ด้วยตาเปล่าจะเห็นดาวพฤหัสบดีส่องสว่างด้วยโชติมาตร -1.9 ในบริเวณกลุ่มดาวสิงโต เช้ามืดวันที่ 19 พฤศจิกายน ดวงจันทร์เสี้ยวปรากฏใกล้ๆ กับดาวพฤหัสบดี มองเห็นได้พร้อมกันในกล้องสองตา

ดาวเสาร์ ยังคงมีตำแหน่งอยู่ในกลุ่มดาวคนคู่ ต้นเดือนดาวเสาร์จะขึ้นเหนือขอบฟ้าในเวลาหลัง 22.00 น. และปรากฏไต่สูงขึ้นไปบนท้องฟ้าในเวลาเช้ามืด ซึ่งเป็นเวลาที่จะเห็นดาวเสาร์อยู่สูงกลางฟ้า เดือนนี้ดาวเสาร์มีความสว่างใกล้เคียงกับดาวดวงแก้วในกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ และสว่างกว่าดาวโปรซิออนที่อยู่ห่างไปทางทิศใต้

ดวงจันทร์ วันแรกของเดือน ดวงจันทร์จะผ่านตำแหน่งกึ่งดวงข้างขึ้น ซึ่งเป็นวันที่เห็นดวงจันทร์สว่างครึ่งดวงมีตำแหน่งอยู่สูงบนท้องฟ้าทิศใต้ในเวลาหัวค่ำ และตกลับขอบฟ้าในเวลาประมาณเที่ยงคืน จากนั้นหัวค่ำวันที่ 3 พฤศจิกายน จะเห็นดวงจันทร์อยู่ใกล้กับดาวอังคาร จันทร์เพ็ญของเดือนนี้ตรงกับวันที่ 9 พฤศจิกายน ดังนั้นหากสังเกตดวงจันทร์ในคืนวันที่ 8 ซึ่งเป็นวันลอยกระทงจะพบว่าไม่เต็มดวงสมบูรณ์นัก จากนั้นวันที่ 10 พฤศจิกายน หลังดวงจันทร์ขึ้นไม่นาน อาจมองเห็นดวงจันทร์และกระจุกดาวลูกไก่พร้อมกันได้ในกล้องสองตา แม้ว่าแสงจันทร์จะส่องสว่างมาก เช้ามืดวันที่ 14 พฤศจิกายน ดวงจันทร์จะปรากฏทางทิศตะวันตกใกล้กับดาวเสาร์ ก่อนจะมีส่วนสว่างลดลงจนอยู่ในตำแหน่งกึ่งดวงข้างแรมในวันที่ 17 พฤศจิกายน ดวงจันทร์สว่างเป็นเสี้ยวจะผ่านใกล้ดาวพฤหัสบดีในเช้ามืดวันที่ 19 พฤศจิกายน แล้วมีส่วนสว่างเหลือเพียงเสี้ยวบางๆ ในเช้ามืดวันที่ 22 ก่อนจะมาอยู่ร่วมทิศกับดวงอาทิตย์ ณ ตำแหน่งจันทร์ดับในวันที่ 24 พฤศจิกายน หากท้องฟ้าแจ่มใสในเวลาหัวค่ำ อาจมองเห็นจันทร์เสี้ยวอยู่ใกล้ดาวพุธและดาวศุกร์ในวันที่ 25 พฤศจิกายน ก่อนที่ดวงจันทร์จะกลับมามีส่วนสว่างครึ่งดวงในคืนวันที่ 30 พฤศจิกายน

แผนที่แสดงตำแหน่งดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์ต่างๆ เทียบกับกลุ่มดาว

แผนที่แสดงตำแหน่งดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์ต่างๆ เทียบกับกลุ่มดาว




แหล่งอ้างอิง : วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@hotmail.com)

โดย : นางสาว สุปราณี บุญพรหม, สถาบันราชภัฏสงขลา, วันที่ 29 มกราคม 2546